ประโยชน์ของการอ้างผีเทวดา

ในสังคมที่นับถือผีสางเทวดา การอ้างผีอ้างเทวดาบางทีก็มีประโยชน์ในการควบคุมสังคมให้มีศีลธรรม จริยธรรม

ยกตัวอย่างที่ยังเห็นกันอยู่ในปัจจุบันคือ คติเรื่อง “ผีปู่ตา” ของพี่น้องชาวภาคอีสาน

หมู่บ้านหนึ่งๆ จะมีที่สำหรับให้ผีปู่ตาสถิตอยู่ เรียกกันว่า “ดอนปู่ตา” บริเวณกว้างขวาง เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ เรียกว่าเป็นป่าที่ร่มรื่นทีเดียว ท่ามกลางป่าทึบนั้นก็จะมีศาลสำหรับเป็นที่สิงสถิตของผีปู่ตา

ประชาชนในหมู่บ้านจะนำหมูเห็ดเป็ดไก่มาเซ่นสรวงเสมอมิได้ขาด ใครบนบานศาลกล่าวอะไรไว้ เมื่อได้ผลตามต้องการแล้วก็นำเครื่องเซ่นมาถวายปู่ตา จะมาทำเป็นลืมหรือเบี้ยวไม่ได้ เดี๋ยวได้เรื่อง

Advertisement

ได้เรื่องที่ว่านี้ก็คือ อาจถูกผีปู่ตาเล่นงานเอาได้

ในหมู่บ้านก็จะมีบุคคลผู้ทำหน้าที่ “สื่อกลาง” คนหนึ่ง เชื่อกันว่าแกพูดกับปู่ตารู้เรื่อง ปู่ตาต้องการพูดอะไร ต้องการสื่อสารเรื่องอะไรแก่ชาวบ้าน ก็จะสื่อสารผ่านคนคนนี้ ตำแหน่งนี้เรียกกันว่า “เฒ่าจ้ำ”

หน้าที่ของ “เฒ่าจ้ำ” นี่ก็ไม่ต่างอะไรกับ “คนกลาง” หรือนายหน้า (เรียกให้โก้ก็ว่าโบรกเกอร์นั่นไง) จะต้องวิ่งวุ่นติดต่อระหว่างคนกับผีตลอด เงินเดือนก็ไม่มี แต่แกก็เต็มใจทำ เพราะเป็นตำแหน่งเกียรติยศที่ชาวบ้านนับถือมาก

Advertisement

ผีปู่ตามีอิทธิพลในด้านจริยธรรมของชาวบ้านมาก เช่น ใครประพฤติผิดศีลธรรม เป็นชู้กับลูกเมียคนอื่น ถ้าเกิดแกป่วยขึ้นมา เฒ่าจ้ำแกก็จะบอกว่า แกได้ไปถามปู่ตาแล้ว ปู่ตาบอกว่าไอ้เจ้านี่มีความผิด เพราะผิดศีลข้อสาม เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้เลิกประพฤติผิดศีลธรรมเสีย อะไรอย่างนี้ เจ้าหมอนั่นกลัวตายก็เลิกประพฤติอย่างนั้นเอง

ผีปู่ตาแกพูดจริง หรือเฒ่าจ้ำแกแอบอ้างปู่ตาไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ กรณีอย่างนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ

ต้นไม้ใหญ่ในดอนปู่ตา ใครตัดไม่ได้ มีอันต้องเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุทันที ว่ากันว่าผีปู่ตาแกโกรธนัก เพราะฉะนั้นจึงไมมีใครกล้าตัดแม้แต่ต้นเดียว ทำให้หมู่บ้านมีป่าอันร่มรื่น

นี่เพราะอิทธิพลความเชื่อถือในผีปู่ตาแท้ๆ ที่ทำให้หมู่บ้านในภาคอีสานแต่ก่อนเต็มไปด้วยป่าไม้อันร่มรื่นไม่เคยแห้งแล้ง
น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้คติความเชื่อเรื่องผีปู่ตาได้เสื่อมไป พวกหัวสมัยใหม่หาว่าเป็นเรื่องล้าหลัง ยุคนี้เป็นยุคไฮเทคแล้ว ไม่ควรเชื่อเรื่องเหลวไหลอย่างนี้ คนรุ่นใหม่ก็เลยไม่รู้จักศาลปู่ตา หมู่บ้านชาวอีสานในปัจจุบันจะหาศาลปู่ตาหลงเหลืออยู่น้อยเต็มที

ปู่ตาที่อยู่เคียงคู่กับชีวิตชาวอีสานช่วยชาวบ้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยควบคุมศีลธรรม จริยธรรม ของสังคมก็เลยสูญสิ้นไปจากจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่อย่างน่าเสียดาย หายไปพร้อมๆ กับธรรมชาติแวดล้อมอันร่มรื่น สวยสดงดงาม เหลือแต่ความแห้งแล้งฝากไว้บนผืนนาอันแตกระแหงทุกหนทุกแห่ง อนิจจา…

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงพยายามสอนให้คนเขาเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นไม้ลำธาร แต่คนก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ บังเอิญคราวหนึ่งเกิดเรื่องขึ้น พระองค์จึงทรงอาศัยแนวคิดเรื่องเทวดามาเป็นสื่อของพระสงฆ์และประชาชน ปรากฏว่าได้ผลดีอย่างยิ่ง

มีพระรูปหนึ่งตัดต้นไม้ใหญ่มาทำกุฏิ พระองค์เรียกมาบอกว่าที่เธอตัดต้นไม้นั้น เธอรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่อพระรูปนั้นนั่งงงอยู่ พระองค์ตรัสว่า เมื่อคืนนี้รุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้ที่เธอตัดนั้นมาหาเรา คร่ำครวญว่าวิมานของเขาถูกเธอทำลายแล้ว ไม่มีที่อยู่จะให้ทำอย่างไร เราจึงชี้บอกให้ไปอาศัยอยู่ที่ต้นโพธิ์ข้างวัดก่อน

“เธอรู้ไหม รุกขเทวดาโกรธเธอมาก ดีว่าเทวดายังเกรงใจเรา หาไม่เธอเคราะห์ร้าย” พระพุทธองค์ทรงตรัส

“เคราะห์ร้ายอย่างไร พระเจ้าค่ะ” พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลถาม

“เทวดาว่ากำลังเงื้อมือจะจับเธอหักคออยู่พอดี นึกกลัวบาปกรรมและเกรงใจเราผู้เป็นศาสดาของเธอ จึงยับยั้งใจไว้ได้” พระพุทธเจ้าทรงอธิบายต่อ

พระรูปนั้นขนลุกด้วยความกลัว “เกือบไปไหมเรา” รำพึงพลางกราบขอขมาให้ความผิดที่ตนทำ

พระพุทธองค์ตรัสเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมด แล้วทรงบัญญัติวินัย (ข้อบังคับสงฆ์) ว่า

“ตั้งแต่นี้ต่อไปห้ามภิกษุตัดต้นไม้ ใครขืนฝ่าฝืนต้องปรับเอาความผิด”

ได้ผลครับ ตั้งแต่นั้นมาไม่มีพระรูปใดกล้าตัดต้นไม้อีก นอกจากจะเคารพต่อวินัยสงฆ์แล้ว ยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งด้วยคือ กลัวผีที่สถิตอยู่บนต้นไม้ทำร้ายเอา

ชาวบ้านทั่วไปพอรู้เรื่องนี้เข้าก็พลอยเกรงกลัวไปด้วย ไม่กล้าตัดไม้ทำลายป่าอีก

นับว่าการอ้างผีอ้างเทวดาอย่างในกรณีนี้มีประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าผีหรือเทวดาจะสิงต้นไม้จริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ความเชื่อในเรื่องผีเทวดาอย่างน้อยก็ทำให้คนไม่ทำความชั่ว สามารถสร้างสรรค์สังคมให้เจริญก้าวหน้า แม้นจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติก็ยังได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image