อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลอาญาระหว่างประเทศ : โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กุลพล พลวัน

วันที่ 27 มกราคม นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก โดยถือเป็น “วันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (Holocaust) และวันดังกล่าวนี้ยังถือเป็นวันที่สามารถปลดปล่อยค่ายกักกันเชลยชาวยิวที่โปแลนด์ ซึ่งพรรคนาซีเยอรมันได้กวาดต้อนมาจากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปมากักกันไว้ที่ค่ายนี้ เพื่อนำตัวไปฆ่า โดยมีวัตถุประสงค์ล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้สิ้นไปจากโลกระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนมีผู้ถูกฆ่าทั้งในค่ายกักกันและหลายประเทศในยุโรปนับล้านคน

ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสหประชาชาติ สหประชาชาติก็ได้ให้ความสำคัญแก่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอย่างสูง โดยมีมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมนี้มิให้เกิดขึ้นอีก เช่น ได้ประกาศใช้ “อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966” (ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี กติกาดังกล่าวด้วยเมื่อ พ.ศ.2540) ข้อบทที่ 6 (2) ได้บัญญัติว่า “ในประเทศที่ยังมิได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตย่อมกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิดและต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติในกติกาฉบับนี้ และอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ โทษเช่นว่านี้จะลงได้ก็โดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลที่มีอำนาจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยิวและประเทศอิสราเอลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้

และหากบุคคลใดหรือประเทศใดให้การยกย่องหรือชื่นชมพรรคนาซีหรือฮิตเลอร์หรือเครื่องหมายใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความชื่นชมดังกล่าว เช่น ภาพกิจกรรมของพรรคนาซีหรือฮิตเลอร์หรือเครื่องหมายสวัสติกะ อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี ชาวยิวหรือประเทศอิสราเอลก็จะประท้วงอย่างรุนแรงต่อการกระทำดังกล่าวทันทีโดยพร้อมเพรียงกัน

ดังจะเห็นได้ว่า กรณีที่เมื่อเร็วๆ นี้นักร้องหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยได้ใส่เสื้อที่มีเครื่องหมายสวัสติกะอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีขึ้นแสดงบนเวทีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงถูกประท้วงจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จนต้องมีการขอเข้าพบเอกอัครราชทูตอิสราเอลเพื่อขอโทษ เรื่องจึงยุติลงด้วยดี

Advertisement

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ถือเป็นอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงที่สุด ประเทศต่างๆ รวมทั้งสหประชาชาติจึงร่วมมือกันลงโทษอย่างจริงจังและรุนแรง ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์โลกที่มีการจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามเพื่อการลงโทษสมาชิกพรรคนาซีที่มีบทบาทสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และผู้นำรัฐบาลทหารญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญที่กระทำทารุณกรรมพลเมืองในประเทศที่ตนยึดครอง และสังหารชาวจีนจำนวนมากซึ่งเป็นเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อมีการจัดตั้งสหประชาชาติแล้ว ก็ได้เกิดการเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการทารุณกรรมอื่นๆ ขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก เช่น

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนอดีตประเทศยูโกสลาเวีย คือเหตุการณ์ในบอสเนียเฮอร์เซโกวินาที่ได้แยกตัวเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวีย และดินแดนดังกล่าวประกอบด้วยประชาชน 3 เชื้อชาติ คือชาวเซิร์บประมาณ 30% นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ชาวโครแอตประมาณ 17% ซึ่งนับถือศาสนาโรมันคาทอลิก และชาวบอสเนียเชื้อสายสลาฟประมาณ 43% ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ชาวเซิร์บได้ก่อเหตุรุนแรงทารุณกรรมด้วยวิธีการต่างๆ ต่อชาวโครแอตและชาวบอสเนียจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกักขัง การทรมาน การข่มขืน ฯลฯ จนชาวโลกเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังเข้าระวังเหตุการณ์จนสงบลง

Advertisement

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงได้ใช้อำนาจตามกฎบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพและการกระทำการรุกราน เข้าระงับเหตุการณ์จนสงบลงแล้วจัดตั้ง “ศาลระหว่างประเทศพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในดินแดนอดีตประเทศยูโกสลาเวีย” (The International Tribunal for the Former Yugoslavia หรือ ICTY) เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการทารุณกรรมต่างๆ ในดินแดนบอสเนียเฮอร์เซโกวินา

ศาลดังกล่าวตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และศาลนี้ไม่มีการลงโทษประหารชีวิตเนื่องจากประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วเป็นส่วนใหญ่

ต่อมาสหประชาชาติก็ได้จัดตั้งศาลในลักษณะเดียวกันเพื่อลงโทษผู้ก่ออาชญากรรม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนโคโซโวซึ่งเป็นดินแดนของอดีตประเทศยูโกสลาเวียเช่นกัน ซึ่งชาวเซิร์บได้กระทำต่อชาวแอลเบเนียนที่เป็นชาวมุสลิม และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาซึ่งขาวฮูตูได้กระทำต่อชาวทุสซีจนมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน

การที่คณะมนตรีความมั่นคงใช้วิธีลงมติจัดตั้งศาลอาชญากรสงคราม แทนที่จะใช้วิธีที่เคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อนคือ การทำความตกลงระหว่างประเทศจัดตั้งศาลนั้น ก็เพราะคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า การใช้มติคณะรัฐมนตรี ตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพและการกระทำการรุกรานเป็นการรวดเร็วกว่าการทำความตกลงระหว่างประเทศ เพราะใช้เวลานับปีกว่าจะเชิญประชุม หารือ ลงนาม และให้สัตยาบัน ศาลที่จัดตั้งก็มีลักษณะเป็นศาลเฉพาะกิจ ใช้เฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจศาลดังกล่าวก็หมดสภาพไปเอง

อย่างไรก็ดี กรณีคณะมนตรีความมั่นคงใช้วิธีการจัดตั้งศาลดังกล่าวนี้ก็ถูกโต้แย้งจากหลายฝ่าย ว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น นายสโลโบดัน มิเลโซวิช อดีตประธานาธิบดีแห่งอดีตยูโกสลาเวีย ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บได้ถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกองกำลังชาวเซิร์บทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบอสเนียและชาวโครแอตในบอสเนียเฮอร์เซโกวินา และชาวแอลบาเนียนในโคโซโว อดีตประธานาธิบดีดังกล่าวซึ่งเคยเป็นทนายความได้โต้แย้งไม่ยอมรับอำนาจศาล โดยอ้างว่าการจัดตั้งศาลนี้ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้สหประชาชาติจึงได้มีการจัดประชุมประเทศสมาชิกเพื่อหารือจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม 2541 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และมีประเทศเข้าร่วมประชุมรวม 161 ประเทศ และที่ประชุมได้มีมติทำสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ซึ่งมีลักษณะเป็นศาลถาวร ประเทศไทยได้ลงนามแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน และสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์มีอำนาจพิจารณาคดีอาญามีความร้ายแรง 4 ประเภท คือ อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมเกี่ยวกับสงคราม และอาชญากรรมที่เป็นการรุกราน

อาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) ครอบคลุมถึงการสังหารมวลชน เช่น การฆ่าหรือการทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงด้วยเจตนาทำลายกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นชาติ ชนเผ่า ชาติพันธุ์หรือกลุ่มศาสนาไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หมายถึง การทำลายล้างพลเรือน (extermination of civilian) การจับเป็นทาส (enslavements) การทรมาน (torture) การข่มขืนกระทำชำเรา (rape) การก่อให้ตั้งครรภ์โดยการบังคับด้วยกำลัง (forced pregnancy) การข่มเหงด้วยเหตุผลทางการเมือง ชาติพันธุ์

การเป็นชาติเผ่าพันธุ์วัฒนธรรม ศาสนาหรือเพศ การทำให้สาบสูญโดยบังคับ (enforced disappearance) แต่การกระทำนั้นๆ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือน “อย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ” ฯลฯ

โทษสำหรับความผิดร้ายแรงดังกล่าวตามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ การจำคุกตลอดชีวิต จำคุกไม่เกิน 30 ปี ปรับ หรือริบทรัพย์ แต่ธรรมนูญศาลฯ ไม่มีโทษประหารชีวิต และไม่มีอายุความ และไม่ใช้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

ศาลอาญาระหว่างประเทศได้มีการพิจารณาคำฟ้องและออกหมายจับผู้กระทำผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศต่างๆ หลายคดีส่วนใหญ่เป็นประเทศในตะวันออกกลางหรือทวีปแอฟริกา เช่น ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเซียร์ ผู้นำเผด็จการของประเทศซูดานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมืองผิวดำในแคว้นดาร์ฟัวร์ทางตะวันตกของซูดานเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 คน และมีผู้อพยพลี้ภัยประมาณ 2 ล้านคน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 1593 (2005) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 เรียกร้องให้รัฐสมาชิกส่งทหารเข้าไปแคว้นดาร์ฟัวร์เพื่อยุติความรุนแรงดังกล่าว และศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับประธานาธิบดีคนนี้ในข้อหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” และ “อาชญากรสงคราม” โดยที่ซูดานมิได้เป็นภาคีสนธิสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะเป็นการเสนอเรื่องต่อศาลโดยตรงโดยคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งสามารถกระทำได้ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันยังจับเขาไม่ได้

ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ถูกกล่าวหาว่าถูกจัดตั้งขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ผลการดำเนินคดียังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควรและถูกกล่าวหาว่าผู้ที่ถูกออกหมายจับส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลในกลุ่มประเทศในแอฟริกาหรือภูมิภาคตะวันออกกลาง สำหรับในเอเชียก็มีข้อเสนอที่จะให้นำตัวผู้นำกองทัพของเมียนมามาดำเนินคดีในศาลนี้ในข้อหาว่ามีบทบาทสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการทารุณกรรมต่างๆ กับชาวโรฮีนจาเป็นเหตุให้ต้องอพยพหนีภัยไปอยู่ในบังกลาเทศหลายแสนคน และในประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งประเทศไทย

อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์ได้กระทำต่อกัน ดังนั้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ข้อ 6 (3) จึงเรียกร้องให้รัฐภาคีร่วมมือกันป้องกันปราบปรามอาชญากรดังกล่าว โดยบัญญัติว่า “เมื่อมีการฆ่าผู้อื่นอันเป็นอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าข้อนี้มิได้ให้อำนาจรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้ในอันที่จะหลีกเลี่ยงจากพันธะใดๆ อันพึงมีต่อบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์”

อนึ่งบทบัญญัติข้อ 15 (1) ได้บัญญัติห้ามการลงโทษทางอาญาย้อนหลัง ซึ่งเป็นบทบัญญัติข้อห้ามทั่วไปที่ปรากฏในกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ แต่อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรม 4 ประเภทที่ระบุในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และอาชญากรรมการรุกรานนั้น ถือเป็นอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงเป็นพิเศษเกินกว่าที่จะใช้หลักการห้ามลงโทษทางอาญาย้อนหลัง ซึ่งใช้กับความผิดอาญาทั่วๆ ไป

ดังนั้น ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันก็ได้มีการดำเนินคดีและลงโทษทางอาญาด้วยการประหารชีวิตหรือจำคุกกับกลุ่มบุคคลที่ทำความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งเป็นการลงโทษย้อนหลังทั้งสิ้น เช่น การดำเนินคดีเพื่อลงโทษบรรดาผู้นำพรรคนาซี การดำเนินคดีกับผู้นำรัฐบาลทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ซึ่งมีการสังหารบุคคลจำนวนมากและกระทำทารุณกรรมกับพลเมืองของประเทศที่ตนยึดครอง และการลงโทษอดีตผู้นำเขมรแดงที่สังหารและทารุณกรรมชาวเขมรในอดีตที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นก็เป็นการลงโทษทางอาญาย้อนหลังทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ได้อนุญาตให้มีการลงโทษทางอาญาย้อนหลังกับผู้ก่ออาชญากรรมดังกล่าว ดังปรากฏในข้อบทที่ 15 ซึ่งบัญญัติว่า “1) บุคคลจะไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใดให้ไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศในขณะที่กระทำการนั้น ฯลฯ

2) ความข้อนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษบุคคลซึ่งได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นความผิดอาญาตามหลักกฎหมายทั่วไปอันรับรองกันในชุมชนแห่งชาติทั้งหลายในขณะที่มีการกระทำนั้น”

สําหรับประเทศไทยเคยมีการพิจารณาคดีข้อหาอาชญากรสงครามกับคณะผู้นำรัฐบาลไทยในอดีตที่นำประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเอเชียบูรพากับประเทศญี่ปุ่น เมื่อสงครามสงบลงโดยญี่ปุ่นตกเป็นประเทศแพ้สงคราม บรรดาผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นถูกดำเนินคดีในศาลอาชญากรสงครามที่กรุงโตเกียวและศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต และจำคุกจำเลยจำนวนหลายคน แต่สำหรับประเทศไทยได้ต่อรองขอดำเนินคดีในประเทศไทยเองโดยตรา “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488”

และในที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1/2489 พิพากษาว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการลงโทษทางอาญาย้อนหลังใช้บังคับไม่ได้ จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ความเห็นของนักกฎหมายในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันได้เสมอและนับว่าศาลได้ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยในคดีนี้อย่างดีแล้ว

ศาสตราจารย์พิเศษ กุลพล พลวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image