ผัวแทงดินเป็นรู เมียหยอดข้าวปลูกลงรูดิน

ชาวเสตียงกำลังปลูกข้าวโดยการหว่าน ภาพวาดลายเส้นโดย เอ. โบกูรต์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์ (ภาพและคำบรรยายภาพจากหนังสือบันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ แปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558)

ชนเผ่าเสตียง ตั้งหลักแหล่งอยู่บนที่สูงทางเทือกเขาเขตแดนระหว่างไทย, กัมพูชา, และเวียดนาม โดยเฉพาะบริเวณลาวใต้ เช่น จำปาสัก ฯลฯ

ปลูกข้าวไร่ หรือเฮ็ดไฮ่แบบหมุนเวียนบนที่สูง

อ็องรี มูโอต์ พรรณนาและสเกตช์รูปชาวเสตียงผัวเมีย ปลูกข้าวไร่ด้วยวิธีแทงดินหยอดหลุม ดังนี้

“ใช้ไม้ไผ่ลำยาวๆ 2 ลำ วางราบลงกับพื้นที่นาต่างเชือก

Advertisement

จากนั้นใช้ท่อนไม้ในมือแต่ละข้างขุดหลุมเล็กๆ ลึก 1 นิ้ว หรือนิ้วครึ่ง ซ้ายทีขวาทีตลอดความยาวของลำไม้ไผ่ที่วางไว้เป็นแนว เป็นอันหมดหน้าที่ของพวกผู้ชาย

ที่เหลือต่อไปเป็นเรื่องของพวกผู้หญิง นางจะก้มตัวเยื้องย่างตามรอยทางที่สามีทำไว้ หยิบข้าวเปลือกทีละกำมือไม่ต่ำกว่า 60 เม็ดจากตะกร้าที่กระเดียดไว้ข้างซ้าย หยอดลงไปในหลุมอย่างว่องไว ด้วยความชำนาญชนิดที่แทบไม่มีเมล็ดข้าวตกหล่นออกนอกหลุมเลยสักเม็ด

งานนี้เสร็จสิ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะไม่ต้องใช้ทั้งคราดและคันไถ อีกไม่นานธรรมชาติก็จะส่งสายฝนโปรยปรายลงมาสักพักหนึ่ง ชะดินให้กลบคลุมเมล็ดพันธุ์ข้าว

Advertisement

เจ้าของนาก็วางมือได้ระยะหนึ่ง ไปนั่งพักบนเรือนใต้ถุนสูง สูบยาเส้นที่ใช้ใบไม้อะไรสักอย่างม้วนเป็นมวน มือก็พุ่งหอกปลายแหลม หรือน้าวคันธนูยิงหมูป่า ลิง หรือกระรอก

บางครั้งก็สนุกกับการดึงเชือกทางมะพร้าวเหลาที่ผูกโยงไว้กับไผ่ 2 ลำ ที่ปักไว้กลางทุ่ง หรือผูกกับปลายไม้เรียวยาวที่ปักไว้บนหลังคา เวลาดึงจะทำให้ไม้เสียดสีกัน เกิดเสียงดังไล่ฝูงนกแก้วนกเขา เพราะถ้าไม่ไล่มันไปเสียบ้าง พวกนกก็จะลงมาจิกกินเมล็ดพันธุ์ข้าวในหลุมจนหมดสิ้น”

ผมเคยใช้รูปนี้ประกอบคำอธิบายเฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา โดยไม่รู้ที่มาว่าใครวาด?

และไม่รู้ว่าคนเดินตามหลังหยอดหลุมเมล็ดพันธุ์ เป็นเมียของคนเดินหน้าแทงดิน ตามแนวลำไม้ไผ่ที่วางกับพื้นดิน?

เพิ่งรู้คราวนี้เองจากหนังสือของ อ็องรี มูโอต์

เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา อย่างนี้ของชาวเสตียง อาจเหมาะกับน้ำแล้งแห้งฝนยามนี้ในไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image