รบ.บิ๊กตู่-ฝ่ายค้าน ประเดิม ประลองยุทธ์ บนสังเวียน รัฐสภา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณปรับตัวให้กับสถานการณ์ “ประชาธิปไตย” 2 จังหวะเวลา

จังหวะเวลาแรกคือ คำแถลงปิดฉาก คสช. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์แล้ว คสช.ต้องสิ้นสภาพ

คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ เน้นย้ำถึงความสำเร็จร่วมกัน และพยายามเดินหน้าต่อไปด้วยกัน

เน้นย้ำการเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

อีกจังหวะเวลาหนึ่งเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ และมาประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดการประชุม ครม.ว่า ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว ถือเป็นมงคลแก่ ครม.ทุกคน ขอแสดงความยินดีกับทุกคน ที่ได้เข้ามาร่วมงานกัน โดยตั้งใจว่าจะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นการทำงานจะจัดสรรหน้าที่ในความรับผิดชอบ ในแต่ละภาคและกลุ่มจังหวัดให้กับทุกคนอีกครั้ง เพื่อให้การทำงานและการดูแลประชาชนเกิดความทั่วถึงทุกกลุ่มทุกฝ่าย ส่วนนโยบายทางการเมือง เป็นเรื่องของแต่ละคน

“นายกฯจะดูแลทุกอย่างให้ดีที่สุด ย้ำอีกครั้งว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นเกียรติ และมีความสุข ที่ได้ทำงานกับพี่ๆ ทุกคน ห้องประชุมแห่งนี้ รอทุกท่านมาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับตนเองก็รอทุกคนมาหลายปีแล้วเช่นกัน …

Advertisement

“วันนี้มีทั้งรัฐมนตรีเก่าและใหม่ ขอให้ทุกคนเดินหน้าในการทำงานร่วมกัน ด้วยความรักความสามัคคี ไม่แบ่งแยกและดูแลทุกอย่างตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไว้”

หลังจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์แล้ว กำหนดการต่อไปคือการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ

นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่มีเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้ได้หลายประการ

หนึ่ง คือ ต้องนำนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรคหาเสียงเอาไว้มาปรับให้เป็นนโยบายของรัฐบาลให้ได้

หนึ่ง คือ ต้องร่างนโยบายให้ถูกตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้อธิบายถึงงบประมาณที่ต้องใช้ และแหล่งที่มาของงบประมาณ ทั้งนี้ ต้องเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูป

นอกจากนี้ การแถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะต้องแถลงต่อหน้ารัฐสภาที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

กล่าวเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

และยังมีฝ่ายที่คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค

บัดนี้ 7 พรรคฝ่ายค้านจะเผชิญหน้ากับ พล.อ.ประยุทธ์ในสภา

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ประชุมหารือและกำหนดท่าทีในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลกันแล้ว โดยจะอภิปรายนโยบายไปพร้อมๆ กับคุณสมบัติของรัฐมนตรี

รวมถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านได้ขอ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา อนุญาตให้ใช้เวลาการอภิปราย 3 วัน คือ วันที่ 24 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม

และนายชวนให้ความเห็นแล้วว่า กำหนดเวลาไว้วันที่ 25-26 กรกฎาคม

ถ้าจะขยายไปอีกวันก็ไม่ขัดข้อง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเนื้อหาการอภิปรายว่า แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านการเมือง 3.ด้านความมั่นคง 4.ด้านสังคม 5.ด้านการศึกษา และ 6.ด้านการกระจายอำนาจ

ขณะที่การอภิปรายต้องพาดพิงไปถึงตัวรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายการอภิปรายถึง พรรคเพื่อไทยบอกว่า แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่ม 3 ป.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

กลุ่มที่ 2 กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างอยู่ คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีคดีกบฏและเคยร่วมเดินขบวนล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

และ กลุ่มที่ 4 กลุ่มรัฐมนตรีที่ถือหุ้นสื่อ ประกอบด้วย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีหลายคนได้ทยอยกันออกมาชี้แจงต่อสังคมแล้ว แต่รัฐมนตรีอีกหลายคนยังไม่ได้ชี้แจง

การประชุมสภาที่กำลังจะถึง จึงเป็นเวทีที่ให้เวลาและให้โอกาสทั้งสองฝ่าย

ให้โอกาสฝ่ายค้านได้ถาม ให้โอกาสฝ่ายรัฐมนตรีได้ตอบ

เพียงแต่เวที “แถลงนโยบายรัฐบาล” ครั้งนี้อาจจะไม่คล้ายกับการแถลงนโยบายครั้งก่อนๆ

ทั้งนี้ เพราะเวทีนี้มีลักษณะคล้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ไม่มีการลงคะแนนเสียง

สําหรับความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่กำลังดำเนินการอยู่ แม้จะดูดุดัน แต่คงไม่มีเจตนาจะเห็นรัฐบาล้มพังพาบไปในทันที

ยังไม่มีใครอยากจะเลือกตั้งอีกครั้งในเร็ววัน

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลยอมบรรจุนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะทำให้เห็นผลภายใน 1 ปี

ฝ่ายค้านเองย่อมอยากเห็นยุทธวิธีของรัฐบาลที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้

ประกอบกับเหตุผลในการนำเสนอนโยบาย และความเชื่อมั่นในความถูกต้องของรัฐมนตรี

ทุกอย่างถ้าไม่เกิดข้อผิดพลาดบกพร่อง รัฐบาลย่อมสามารถอยู่บริหารประเทศได้

ช่วงเวลาเริ่มแรกเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสของรัฐบาลในการแสดงฝีมือ

แก้ไขปัญหาปากท้อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดินหน้าปฏิรูปประเทศ สะสางความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ

ถ้ารัฐบาลทำผ่านเกณฑ์ย่อมเรียกศรัทธาประชาชนได้

หากทำให้ประชาชนศรัทธาได้ รัฐบาลก็อยู่ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image