คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ผู้ตรวจสอบเอกชน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ผมได้พูดคุยกับ คุณสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงบทบาทหน้าที่ของ “วิศวกร” ในฐานะ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขอเล่าสู่กันฟัง

บทบาทของ “บุคคลที่สาม” (Third Party) ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2535) ไม่ได้พูดถึงบทบาทของวิศวกรโดยตรง เพียงแต่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกระเบียบกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรรวมทั้งจัดทำรายงานรับรองหรือจัดการตรวจสอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เท่านั้น

ต่อมา แม้จะมีการออกระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “มาตรา 9” เมื่อปี พ.ศ.2557 เป็น “ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบพิจารณาเอกสารและข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานรับรองแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2557” ที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของวิศวกรแล้วก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวนี้กระทำได้เพียงการตรวจเอกสารก่อนยื่นขออนุญาตเท่านั้นเอง

พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบาทและหน้าที่ของ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” (Third Party) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการปรับแก้ “มาตรา 9” เสียใหม่ โดยการกำหนดบทบาทหน้าที่ของ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ให้มีหน้าที่ตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรและรับรองการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบกิจการโรงงาน (Self Declaration) รวมทั้งยังกำหนดให้ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” จะต้องมีใบอนุญาตจึงจะทำการตรวจสอบหรือรับรองได้ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ได้ เช่น วิธีการตรวจสอบ กำหนดเวลาในการตรวจสอบ การให้คำรับรอง รวมทั้งอัตราค่าบริการ เป็นต้น ซึ่ง “มาตรา 9” ที่แก้ไขตามกฎหมายโรงงาน ฉบับใหม่ (พ.ศ.2562) นี้ ก็มิได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ของวิศวกรไว้โดยตรง เช่นเดียวกับกฎหมายโรงงานฉบับ พ.ศ.2535

Advertisement

พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติของ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในนิติบุคคลที่เป็นผู้ตรวจสอบเอกชน ว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย

สำหรับบทกำหนดโทษของ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” (Third Party) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 นี้ ได้กำหนดไว้ 2 ประการ ทั้งโทษทางปกครองและโทษทางอาญา ดังนี้

(1) โทษทางปกครอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตือน การพักใช้ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองของผู้ตรวจสอบเอกชน หากกระทำไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 9/5 และ มาตรา 9/6

Advertisement

(2) โทษทางอาญา เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ตรวจสอบเอกชน กระทำหรือละเว้นการกระทำในสิ่งที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่มีใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง หรือจัดทำรายงานผลการตรวจสอบหรือรับรองอันเป็นเท็จ ก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่อีกไม่ช้าไม่นาน วิศวกรก็จะมีงานทำเพิ่มมากขึ้นในฐานะของ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” ตามกฎหมายโรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image