ที่เห็นและเป็นไป : ‘ประชาธิปไตย’ ยังแตกต่าง : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ดูจะเป็นไปไม่ได้แล้วที่ประชาชนของประเทศไทยเราจะยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างเต็มอกเต็มใจ และนี่เองที่เป็นปัญหาหลักของความสุขสงบในประเทศชาติ

การอยู่ร่วมกันจะชุมชนขนาดไหน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงประเทศและโลก ย่อมต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกัน

การยอมรับในกติกาอย่างเต็มอกเต็มใจ อันหมายถึงยินดี หรืออย่างน้อยยอมรับที่จะถูกลงโทษหากละเมิดกติกา เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสงบสุข

กติกาเป็นหลักยึดที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเรียบร้อย อันเป็นฐานของความสุขในสังคม

Advertisement

แต่ดูเหมือนว่าสภาวะเช่นนั้นยากจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเราเสียแล้ว

กติกาโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการ การปกครองประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

ประเทศไทยเราผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง ในความหมายของการกลับคืนสู่ “ประชาธิปไตย”

ทว่ากลับเป็น “ประชาธิปไตย” ที่เริ่มต้นสร้างความแตกแยกให้คนในชาติตั้งแต่การให้ “นิยาม” อธิบายความหมายกันเลย

แน่นอนว่าฝ่ายที่ครองอำนาจ เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน คงมีมุมมองเหมือนที่ “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบกได้อธิบายคือ

“เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยแล้ว”

ผบ.ทบ.ย้ำว่า “ที่สำคัญ ผมดีใจที่หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ได้ส่งหนังสือแสดงความยินดี เป็นข้อสังเกตว่าการตอบรับจากอารยประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย”

เป็นความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งต่อกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก แม้แต่นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลเองที่ยังเห็นว่าการอยู่ร่วมกันในกติกาเช่นนี้ยังเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

คำวิจารณ์ที่มีต่อ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นกติกาหลัก กติกาสูงสุดของการอยู่ร่วมกันยังมีความเห็นต่าง หรือขัดแย้งในความคิดที่รุนแรง

มุมมองที่ว่าเป็นการจงใจเขียนกติกา และใช้อำนาจบังคับให้ประกาศใช้ ทั้งที่เป็นกติกาที่ชัดเจนถึงความไม่เป็นธรรม กติกาให้เอื้อความได้เปรียบ และอภิสิทธิ์ให้กับคนกลุ่มหนึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในชาติ ไม่เพียงแต่ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ส่งเสียงไม่ยอมรับ แม้แต่คนกลางๆ หรือกระทั่งนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลก็เรียกร้องให้มีการแก้ไข

แต่อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากกติกาการอยู่ร่วมกัน ใช่จะมีผู้ที่เห็นด้วยทั้งหมด

ยังมีคนอีกไม่น้อยที่เห็นต่าง

มีการ “ให้ความหมายของความเท่าเทียมไปในทางที่จะเป็นต้นเหตุของปัญหาการอยู่ร่วมกัน”

มุมมองต่อชีวิตอย่างแบ่งแยก แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่เห็นความเป็น “ภราดรภาพ” เป็นความคิดความเชื่อที่ทรงพลังต่อการกำหนดความเป็นไปของการอยู่ร่วมกันไม่น้อย

และเป็นเหตุของ “การกำหนดกติกาที่คนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบสร้างอภิสิทธิ์ชน”

“กติกาการอยู่ร่วมกันที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย” คือเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างสุขสงบ

แต่เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นต้นทางที่ก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ

และทั้งที่ทุกคนทุกฝ่ายรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับประเทศ

กลับละเลยที่จะหาทางจัดการ

ความยุ่งยากของการอยู่ร่วมกันจึงมีให้เห็นไม่รู้จบ

ประเทศที่อยู่อย่างยอมรับกติการ่วมกันไม่ได้ ย่อมไม่สุขสงบ

ประเทศที่ไม่สุขสงบ ประชาชนจะมีแก่ใจร่วมพัฒนาชาติได้หรือ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image