ภาคใต้ ภายใต้รัฐบาลเรือเหล็ก กับการหลุดพ้น และแช่แข็งที่ยาวนาน : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

คณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2 ได้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนห่วงใยมากๆ คือ การบริหารเศรษฐกิจในภาคใต้อย่างไร

อะไรคือยุทธศาสตร์ฟื้นฟูภาคใต้

ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะเป็นคาบสมุทร มีทะเลขนาบ 2 ด้าน คืออ่าวไทยและทะเลอันดามัน ภาคใต้มี 14 จังหวัด รวมพื้นที่ 70,715 ตร.กม. ภาคใต้มีภูเขาตะนาวศรีทอดยาวจากภาคตะวันตกของไทย จากจังหวัดกาญจนบุรีลงมาทางใต้กั้นไทยกับพม่า /ภูเขาสันกาลาคีรี ทอดยาวในจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส กั้นไทยกับมาเลเซีย /ภูเขาภูเก็ตอยู่ในเขตพื้นที่ จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต /ภูเขานครศรีธรรมราชอยู่แกนกลางของภาคใต้ มีพื้นที่ราบยาวขนานระหว่างภูเขาและชายฝั่งแคบๆ ที่ราบด้านอ่าวไทยเป็นที่ราบชายฝั่งยกตัว ด้านตะวันตกเป็นที่ราบแบบยุบตัว ภาคใต้มีชายฝั่งทะเลยาว 1,825 กม. เป็นฝั่งตะวันออกยาว 960 กม. ด้านตะวันตกยาว 865 กม.

ลักษณะภูมิอากาศภาคใต้
ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) คือมีฝนตกชุกสลับกับฤดูแล้งสั้นๆ ภาคใต้ไม่มีฤดูหนาว เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ฝนตกชุกตลอดทั้งปี จังหวัดที่มีฝนตกชุกที่สุด คือ ระนอง และจังหวัดที่มีฝนตกน้อยที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี

Advertisement

ทรัพยากรธรรมชาติทางภาคใต้
1.ทรัพยากรดิน
ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มต่ำ (พรุ) มีน้ำท่วมขังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำใช้ปลูกข้าวและสวนผลไม้ ส่วนดินบริเวณที่สูงเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรัง เหมาะในการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน

2.ทรัพยากรน้ำ
ภาคใต้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่มีปัญหาในการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีแม่น้ำสายสั้นๆ ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ส่วนใหญ่จะใช้น้ำในการขุดเจาะบ่อบาดาลและได้จากเขื่อนต่างๆ ได้แก่ เขื่อนคลองหลา จังหวัดสงขลา เขื่อนปัตตานี จังหวัดปัตตานี เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา แม่น้ำที่สำคัญ คือแม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง แม่น้ำโกลก แม่น้ำเทพา

3.ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ในภาคใต้เป็นป่าดิบชื้นตามเทือกเขาและป่าชายเลน จังหวัดที่มีป่าไม้มากที่สุดคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นป่าแพะ ป่าโศก ขึ้นปะปนกับทุ่งหญ้าสะวันนา ไม้ที่สำคัญของภาคใต้ คือ ไม้เบญจพรรณ และไม้จากป่าชายเลนแต่ปัจจุบันป่าไม้ในภาคใต้เหลือน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการทำไร่เลื่อนลอย เผาป่าเพื่อปลูกยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน

4.ทรัพยากรแร่ธาตุ
ภาคใต้ มีแร่ธาตุหลายชนิด ดังนี้
-แร่ดีบุก พบมากที่สุดในภาคใต้และของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแร่ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด
-แร่พลวง พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
-แร่ทังสเตน พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
-ทองคำ พบที่อำเภอโม๊ะโต๊ะ จังหวัดนราธิวาส และที่จังหวัดชุมพร
-แร่ฟลูออไรด์, ยิปซัม, ดินขาว พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-ถ่านหิน พบที่กระบี่และสุราษฎร์ธานี
-น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติพบที่อ่าวไทย

5.พืชเศรษฐกิจในภาคใต้

5.1 ยางพารา
เป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาค มีพื้นที่ปลูกประมาณ 11 ล้านไร่ เป็นส่วนยางพันธุ์ดีประมาณ ร้อยละ 92 ของพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ สามารถผลิตยางพาราได้ประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตยางทั้งประเทศ จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ สงขลา รองลงมาได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส และยะลา ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกน้อยที่สุด คือระนอง ตลาดการค้ายางที่สำคัญได้แก่ หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ยะลา และภูเก็ต ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกต่างประเทศ โดยมีตลาดรับซื้อที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการจำหน่วยในลักษณะยางแผ่นรมควันมากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ในการกำหนดราคาซื้อ ทางโรงรมอิงราคารับซื้อของผู้ส่งออก ซึ่งอิงราคา F.O.B. ซึ่งตลาดสิงคโปร์/ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ยางมีแนวโน้มลดต่ำลงมาตลอด หลังจากที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2531 แต่ยางเป็นพืชที่ผูกยึดกับการเมืองเกือบทุกรัฐบาล จะแก้ปัญหาราคายาง คือใช้วิธีประกันราคา (ใช้เงินภาษีประชาชน) มาสต๊อกยาง

5.2 ข้าว
การปลูกข้าวในภาคใต้กระจายอยู่ทั่วทั้งภาค แต่ผลผลิตมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภาคอื่น เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพต่ำและผลิตได้น้อย ประมาณปีละ 0.9 ล้านเมตริกตันข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการข้าวเพื่อบริโภคสูงถึงปีละประมาณ 1.6-1.7 ล้านเมตริกตันข้าวสาร จึงทำให้ต้องการนำเข้าข้าวจากภาคอื่นปีละประมาณ 1.0 ล้านเมตริกตัน แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยมีพื้นที่ปลูกรวมกันถึงร้อยละ 66 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งภาคใต้ และผลิตข้าวรวมกันประมาณร้อยละ 61 ของทั้งภาค อย่างไรก็ตามในระยะหลังผลผลิตข้าวในภาคใต้มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่นาในหลายจังหวัดได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์และแปรสภาพไปทำกิจกรรมอื่น เช่น เป็นนากุ้ง สิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย และสถานที่ประกอบอาชีพอื่น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตร

5.3 ปาล์มน้ำมัน
เป็นพืชที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง โดยเริ่มมีการปลูกมาตั้งแต่ปี 2508 แต่ไม่แพร่หลายมากนัก ปี 2511 บริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและสวนปาล์มน้ำมัน ได้ทำสวนปาล์มน้ำมันที่อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และได้มีการจัดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขึ้น การปลูกปาล์มน้ำมันจึงเริ่มขยายตัวขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าพืชชนิดอื่น ประกอบกับน้ำมันปาล์มสามารถนำไปทดแทนน้ำมันพืชอื่นได้ดีและราคาถูก นอกจากนี้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบขยายตัวมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันปลูก 1.35 ล้านไร่ โดยมีการปลูกกันมากในจังหวัดกระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล แต่ด้วยภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี และอียู ได้ประกาศไว้ว่าในปี 2030 จะหยุดนำเข้าปาล์มน้ำมัน ถ้าเป็นจริงก็จะส่งผลต่อเกษตรกรไทยแน่นอน

5.4 กาแฟ
พื้นที่ปลูกกาแฟในภาคใต้มีประมาณ 4-5 แสนไร่ หรือประมาณร้อยละ 92 ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งประเทศ จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในภาคใต้ คือ ชุมพร รองลงมาได้แก่ สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ และนครศรีธรรมราช พันธุ์ที่นิยมปลูกมากในภาคใต้ คือ พันธุ์โรบัสต้า ผลผลิตกาแฟในภาคใต้มีประมาณปีละ 65,000-80,000 เมตริกตัน ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ อุปสรรคสำคัญของชาวไร่กาแฟที่มักจะประสบอยู่เป็นประจำคือ การตลาด เนื่องจากราคากาแฟไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตกาแฟในตลาดโลก

5.5 ประมง
การทำประมงในภาคใต้มีทั้งประมงน้ำจืด ประมงทะเลและประมงชายฝั่ง แต่การทำประมงทะเลมีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากภาคใต้มีฝั่งทะเลเป็นแนวยาวทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก การทำประมงทะเลจึงมีในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดยะลาและพัทลุงที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลใหญ่

ในระยะที่ผ่านมา ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้มีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการที่ชาวประมงได้พัฒนาเครื่องมือประมงให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย สามารถออกไปจับสัตว์น้ำได้ไกล

อย่างไรก็ตาม อัตราเพิ่มได้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเพิ่มกว่า ร้อยละ 30 ต่อปี ในช่วงปี 2519-2521 เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา

ทั้งนี้เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลลดลง และการทำประมงนอกน่านน้ำประสบปัญหาประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า และอินโดนีเซีย เข้มงวดจับกุมเรือประมงที่ล่วงล้ำน่านน้ำมากขึ้น แรงงานลูกเรือที่มีถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออพยพกลับถิ่นฐานมากขึ้น ประกอบกับทางภาคตะวันออกและภาคกลางมีการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ทำให้แรงงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคลื่อนย้ายมาภาคใต้น้อยลง ส่งผลให้เรือประมงบางส่วนไม่สามารถออกทะเลได้ เพราะขาดลูกเรือ แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทนก็ตาม

นอกจากนี้ต้นทุนการทำประมงทะเลยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันซึ่งราคาสูงขึ้น ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทยเสื่อมโทรมลง ส่งผลให้การทำประมงของภาคใต้ลดลง การขยายพื้นที่ประมงใหม่ในภาคใต้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2530 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมคือ การขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญที่สุด รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประชาคมยุโรป ประกอบกับราคาอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 200-250 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2533 ได้เกิดปัญหามลภาวะน้ำเน่าเสียในบ่อกุ้ง บริเวณที่มีการเพาะเลี้ยงหนาแน่นในแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก โดยเฉพาะบางพื้นที่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงไปทางชายฝั่งด้านตะวันตกมากขึ้น โดยเลี้ยงมากที่จังหวัดตรัง บริเวณอำเภอกันตัง ปะเหลียน สิเกา และย่านตาขาว

รองลงมาได้แก่ จังหวัดสตูล พังงา กระบี่ และภูเก็ต การเลี้ยงกุ้งในภาคใต้เมื่อเทียบกับผลผลิตทั้งประเทศแล้วมีสัดส่วนสูงขึ้นร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งประเทศ

ภาคเหมืองแร่
แร่เป็นทรัพยากรที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของภาคใต้ ในอดีตเคยทำรายได้ในปีหนึ่งๆ นับหมื่นล้านบาท แต่นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา บทบาทของแร่ต่อเศรษฐกิจของภาคใต้มีน้อยลง เนื่องจากความต้องการใช้ดีบุก ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญของภาคใต้ลดลงมาตลอด อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก มีการใช้วัสดุอื่นทดแทนดีบุกมากขึ้น ประกอบกับเกิดวิกฤตการณ์ดีบุกในปี 2528 เมื่อตลาด The London Metal Exchange (LME) หยุดซื้อขายดีบุก ราคาดีบุกโดยเฉพาะที่กัวลาลัมเปอร์ตกต่ำ ส่งผลให้ราคาในประเทศต่ำลงไปด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ลดลงด้วย เหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการในภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นเหมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง แร่ที่ผลิตได้มีหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ ดีบุก ยิปซัม ทังสเตน ลิกไนต์ ฟลูออไรด์ แมงกานีส และพลวง

การท่องเที่ยว
ปัจจุบันรายได้หลักของภาคใต้มาจากการท่องเที่ยว ปีละ 3-4 แสนล้านบาท จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง ส่วนการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์+ธรรมชาติ คือจังหวัดพัทลุง ส่วนสงขลา 5-10 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบรุนแรงที่สุด (อำเภอหาดใหญ่) นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์มีจำนวนลดลง และที่เป็นข้อกังขาว่า รายได้ปีละ 3-4 แสนล้าน เป็นรายได้ให้กับคนใต้หรือภาคใต้หรือเปล่า

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ อัตลักษณ์ ทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยความเชื่อ ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี จึงไม่ว่านักการเมือง ทหาร หรือแม้แต่ข้าราชการประจำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ อาจด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ของไทยจึงล้าหลังมากกว่าทุกๆ ภาค เพราะไม่เคยคิดอยู่บนฐานข้อเท็จจริงของทรัพยากรธรรมชาติ และที่ตั้งของภาคใต้ กรอบความคิดในการพัฒนาภาคใต้ จึงอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมๆ

วิสัยทัศน์ของนักการเมืองอาชีพและเก่าแก่ยาวนานที่สุดของภาคใต้ ก็ก้าวไกลได้ไม่เกิน “คนของเรา พรรคของเรา” นั่นเอง ครั้นพอยางพาราราคาวิบัติ สภาพอเนจอนาถของพี่น้องชาวใต้ก็อย่างที่เห็นๆ และแผนเก่ากำลังขุดเอามาใช้ คือ ประกันราคายางด้วยเงินภาษีของประชาชน กก.ละ 60-65 บาท แต่แผนพัฒนาภาคใต้เชิงยุทธศาสตร์แทบไม่มีการขยับเขยื้อนเลยในรอบ 30 ปี แม้ในช่วงการเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่พรรคนี้เป็นพรรคของคนใต้มาตลอด 40-50 ปี และพรรค ปชป.และก็พยายามผลักดัน ทุ่มเทในการพัฒนาภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือน ปชป.คิดไม่ทันกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคม ปลายปี 2558 ได้มีความพยายามของกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นหัวคิดก้าวหน้า เช่นกลุ่มคลองไทย ที่พยายามเปิดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ในระยะยาวด้วยการขุดคลองจากจังหวัดกระบี่ ผ่านจังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปออกทะเลอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แต่โครงการดังกล่าวยังได้แค่ฝันซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ฝัน

แต่ฝันอาจจะเป็นจริง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 สมาคมคลองไทยฯ ได้เปิดเวทีรับฟังนักการเมือง จากทุกพรรคในภาคใต้และบางพรรคในภาคอื่น ได้รับฟังข้อมูลจากสมาคมคลองไทยฯ พร้อมแนวคิดแนวทางของสมาคม ถึงเวลาแล้วที่ขับเคลื่อนคลองไทย คือ ให้รัฐบาลศึกษาเชิงลึก ฝันจะเป็นจริงเมื่อพรรคพลังชาติไทย กับ พรรคประชาชาติ ได้ยื่นญัตติคลองไทยเข้าสู่สภา

ฝันจะเป็นจริงเมื่อ ส.ส.จากพรรค ปชป. พรรคภูมิไทย พรรค พปชร. ส่วนหนึ่งเห็นด้วยให้มีการตั้งกรรมการศึกษาเชิงลึก โครงการนี้ถ้าพรรค ปชป.+พปชร. ร่วมขับเคลื่อนอีกแรง คลองไทยก็จะเดินหน้าไปได้

คลองไทย ถ้าเปรียบเทียบขนาดโครงการในภาคอื่นๆ เช่น EEC เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กับขนาดโครงการของภาคใต้ ก็คงจะเห็นว่ามันแตกต่างประดุจฟ้ากับเหวแค่ไหน ทั้งๆ ที่ศักยภาพของพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือดีไม่ดีภาคใต้มีศักยภาพมากกว่าด้วยซ้ำ

การฝากความหวังไว้กับยางพารา ราคาปาล์ม น่าเชื่อว่าชีวิตพี่น้องคนใต้มีแต่รอวันตายในกาลข้างหน้า ยิ่งมิใช่รัฐบาลมืออาชีพด้วย ย่อมไม่แตกต่างไปจากผีในป่าช้ารอวันเผา กลบฝังอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องของเรื่องก็คือ ประเทศในอียูและอเมริกาจะนำยางเทียมมาทดแทนยางพารา ประเทศกลุ่มอียูประกาศว่า ในปี 2030 จะหยุดใช้ผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน

สมควรแล้วที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมของภาคใต้จะคิดเอง วิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า ทำไมในห้วง 3 ทศวรรษมานี้ การพัฒนาเชิงโครงการขนาดใหญ่ไม่เคยเกิดขึ้นกับภาคใต้ของไทยเลย โทษการเมือง ข้าราชการหรือทหารคงไม่ได้ แต่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองถึงจุดอ่อน จุดแข็ง หรือศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคว่าควรจะมุ่งไปทางด้านไหนเป็นหลักก่อน หรือแม้แต่การจะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย + สิงคโปร์ + พม่า อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สปต.) บอกว่า คนใต้ทั้งในถิ่นและต่างถิ่นควรร่วมมือร่วมใจกันคิดเองทำเอง ในการผลักดันโครงการของภาคใต้ผ่านส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจของภาคใต้วันนี้อยู่ในขั้นวิกฤต

ดังนั้น ในอนาคต ชาวใต้ควรหันมาพึ่งตนเองทั้งในส่วนของการแก้ปัญหาปากท้องในชีวิตประจำวันและปัญหาความอยู่รอดในอนาคต ซึ่งก็คือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้เชิงแผนแม่บทหรือยุทธศาสตร์ ส่วนของโครงการที่เป็นรายละเอียดการศึกษาวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ น่าที่จะได้หยิบยกมาผนวกไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ดังกล่าวด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ เช่น ถนน ทางรถไฟ หรือแม้แต่สนามบิน ที่ได้ข่าวคนภาคใต้กำลังลุ้นเชิงผลักดันสนามบินอีก 2 แห่ง คือ สนามบินเบตง จ.ยะลา กับสนามบินพัทลุง

โครงสร้างพื้นฐานคือสนามบิน เป็นเรื่องของอนาคตรับรองได้ใช้แน่นอน เพราะโลกอนาคตการบินพาณิชย์เป็นสิ่งจำเป็นและขาดเสียไม่ได้ เพราะแม้กระทั้งเวลานี้บริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งรอไฟเขียวจากรัฐบาลไทย ในการเปิดอนุญาตบริษัทขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบินขนาดเล็ก (private jet) เท่าที่คุยกับคนในวงธุรกิจการบิน เรายังมีปัญหาเรื่องวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจการบินที่สัมพันธ์กับข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ควรได้รับการปรับปรุงอยู่มาก

แน่นอนว่าการนำโลกสมัยใหม่ลงในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนหนึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แต่เทียบกับการไม่พัฒนาเลย เหมือนการแช่แข็งการพัฒนาภาคใต้ในรอบ 30 ปี ประชาชนในท้องถิ่นคงตัดสินใจได้ โดยเฉพาะบทเรียนราคาแพงจากวิบัติทางเศรษฐกิจแบบที่เห็นๆ ในปัจจุบัน

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีทำ ขับเคลื่อนโครงการคลองไทยอย่างจริงจังเสียที คือ ร่วมกันผลักดันให้มีการศึกษา ค้นหาความจริงว่าคุ้มทุนหรือไม่ มีประโยชน์ต่อคนใต้ คนไทยทั้งชาติหรือไม่ โดยเฉพาะพรรค ปชป.ที่เป็นพรรคคู่กับภาคใต้ คู่กับคนใต้มาอย่างยาวนาน พรรค ปชป.ไม่ควรทิ้งโอกาสที่ได้ผลักดันและทำงานร่วมกับคนใต้กลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการให้มีการศึกษาคลองไทยเชิงลึก ขณะเดียวกับพรรค พปชร. พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังชาติไทย ไม่ควรปฏิเสธที่จะช่วยคนใต้คิดโครงการนี้

หยุดขลาดกลัวเถอะ ขลาดกลัวจนภาคใต้ตายสนิททางเดียว

หยุดขลาดกลัว การแบ่งแยกดินแดน คลองไทยคือเบ้าหลอมลูกหลานชายแดนใต้ให้มีงานทำ มีรายได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

หยุดขลาดกลัว ว่าไม่มีเรือมาวิ่งถ้ามีคลองไทย (งานวิจัยของมาเลเซีย ค่าใช้จ่ายของเรือ 1 วัน /ลำ ค่าใช้จ่าย 3.5 ล้านบาท ที่ประหยัดได้ถ้าผ่านคลองไทย)

หยุดขลาดกลัว ว่าคนไทยไม่เก่งในการบริหารคลอง

หยุดคิดแบบเดิมๆ จนภาคใต้ล้าหลัง

หยุดเอารายได้ 3-4 แสนล้านจากการท่องเที่ยวมาสกัดกั้นการพัฒนาด้านอื่นๆ ในภาคใต้ และรายได้ 3-4 แสนล้าน ได้กับคนใต้ จริงหรือ?

ถึงเวลาแล้วยังครับคนใต้ คิดและทำเพื่อคนใต้

ถึงเวลาแล้วยังที่ ส.ส ใต้ ทุกพรรคจับมือกัน “ทำคลองไทย”

หรือเราจะยอมให้เทคโนโลยีที่ไร้ความปรานี ไร้เมตตา ทำลายเรา เพราะเราไม่หลุดพ้นความคิดแบบเดิมๆ หลุดพ้นความขลาดกลัว อย่าลืมว่า เราได้กำอนาคตและโอกาสไว้ในอุ้งมือแล้ว การสร้างความมั่งคั่ง ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง คลองไทย คือ ทางเลือกใหม่จริงหรือ

เราต้องมาช่วยกันหาความจริง

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ
กรรมการที่ปรึกษา โรงเรียนดาวนายร้อย
กรรมการยุทธศาสตร์ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image