การแต่งกายของส.ส.

การแต่งกายของ ส.ส.ทั้งหญิงและชาย ที่สวมชุดตามแฟชั่น ชุดของชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมภาค กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไม่เข้าใจสถานภาพของตัวเอง ระหว่างการเป็นนักกิจกรรม กับการเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่รู้จักกาลเทศะ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้เชิญ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภา มาหารือเพื่อกำหนดแนวทางการแต่งกายที่เหมาะสมของ ส.ส. ซึ่งเดิมได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา ว่า ส.ส.ควรแต่งชุดสากลนิยม หรือชุดพระราชทาน หรือชุดที่ประธานสภากำหนด ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาชุดใหม่ได้ร่างเสร็จแล้ว และจะบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาอภิปรายเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม

การแต่งกายของ ส.ส.เคยใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารมาแล้ว หลังทหารทำรัฐประหาร 2490 และจัดเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ชนะ นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกฯ ปี 2491 ทหารจี้นายควงออกจากตำแหน่ง จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้ก่อการในเวลานั้นเล่าต่อมาว่า “ครั้นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ บริหารราชการแผ่นดินไปได้ 5 เดือนเศษ คณะรัฐประหารได้ประชุมกันพิจารณาว่ากิจการต่างๆ ไม่ก้าวหน้า ข้าราชการพลเรือนขาดวินัย ไปทำงานตามกระทรวง มีแต่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงตัวเดียว ตลอดจนผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชายเสื้ออยู่ข้างนอกกางเกง เข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้นายควง อภัยวงศ์ออกจากนายกรัฐมนตรี” แล้วให้ จอมพล
ป. พิบูลสงคราม มาเป็นนายกฯแทน

การแต่งกายของ ส.ส.ในปี 2491 มาจากสภาพความขาดแคลนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลายเป็นข้ออ้างเพื่อเอาชนะทางการเมือง ก็ไม่แปลกที่วันนี้จะมีการใช้ประเด็นการแต่งกายมาโจมตีกันทางการเมืองอีก การแต่งกายของ ส.ส.น่าจะเป็นอิสระของ ส.ส.เองที่จะใช้วิจารณญาณ พิจารณาตามความเหมาะสมในโลกปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของทุกวัฒนธรรม จะเห็นว่าในสภาต่างประเทศ การแต่งกายเป็นไปอย่างหลากหลาย ทั้งสากลนิยมและวัฒนธรรมในชาติหรือในท้องถิ่น ประเทศไทยมีหลากหลายวัฒนธรรม ทุกวัฒนธรรมมีรูปแบบที่สุภาพให้เลือกแต่งตามกาลเทศะ จึงควรเปิดใจกว้าง เรียนรู้และยอมรับ มากกว่าจะยึดถือรูปแบบตายตัวในแบบราชการ ดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image