กฎหมายอุดมศึกษา : จุดเน้นบางประการที่ต้องคำนึงถึง : โดย สุรชัย เทียนขาว

พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ได้ประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 57 ก ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เป็นกฎหมายอุดมศึกษาที่ชาวอุดมศึกษาทั้งหลายในประเทศไทยต้องถือปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการศึกษาของประเทศไทย มีประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้

ประเด็น 1 : การประกันคุณภาพการศึกษา

มาตรา 32 วรรคสาม “ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา”

มาตรา 62 ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา

Advertisement

การประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายใน การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศกำหนด

มาตรา 63 เมื่อสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรา 62 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รายงานผลการประเมินต่อสภาสถาบันอุดมศึกษา และให้สภาสถาบันอุดมศึกษานำผลการประเมินดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาและให้แจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงทราบเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก

ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเห็นว่าไม่อาจดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่งได้เพราะการขาดแคลนงบประมาณหรือกำลังคน ให้สถาบันอุดมศึกษาโดยความเห็นชอบของสภาสถาบันอุดมศึกษารายงานเหตุดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

Advertisement

มาตรา 64 การประเมินคุณภาพภายนอกอาจประเมินโดยหน่วยงานต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรืออาจประเมินโดยหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานในต่างประเทศที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศกำหนดก็ได้

สถาบันอุดมศึกษาอาจเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกก็ได้

มาตรา 65 เมื่อหน่วยงานตามมาตรา 64 ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกเสร็จสิ้นแล้วให้แจ้งผลการประเมินต่อสถาบันอุดมศึกษาและสำนักงานปลัดกระทรวงเพื่อทราบ ในกรณีที่หน่วยงานต่างประเทศเป็นผู้ประเมินให้สถาบันอุดมศึกษาแจ้งผลการประเมินต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเพื่อทราบ

ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเห็นว่าผลการประเมินที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง คลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง สถาบันอุดมศึกษาอาจทักท้วงไปยังหน่วยงานผู้ประเมินได้ และให้แจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงทราบด้วย

ให้ถือว่าการประเมินคุณภาพภายนอกตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการประเมินตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 66 ถ้าผลการประเมินตามมาตรา 65 ปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาใดมีการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษานั้นดำเนินการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด และให้นำความในมาตรา 56 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ประเด็นการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเห็นได้ว่าในพระราชบัญญัติฉบับได้กำหนดไว้ 7 มาตรา มีทั้งการประกันคุณภาพภายในและภายนอก สำหรับการประกันคุณภาพภายใน นั้น เมื่อดำเนินการประเมินคุณภาพภายในเสร็จแล้ว จะต้องรายงานผลการประเมินต่อสภาสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา และแจ้งให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก จากข้อกำหนดดังกล่าวการประกันคุณภาพการศึกษาของอุดมศึกษายังดำรงอยู่ในระบบอุดมศึกษาของไทย โดยจะต้องมีการประเมินคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก

ในส่วนของการประเมินคุณภาพภายนอกในกฎหมายฉบับนี้มีการเปิดกว้างให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถใช้หน่วยงานต่างประเทศที่มีมาตรฐานดำเนินการประเมินหรือหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานในต่างประเทศมากขึ้น บทบาท สมศ. ตามมาตรา 49 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ไม่ได้มีหน้าที่ทำการประเมินผลการจัดการศึกษาอุดมศึกษา (มาตรา 49)

ประเด็น 2 การเปิดสอนหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา

ในการเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ดังนี้

มาตรา 31 หลักสูตรการศึกษาที่สภาสถาบันอุดมศึกษาจะอนุมัติเพื่อให้เปิดสอนได้ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำด้านคุณภาพที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษากำหนด และต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน พัฒนาวิชาชีพหรือทักษะอาชีวะชั้นสูง หรือการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเพื่อพัฒนาสังคม

มาตรา 54 หลักสูตรการศึกษาที่สภาสถาบันอุดมศึกษาจะอนุมัติเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนได้จะต้องเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการอุดมศึกษาที่รัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา

มาตรา 55 เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตรการศึกษาตามมาตรา 54 และได้แจ้งหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวต่อสำนักงานปลัดกระทรวงแล้ว จึงจะเปิดสอนตามหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวได้

ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาที่จะต้องตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งว่าเป็นตามมาตรฐานตามมาตรา 54 หรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด และในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหาย คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาจะสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาระงับการดำเนินการตามหลักสูตรการศึกษานั้นไว้ก่อนก็ได้

มาตรา 56 ในการตรวจสอบหรือพิจารณาหลักสูตรของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาตามมาตรา 55 ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา

ในกรณีที่ปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาไม่จัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาที่ได้แจ้งตามมาตรา 55 ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหากสถาบันอุดมศึกษาไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้สถาบันอุดมศึกษาหยุดการดำเนินการหรือดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นต่อไป ในกรณีที่เห็นสมควรจะสั่งไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษาก็ได้ แต่การไม่รับรองมาตรฐานดังกล่าวไม่กระทบผู้สำเร็จการศึกษาไปก่อนแล้ว

การไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาตามวรรคสอง ให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งหรือมอบหมายผู้ตรวจสอบ และการตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาประกาศกำหนด

มาตรา 57 ในการตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาตามมาตรา 56 ให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสถาบันอุดมศึกษาหรือสถานที่ใดซึ่งมีการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาทำการ

(2) สั่งให้บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลดังกล่าวแสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและหนังสือแต่งตั้งหรือมอบหมายตามวรรคหนึ่งด้วย และให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

ให้บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาบทบัญญัติทั้ง 5 มาตรานี้เป็นการกำหนดมาตรฐานของการเปิดสอนหลักสูตรอุดมศึกษาทุกระดับเพื่อใช้เป็นกรอบให้สถาบันอุดมศึกษาทุกระดับดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหลักสูตรที่จะต้องมีการวางแผนในการเปิดสอนหลักสูตรอย่างเป็นระบบหากไม่มีการวางแผนที่ชัดเจนทั้งด้านมาตรฐานหลักสูตรด้านระยะเวลาในการจัดทำหลักสูตรการเสนอหลักสูตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ หลักสูตรจะต้องได้รับอนุมัติจากสภาสถาบันอุดมศึกษา และแจ้งต่อสำนักงานปลัดกระทรวงแล้วจึงเปิดสอนได้ และกลไกใหม่ที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐานของหลักสูตร คือคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาอันอาจจะส่งผลต่อการรับรองหลักสูตร

ประเด็น 3 การจ้างวานผลิตผลงานทางวิชาการ

มาตรา 70 เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการอุดมศึกษา หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างและรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร

ประเด็นที่ 3 ที่ยกมาเสนอนี้เป็นการเสริมสร้างให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระในระดับปริญญาและวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างตรงปัญหาที่สังคมไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่การจ้างวานผลิตผลงานทางวิชาการที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา โดยจะต้องมีมาตรการลงโทษที่จริงจังมิใช่กำหนดไว้ในกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเท่านั้น

สาระสำคัญที่บัญญัติให้ในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ใน 3 ประเด็นที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายผลิตบัณฑิตจะต้องให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จะต้องออกแบบระบบต่างๆ ในการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับหลักสูตรจนกระทั่งระดับสถาบันให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ของพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

สุรชัย เทียนขาว
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image