เครื่องแบบ ส.ส. โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

การแต่งกายคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง สื่อสารเพื่อต่อต้านสิ่งเก่าก็ได้ สื่อสารเพื่อยืนยันสนับสนุนก็ได้ และแน่นอนรวมทั้งแต่งกายโดยไม่ได้คิดอะไร นอกจากทำไปตาม “ธรรมเนียม” ก็ย่อมได้ด้วย

ที่เราเรียกว่า “ชุดสากล” ในทุกวันนี้ ที่จริงแล้วเป็นชุดแต่งกายที่นักปฏิวัติฝรั่งเศสออกแบบ เน้นความเรียบง่ายและไม่แบ่งแยกสถานะทางสังคมของผู้แต่ง (เช่นเดียวกับ “ชุดเหมา” ในเมืองจีนสมัยหนึ่ง) แต่กลายเป็นชุดที่คนในยุโรปใช้สวมใส่มากขึ้นทุกที เพราะอุดมการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุโรป แม้แต่ผู้ที่คัดค้านต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังใช้สวมใส่เป็นปกติโดยไม่คิดอะไร

รัฐสภาไทยมีระเบียบการแต่งกายที่หลวมมากๆ เพราะกำหนดให้แต่งชุดสากล, ชุดพระราชทาน, หรือชุดสุภาพเท่านั้น แต่ความสุภาพนั้นเป็นเรื่องของใครของมันโดยแท้ อาจมีมาตรฐานที่เป็น “ชนนิยม” กว้างๆ เช่น ชุดเล่นน้ำถือว่าเกินขีดความสุภาพไปทางด้านล่างเกินไปแล้ว หรือชุดขาวปกติพร้อมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ครบ นอกวันที่มีพระราชพิธีในสภา ก็เกินขีดความพอดีไปด้านบนเกินไปอีกเหมือนกัน

และด้วยเหตุที่เส้นแบ่งความสุภาพค่อนข้างเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน จึงเคยมี ส.ส.ขี่ควายเข้าสภา พร้อมชุดชาวนามาแล้ว ในขณะเดียวกันก็มี ส.ส.ที่พยายามนำเอาสากกะเบือเข้าสภามาด้วยเช่นกัน ทั้งสองกรณีล้วนเป็นความพยายามจะสื่อสารทางการเมืองบางอย่างทั้งสิ้น

Advertisement

ดังที่กล่าวแล้วว่า การแต่งกายและการประดับกายล้วนเป็นการสื่อสารทั้งสิ้น ยิ่งในกรณีของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ของการสื่อสารทางการเมือง การแต่งกายจึงยิ่งเป็น “เสียง” หนึ่งที่สามารถใช้ขยายให้ดังไปในสังคมได้มาก การกำหนดการแต่งกายให้แคบจนไม่มีทางเลือกมากนักของสภา จึงอาจกลายเป็นการกำหนดไปโดยปริยายว่า “เสียง” อะไรบ้างพึงดังจากสภาได้ เหมือนเครื่องแบบนักเรียน ที่คอยเตือนนักเรียนว่าเธอพูดอะไรได้บ้าง เธอทำอะไรได้บ้าง และเธอคิดอะไรได้บ้าง อยู่ตลอดเวลา

โฆษกพรรคอนาคตใหม่แถลงว่า สารที่ ส.ส.ซึ่งแต่งชุดพื้นเมืองอยากจะสื่อคือความหลากหลายในประเทศไทย

แต่คำอธิบายนี้ดูเหมือนจะออกมาหลังจากกลายเป็นความอื้อฉาวไปแล้ว ข้อนี้ไม่แน่ใจนัก เพราะไม่ได้ตามข่าวอย่างละเอียด แต่แม้ยอมรับว่านี้เป็นเจตนามาแต่เดิม ก็ถือได้ว่าประสบความล้มเหลว เพราะความหลากหลายที่สื่อออกมาด้วยชุดพื้นเมืองของทางเหนือแคบเกินไปและตื้นเกินไป ไม่มีอะไรแตกต่างจากความหลากหลายที่ราชการใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ที่ปลอดภัยแก่ส่วนกลาง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งข้าราชการในจังหวัดแต่งชุดพื้นเมืองทุกวันศุกร์มานานแล้ว

แต่งชุดพื้นเมือง แต่ไม่มีอิสระที่จะบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตัวเองเลย จะเป็นความหลากหลายเพื่ออะไร และเพื่อใคร ถ้า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จะใช้การแต่งกายสื่อสาร ก็ต้องสามารถทำให้ชุดแต่งกายนั้นสื่อถึงนโยบายยกเลิกการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ตามนโยบายของพรรค

ชุดพื้นเมืองของภาคเหนือที่ ส.ส.สวมใส่ ไม่ได้สื่อสารใดๆ เกี่ยวกับนโยบายและจุดยืนของพรรคเลย จึงถือว่าเป็นความล้มเหลวและไม่มีประสิทธิภาพ

ยิ่งกว่าความไม่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารก็คือ ความหลากหลายในประเทศไทย ไม่ว่าทางด้านชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมประจำถิ่น ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงเครื่องแต่งกายหรืออัตลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอุดมการณ์, ค่านิยม, วิถีวัฒนธรรม, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ฯลฯ ซึ่งถูกสังเวยไปกับรัฐที่รวมศูนย์เกินไป จะจัดการป่าอย่างไร จึงจะให้ป่าอยู่ได้และกะเหรี่ยงก็อยู่ได้ไปพร้อมกัน จะทำอย่างไรจึงจะให้ภูมิปัญญาที่รักษาไว้ในอักษรและอักขรวิธีที่ไม่เหมือนไทยภาคกลางของชาวมลายู, ชาวอีสาน, ชาวเหนือ, และในขอมไทยของชาวใต้สามารถสืบทอดต่อแก่คนรุ่นหลังได้ จะทำอย่างไร…ฯลฯ

ยิ่งหากคิดถึงความหลากหลายที่หมายถึงอาชีพ, สถานะทางสังคม, ระดับการศึกษา, รายได้ที่แตกต่าง, ศาสนาที่แตกต่าง, ฯลฯ ของคนไทยทั้งประเทศแล้ว ยิ่งจะเห็นได้ว่าการสื่อสารถึงเรื่องนี้ด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

แม้กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า การกระทำของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในการแต่งชุดพื้นเมืองเป็นความผิด คงไม่มียุคสมัยใดยิ่งไปกว่ายุคนี้ ที่เราต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารัก จึงจำเป็นต้องช่วยกันทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบราชการ แม้แต่การแต่งกายที่ไร้ความหมายทางการเมืองนอกจากสีสันและความแปลกใหม่ ก็ช่วยทำให้ผู้คนมีสำนึกได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรคือสถาบันทางการเมือง ที่เป็นเวทีสำหรับการปกครองตนเองของพลเมือง ไม่ใช่กรมกองพิเศษที่ราษฎรเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นสมุนของฝ่ายบริหาร (ซึ่งได้อำนาจมาอย่างน่ากังขาเสียด้วย)

น่าประหลาด (หรือในทางตรงข้าม ไม่น่าประหลาดเลย) ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมตอบโต้การแต่งชุดพื้นเมืองของ ส.ส.อนาคตใหม่อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ “ความหมาย” ของการแต่งชุดพื้นเมืองที่สื่อออกมาไม่สู้จะมีความสำคัญนัก

รองโฆษกของหัวหน้า คสช. ซึ่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส.ส.เหล่านี้ขาดสำนึกในเรื่องกาละและเทศะอย่างที่คนเป็น ส.ส.ควรมี แต่กาลเทศะก็เหมือนความเหมาะควร (propriety) ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน มิได้มีมาตรฐานตายตัวเหมือนในอดีตเสียแล้ว คนต่างกลุ่มต่างนิยามความเหมาะควรของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นมาตรฐานที่ไม่หยุดนิ่งในคนทุกกลุ่มด้วย แม้แต่นักบวชในบางศาสนาก็เปลี่ยน “ภาพ” ของตนเองให้ใกล้เคียงฆราวาสมากขึ้น จนบางครั้งแทบแยกจากกันไม่ออก

ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ อนุรักษนิยมต้องยอมรับว่าอำนาจในการกำหนด “กาละ” และ “เทศะ” ของคนอื่นนั้นได้สูญสลายไปเสียแล้ว แทนที่จะพยายามรักษาอำนาจลักษณะนี้ไว้ อนุรักษนิยมที่ฉลาดหลายแห่งสงวนอำนาจไว้กำหนดเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ดีกว่า เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลิกใส่ใจแล้วว่าคนจีนจะแต่งกายอย่างไร แต่ยินดีใช้อำนาจเพื่อรักษาบทบาทนำของรัฐส่วนกลางและท้องถิ่นในเศรษฐกิจไว้ในระดับสูงต่อไปแทน

มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้อนุรักษนิยมไทยมักเป็นอนุรักษนิยมเชยๆ เผด็จการไทยก็มักเป็นเผด็จการเชยๆ เสมอ

อนุรักษนิยมบางกลุ่มโจมตีการแต่งชุดพื้นเมืองว่าไม่เคารพสถานที่ ซึ่งในที่นี้หมายถึงสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยแต่งกายโอ่อ่าใกล้เคียงกับ “ตัวแทน” ของเขาเลย น่าสนใจที่นักอนุรักษ์นิยมเหล่านี้มีมโนภาพของสภาเหมือนหรืออยู่ในระดับเดียวกับวัดและวัง มโนภาพเช่นนี้จะมีส่วนในการกำหนดบทบาทของพวกเขามากน้อยเพียงไร คิดไปก็น่าวิตกกังวลไม่น้อย

ในที่สุดก็สามารถผลักดันให้สภาต้องทบทวนระเบียบการแต่งกาย และคงหนีไม่พ้นที่จะลงเอยว่า การแต่งกายนอกระเบียบต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานสภาเสียก่อน ประธานสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกกลายเป็นเหมือนประธานของสมาคมแม่บ้าน ที่อาจใช้อำนาจวินิจฉัยส่วนตนบนเนื้อตัวของสมาชิกได้ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ แม้แต่ประธานสหภาพแรงงานยังมีอำนาจไม่ถึงเพียงนี้

รัฐสภาของระบอบประชาธิปไตยคือสถานที่ซึ่งสะท้อนความแตกต่างหลากหลาย (heterogeneity) ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคม แต่สมาชิกกลับพยายามทำให้รัฐสภาไทยกลายเป็นศูนย์กลางของความเหมือนลงรอยเดียวกัน (homogeneity)

คงจะด้วยเงื่อนไขเดียวกันที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยก็เป็นประชาธิปไตยเชยๆ ไม่ต่างจากเผด็จการ

เข้าใจได้ไม่ยากว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการรักษา “ศักดิ์ศรี” ของสภาให้สูงส่ง เพราะสภากลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมอย่าง “ชอบธรรม” แต่ที่เข้าใจได้ยากกว่าคือ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่แทบหาความสำคัญแก่บทบาทของสภาไม่ได้เลย นอกจากเพื่อธำรงศักดิ์ศรีของภาพพจน์ตนเอง

อนุรักษนิยมไทยยังเป็นมุซาชิ ผู้ถือดาบยาวป้องกันศักดิ์ศรีของตนเอง แล้วลอยเรือหายไปในอาทิตย์อัสดง แต่เมืองไทยไม่ได้เป็นชายหาดอันโดดเดี่ยว หากเป็นสังคมที่ผู้ร้ายอาจซื้ออาวุธสงครามมาใช้ได้ง่ายดาย จนทำให้ซามูไรยาวของมุซาชิไม่อาจระคายผิวของผู้ร้ายได้ ที่สำคัญกว่านั้นเมืองไทยปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่สามัญชนซึ่งไม่สังกัดชนชั้นซามูไร ก็คิดว่าตนเองมีศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่า ส.ส.หรือมุซาชิ และต้องการปกป้องศักดิ์ศรีของตนเองไม่ใช่ด้วยดาบ แต่ด้วยกลไกกฎหมายที่ถูกใช้อย่างยุติธรรม และกลไกทางสังคมที่มีเสรีภาพและความรับผิดชอบ

แต่สภาของเรายังเต็มไปด้วยมุซาชิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image