ภาวะเศรษฐกิจและความท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ : โดย รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์

หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เป็นโจทย์หินพิสูจน์ฝีมือการบริหารจัดการของรัฐบาลใหม่ชุดนี้

หนึ่ง ภาพรวมเศรษฐกิจ
แม้ที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพค่อนข้างดี แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้สูงนัก ช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าและบริการ เริ่มชะลอตัว ศูนย์วิจัยและหน่วยงานต่างๆ จึงทยอยปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยลง

สาเหตุก็มาจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจนกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ยังมีความไม่แน่นอนของ Brexit และเสถียรภาพของอียู ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

ประเทศไทยเราก็ต้องยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมาได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบเช่นนี้ ทั้งเรื่องค่าเงินและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก รัฐบาลต้องมีแผนรับมืออย่างมีกลยุทธ์ ไม่เช่นนั้น การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการเลิกจ้างงานในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนตามมาได้

Advertisement

สอง การลงทุนภาคเอกชน
คาดว่าจะชะลอตัวตามการส่งออกสินค้าที่หดตัว แต่เชื่อว่าในระยะถัดไปจะขยายตัวได้ดีขึ้นเพราะมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ได้แก่ การพัฒนาระบบสื่อสาร ขนส่งและคมนาคมภายในประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การลงทุนในโครงข่าย 5G และการย้ายฐานการผลิตของบริษัทสัญชาติอเมริกันมายังไทยเนื่องจากผลของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน

ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีกำหนดคลอดล่าช้าไปเกือบ 4 เดือน กระทบการเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ของรัฐ จึงอยากแนะนำให้รัฐบาล ถือโอกาสในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เร่งการลงทุนที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ เครื่องจักร ตู้รถไฟ หรือวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยลดงบประมาณการลงทุนไปได้มาก

สาม นโยบายภาษีต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ
รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพรรคร่วมหลายพรรค แต่ละพรรคมีนโยบายใช้หาเสียง เช่น การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคมผ่านการเพิ่มงบประกันสุขภาพ เบี้ยคนชรา หรือใช้เงินช่วยเหลือรายเดือนแก่ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

รวมไปถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและลดอัตราการว่างงาน

ยังมีเรื่องการพักหนี้/ปลดหนี้ การผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นและประกันราคาสินค้าเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการให้เงินไปใช้จ่าย ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบาย รายจ่าย ของรัฐซึ่งดูจะสวนทางกับ รายรับ เช่น นโยบายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่ว่ารายได้รัฐจะมาจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น การออกพันธบัตรหรือการกู้ยืม สุดท้ายผู้ที่ต้องรับภาระมากที่สุด คือ ผู้เสียภาษี โดยเฉพาะคนชั้นกลางผู้รับจ้างทำงาน และไม่มีบุตร/ธิดาอายุ ที่ต้องเสียภาษีตามรายได้ที่ตนหามา แต่ไม่ได้รับการอุดหนุนไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง

เรื่องรับ-จ่ายของแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ภาษีดอกเบี้ยเงินลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ แนวโน้มการยกเลิกการลดหย่อนภาษีบางประเภท เช่น LTF ในปี 2562 หรือการเก็บภาษีเพื่อสุขภาพของกรมสรรพสามิตใหม่ๆ เช่น ภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม การเพิ่มภาษียาสูบยาเส้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีแต่ละประเภท

ยังมีการเก็บภาษีความเค็ม ภาษีไขมัน เพิ่มเติมจากภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคตที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มักมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

จริงๆ แล้ว ปัญหาสุขภาพอาจแก้ไม่ได้ด้วยมาตรการภาษีเพียงอย่างเดียว ยิ่งเป็นการเก็บภาษีที่ไม่ครอบคลุม ก็อาจทำให้กระทบเรื่องราคาและต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่พฤติกรรมการบริโภคไม่เปลี่ยน เนื่องจากมีสินค้าตัวเลือกอื่นๆ มากมาย

เช่น ภาษีไขมันหรือภาษีความเค็มที่ยกเว้นอาหารแช่แข็ง อาจทำให้สินค้าแพคเกจที่มีโซเดียมหรือไขมัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว มีราคาสูงขึ้น บีบให้คนลดการบริโภคสินค้าเหล่านั้น แต่หันไปหาอาหารที่ได้รับการยกเว้น เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งตามร้านสะดวกซื้อ เกิดเป็นประเด็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือคนอาจหันไปบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพด้อยกว่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า

นี่คือความท้าทายของรัฐในการจัดหารายได้ให้พอรายจ่าย หากจะใช้นโยบายภาษี รัฐบาลควรเก็บภาษีอย่าให้มีความเหลื่อมล้ำ การเก็บภาษีที่ไม่ครอบคลุมอาจไม่มีผลให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นอย่างที่อยากให้เป็น ต้องไม่ลืมว่า การบริโภคอาหารที่มีความหวานหรือความเค็มของไทยไม่ได้อยู่แต่ในรูปของเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ หรืออาหารสำเร็จรูปที่อยู่ในแพคเกจ

ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาหารที่เราทำกินในครัวเรือนใส่เครื่องปรุงประจำครัวที่ล้วนแต่มีสารให้ความเค็มแทบทั้งนั้น

รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์
Nottingham Business School, Nottingham Trent University

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image