‘ต้นทุน’ รบ.ใหม่ อนาคต บนเส้นด้าย ศักยภาพ คือ ทางแก้

วันที่ 10 กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี 36 ตำแหน่ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

Advertisement

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสาธิต ปิตุเตชะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หลังจากนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ดังกระหึ่ม ตอกย้ำสัญญาณการเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ระดับรัฐบาล ยังคงเป็นความห่วงใยในการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่มีร่วม 20 พรรค อาทิ คำถามเกี่ยวกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งนายสมคิด หัวหน้าทีมของรัฐบาลชุดปัจจุบันบอกแล้วว่า รัฐบาลชุดหน้าไม่มี

นอกจากคำถามเกี่ยวกับภาพรวมของรัฐบาลแล้ว ยังมีคำถามเกี่ยวกับภาพรวมของกระทรวงต่างๆ ที่มีรัฐมนตรีมาจากหลายก๊ก หลายกลุ่ม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รัฐมนตรีว่าการ คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มาจากพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการนั้น ประกอบด้วย นายประภัตร โพธสุธน มาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาจากพรรคภูมิใจไทย

แต่ละพรรคมีนโยบายการเกษตรและสหกรณ์เป็นของตัวเองและสัญญากับประชาชนเอาไว้ตอนหาเสียง

เช่นเดียวกับช่วงเวลาการต่อรองร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศเงื่อนไขชัดเจนว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทุกอย่างล้วนเป็นเงื่อนไขและความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่

จึงต้องจับตาดูนโยบายภาพรวมว่าจะออกมาเช่นไร

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ครม.ใหม่ ยังมีคำถามเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นคำถามที่เกี่ยวพันกับคุณสมบัติของความเป็นรัฐมนตรี

อาทิ คำถามเกี่ยวกับประวัติของ ร.อ.ธรรมนัสที่มีกระแสข่าวว่าต้องคดีที่ประเทศออสเตรเลียมาก่อน คำถามเกี่ยวกับครอบครัวของนายณัฏฐพล ที่นั่งคุมกระทรวงศึกษาฯ ขณะที่ครอบครัวทำกิจการเกี่ยวกับโรงเรียน

ไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

รวมไปถึงนายอุตตม ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวโจมตีโดยโยงไปเกี่ยวพันกับคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ ซึ่งนายอุตตมยืนยันว่าชี้แจงได้เพราะบริสุทธิ์ แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสม เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับธนาคาร แต่ได้มานั่งคุมกระทรวงการคลัง

รวมไปถึงข้อห่วงใยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น นายสุริยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีครอบครัวทำโรงงาน

นี่ยังไม่รวมคำร้องก่อนหน้านี้ที่ ส.ส. เข้าชื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์

ตรวจสอบเพราะสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจมีคุณสมบัติขัดต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลายมิติ ตอกย้ำให้เห็น “ต้นทุน” รัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.

เป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองในช่วงเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลเลือกตั้ง

เป็นการเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเริ่ม “เสื่อมศรัทธา” ต่อการยึดอำนาจ และต้องการ “รัฐบาลชุดใหม่” ที่สามารถสร้างความหวังให้เกิดขึ้นได้

ขณะที่โฉมหน้า “รัฐบาลชุดใหม่” ที่ปรากฏ กลับไม่สามารถสร้างความหวัง

รัฐบาลชุดใหม่จึงมี “ต้นทุน” ไม่มากนัก

ในเบื้องต้นถือว่ามีต้นทุนแค่ปริ่มน้ำพอๆ กับเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในสภา

ดังนั้น หนทางอยู่รอดของรัฐบาลชุดใหม่จึงหนีไม่พ้นการแสดงศักยภาพ

รัฐบาลต้องทำตามคำพูดที่เคยหาเสียงไว้ รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประจักษ์แจ้งโดยเร็ว และรัฐบาลต้องสร้างบรรทัดฐานการบริหารที่ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

หากทำได้ แสดงว่า “รัฐบาลใหม่” มีศักยภาพพอที่จะบริหารราชการแผ่นดิน

ยิ่งถ้ารัฐบาลแปรนโยบายหาเสียงเป็นนโยบายรัฐบาลและผลักดันจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ยิ่งถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งการลงทุน การส่งออก ราคาพืชผล การท่องเที่ยว และอื่นๆ ได้อย่างมีหวัง

ยิ่งถ้ารัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ข้อครหาเรื่องจริยธรรม การทุจริต และการทำผิดกฎหมาย

รัฐบาลชุดใหม่ย่อมไปต่อได้อย่างสบายๆ

แต่ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ทำไม่ได้ “ต้นทุน” ที่ปริ่มน้ำยังคงทรุดลงไปเรื่อยๆ
รัฐบาลที่มีพรรคร่วมเกือบ 20 พรรค แต่มีเสียงในสภาเกินครึ่งแค่ไม่กี่เสียง ก็คงหมดตัวช่วยใดๆ

ทุกอย่างคงต้องเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image