คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน วิศวกรกับกฎหมายโรงงาน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

กฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือ “พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535” ฉบับใหม่ (จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 27 ตุลาคม 2562) เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ “โรงงาน” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล มลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุอันตรายและความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักวิชาการทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับ “วิศวกร” ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ฉบับที่ 1 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของหน้าที่รับผิดชอบและของวิศวกรใน “มาตรา 61” วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบการกิจการโรงงานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าสถาปนิกหรือวิศวกรที่ทำงานในโรงงานและมีหน้าที่รับผิดชอบในการงานส่วนที่มีกรณีการกระทำผิดนั้นเกิดขึ้น มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการกระทำความผิดกับผู้ประกอบกิจการโรงงานและต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำความผิดนั้น” และ “มาตรา 61” วรรคสอง ระบุว่า “นอกจากต้องรับโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ปลัดกระทรวงแจ้งชื่อและการกระทำของบุคคลเช่นว่านั้นให้คณะกรรมการควบคุมการประกอบการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมตามควรแก่กรณีต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมี “มาตรา 55” ที่ระบุในวรรคสองว่า “สถาปนิกหรือวิศวกรผู้ใดยังฝ่าฝืนทำงานในโรงงานเฉพาะส่วนที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือยังฝ่าฝืนการทำงานในโรงานที่มีคำสั่งปิดโรงงานแล้ว เพื่อให้โรงงานประกอบกิจการต่อไป ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ประกอบการโรงงานตามวรรคหนึ่ง (ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ)”

แม้ว่า พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 จะไม่ได้ระบุ “บทบาทของวิศวกร” ไว้ในตัวพระราชบัญญัติโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีการกำหนดถึงบทบาทวิศวกรในการตรวจสอบรับรองเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงาน ไว้ในกฎกระทรวง เช่น กฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีการตรวจสอบรับรองความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงงานเป็นประจำทุกปีโดยวิศวกรหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ.2549 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของวิศวกรไว้หลายเรื่อง ตั้งแต่การออกแบบ การสร้าง การติดตั้ง การใช้งาน การซ่อมแซมหม้อน้ำ ซึ่งหากโรงงานไม่มีวิศวกรให้การรับรองหม้อน้ำ ทางราชการก็ไม่อนุญาตให้ใช้หม้อน้ำลูกนั้นๆ

ส่วน “พระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับที่ 2 และ 3 พ.ศ.2562” นั้น แม้จะไม่ได้พูดถึง “บทบาทของวิศวกร” โดยตรง แต่ได้กล่าวถึง “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ใน มาตรา 9 ซึ่งมีบทบาทเป็น “บุคคลที่สาม” (Third Party) ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “วิศวกร” ไม่น้อยเลย

เรื่องนี้ ขอคุยกันสัปดาห์หน้า ครับผม!

Advertisement

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image