รายงาน : เผือกร้อน การเมือง จาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าด้วย คุณสมบัติ

หากดูกรณีที่สภาส่งข้อร้องเรียนของ ส.ส. 100 คนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจคุณสมบัติของ พล.อ.
ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนอะไร

สะท้อนว่าจะไม่มี “ฮันนีมูน พีเรียด”

ยิ่งหากดูกรณีที่ 7 พรรคฝ่ายค้านกำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของ นายอุตตม สาวนายน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ยิ่งเด่นชัด

Advertisement

ที่หลายคนในซีกของรัฐบาล ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในวุฒิสภา ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในทำเนียบ ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรระบุ

นี่คือ “เกม” การเมือง

ยิ่งทำให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า “ฮันนีมูน พีเรียด” ไม่ได้ดำรงอยู่ในทางเป็นจริง เพราะเป็นการไล่ต้อนกันตั้งแต่ยังไม่มี “ครม.” ด้วยซ้ำไป

Advertisement

ตรงนี้แหละที่เรียกว่า “วิบากกรรม”

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้คุณสมบัติและความเหมาะสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายอุตตม
สาวนายน จึงบังเกิด

ตอบได้เพราะ “รัฐประหาร”

เพราะรัฐประหารนั้นเองทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งเป็น 1 หัวหน้า คสช.และได้ดำรงตำแหน่งเป็น 1 นายกรัฐมนตรี

ประเด็นก็คือ ความสงสัยในฐานะแห่ง “เจ้าหน้าที่รัฐ”

มีการตั้งคำถามตั้งแต่เมื่อมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐส่งเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว

แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะอธิบาย แม้ กกต.จะเห็นด้วยกับผู้ตรวจการแผ่นดิน

แต่ก็ยังได้รับความสงสัยในสังคม กระทั่ง 7 พรรคฝ่ายค้านได้ประมวลความสงสัยขึ้นมาตั้งเป็นคำถามและเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ ต้องการคำตอบอันเป็นที่สุด

น่าสังเกตว่าความสงสัยต่อคุณสมบัติไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น นายอุตตม สาว
นายน
มิใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น

หากแต่มี “คำพิพากษา” เป็นฐานรองรับต่อประเด็นของ นายอุตตม สาวนายน เริ่มมาจาก นายอุตตม สาว
นายน
เป็นบอร์ดกรุงไทย ในเมื่อบอร์ดคนอื่นๆ ล้วนถูกลงโทษจากศาล

แล้วเหตุใด นายอุตตม สาวนายน จึงรอด

ต่อประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มจากมีคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงสามารถจัดการกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ได้

แล้วเหตุใด ผู้ตรวจการแผ่นดินและ กกต.จึงเห็นว่ามิได้เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ”

เป็นความสงสัยจากพื้นฐานอันมีคำพิพากษาศาลฎีการองรับ เป็นความสงสัยจากรายละเอียดการตีความของแต่ละหน่วยราชการ

จำเป็นต้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้คำตอบสุดท้าย

หากทั้งหมดนี้เป็น “เกม” ในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการอันมากด้วยความละเอียดอ่อนและอ่อนไหว

อ่อนไหวว่าไม่มี “ฮันนีมูน พีเรียด”

อ่อนไหวว่าจะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ และนำไปสู่ลักษณะอันเป็นบรรทัดฐานในทางการเมืองที่แหลมคมอย่างที่สุด

นั่นก็คือ รูปธรรมแห่ง “สองมาตรฐาน” ของความยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image