พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ว่าด้วยความแตกแยกทางการเมืองแบบแบ่งขั้ว

เรื่องที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ยังเป็นเรื่องที่ผมยังคิดไม่ตก และยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ จึงได้แต่คิดออกมาดังๆ ก่อนในฐานะบททดลองเสนอว่าด้วยการทำความเข้าใจความแตกแยกทางการเมือง

ผมคิดว่ามาจนถึงวันนี้เริ่มมีคนที่สนใจเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง (political conflict) ในฐานะเรื่องของการแตกแยกทางการเมืองแบบแบ่งขั้ว (political polarization) มากขึ้น

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองนั้นอาจจะมีหลายเรื่องหลายระดับ ตั้งแต่ความขัดแย้งในพรรค ขัดแย้งในบ้าน หรือความขัดแย้งแบบที่ยกระดับไปถึงขั้นความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมืองในเชิงกายภาพ เช่น การปะทะ การปราบปราม หรือความรุนแรงในระดับคำพูดในโลกออนไลน์และออฟไลน์

แต่เมื่อพูดเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่มีลักษณะแตกแยกแบ่งขั้วด้วยนั้น ผมว่าปัจจุบันก็มีการพูดเรื่องนี้กันเยอะ และเริ่มมีความเข้าใจที่ซับซ้อนในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

อย่างน้อยเริ่มมีคนเข้าใจว่าความเลวร้ายของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่มีคนกลุ่มหนึ่งที่เลวเพราะโกง

แต่เริ่มเห็นความเลวร้ายทางการเมืองในมิติใหม่ที่ไม่ใช่แค่การมาชี้หน้าด่ากันว่า มึงก็โกง

แต่เป็นเรื่องที่เริ่มเห็นแล้วว่าความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

Advertisement

และไม่ใช่แค่มีคนสร้างมันให้เกิดขึ้น

แต่สิ่งสำคัญก็คือ มีคนใช้ประโยชน์ความแตกแยกที่เกิดขึ้นนั้น และคนที่หาประโยชน์จากความแตกแยกแบ่งขั้วแบบแบ่งเขาแบ่งเรานั้นอาจไม่ใช่แค่นักการเมือง แต่อาจหมายถึงคนที่ยึดอำนาจ และอาจหมายถึงคนที่แสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์พิเศษ ในฐานะของ “การเมืองในสถานการณ์พิเศษ” มากกว่า “การเมืองในสถานการณ์ปกติ”

ลองกลับไปนึกดูดีๆ นะครับ ไม่ว่าจะเรื่องของการปรองดอง ความสมานฉันท์ มาจนถึงการอ้างถึงการเปลี่ยนผ่าน เรื่องเหล่านี้ถูกนำเสนอขึ้นมาจากคนกลุ่มไหนกันแน่ ที่สำคัญคนกลุ่มที่อ้างถึงเรื่องเหล่านี้และนำเข้ามาเป็นประเด็นทางการเมืองไม่ใช่คนกลุ่มที่เสียเปรียบและเสียประโยชน์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเลย

และการนำเสนอประเด็นเหล่านี้กลับทำให้คนที่อ้างและยึดกุมประเด็นเหล่านี้กลับมีสถานะทางการเมืองที่เหนือกว่าคนกลุ่มอื่นๆ และมักจะมีลักษณะลอยตัวเหนือความขัดแย้ง ในฐานะคนกลางเพื่อเข้ายึดกุมอำนาจและยึดกุมความคิด-ทัศนคติทั้งสิ้น

อีกเรื่องที่สำคัญในการเข้าใจเรื่องของความแตกแยกในแบบแบ่งขั้วนั้นก็คือ การแตกแยกแบบแบ่งขั้วนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดในทุกหย่อมหญ้าและในทุกมิติ เพราะทุกวันนี้ความแตกแยกนั้นมีอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คนที่แตกแยกกันอาจจะไม่จำเป็นจะต้องแบ่งขั้วถึงขั้นที่อยู่กันแทบจะไม่ได้

และถ้าไม่โลกสวยจนเกินไปนัก ความแตกแยกเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง และมากกว่าเรื่องของความแตกต่างเฉยๆ แต่ความแตกแยกอาจจะไม่นำไปสู่การแบ่งขั้วในระดับที่แยกเขา-แยกเราชัดเจนขนาดที่รู้สึกว่าสังคมไม่มีอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันในด้านหนึ่ง

และอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้สึกว่า ความแตกแยกในสังคมถึงขั้นแบ่งเขา-แบ่งเรานั้นจะต้องจบลงโดยการผลักคนอีกกลุ่มออกจากประเทศ หรือต้องทำลายกวาดล้างไปให้หมดจากประเทศนี้

ความขัดแย้งแตกแยกถึงระดับแบ่งขั้วจะทำงานได้อย่างชัดเจน เมื่อความแตกแยกแบ่งขั้วมันมีความขัดแย้งแตกแยกในระดับรากฐานของสังคม (fundamental rift) หรือหมายถึงความขัดแย้งแตกแยกหลักในสังคมนั้นๆ ซึ่งในแต่ละสังคมอาจมีไม่ตรงกัน

ในสังคมไทยนั้นสิ่งที่ค่อนข้างจะชัดเจนในเรื่องของความขัดแย้งหลักในสังคมอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับชนชั้น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะเป็นความขัดแย้งแตกแยกหลักบางอย่างที่ก่อเกิดมากับกำเนิดชุมชนทางการเมืองใหม่ (หรืออาจจะมาจากความขัดแย้งเดิมที่มีในสังคม) ซึ่งผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้มันจะใช่จริงๆ หรือเปล่า

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้จะมาถกเถียงแบบอัตวิสัย หรือภาวะวิสัยในแง่ที่ต้องมากางตำราเถียงกันถึงการวิเคราะห์ความขัดแย้งแตกแยกหลักทางสังคมที่หลายคนคุ้นเคย แต่ถ้าลองพิจารณากันอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยนับตั้งแต่อดีตถึงขั้นแบ่งขั้วและอยู่กันไม่ได้นั้นไม่ได้เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชนชั้น เพศสภาวะ และสีผิวที่ในตำราตะวันตก

อาจจะต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่าการแตกแยกแบ่งขั้วในสังคมไทยเป็นเรื่องที่วิเคราะห์ได้ไม่ง่ายนักว่าอะไรคือความแตกแยกขั้นพื้นฐาน แม้กระทั่งหากจะพูดถึงเรื่องของความแตกแยกเรื่องสถาบันที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องพื้นฐานนั้น ในแต่ละเฉดสีก็มีเรื่องของความเข้าใจและคาดหวังในเรื่องนี้ต่างกัน

ส่วนเรื่องความแตกแยกในเรื่องชาตินิยมก็ยังไม่เห็นว่าการพูดถึงความรักชาติและชังชาตินั้นจะเข้าใจตรงกันไปเสียหมด หนักจะเป็นไปในเรื่องของการกล่าวหาเสียมากกว่า

การที่จะมองว่าความขัดแย้งแบบสีเสื้อกลายเป็นความขัดแย้งในระดับรากฐานจริงหรือไม่ ในบางมิติก็พูดไม่ค่อยได้ เพราะบางคนก็เปลี่ยนสีหรือเลิกจะมีสี หรือมีหลายสีไปแล้วก็มี

แต่ทีนี้เราจะกล้าฟันธงไปเลยไหมว่าความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยที่มีอยู่นั้นอยู่ในระดับที่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้ประเทศอยู่ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ค่อยจะแน่ใจ เพราะสัญญาณหลายอย่างมันไม่ค่อยจะเป็นไปในทางนั้น วันๆ แต่ละฝ่ายก็ค่อนข้างระมัดระวังกันอยู่

หรือในอีกด้านหนึ่งเราจะอธิบายว่าความขัดแย้งแบ่งขั้วในระดับรากฐานของเรานั้นไม่มีเอาเสียเลย มีแต่ความขัดแย้งแบ่งขั้วแบบไม่รุนแรงมาก และซ้อนทับกันไปมาในหลายเรื่องราว บางคนก็อาจจะไม่ยอมรับในคำอธิบายนี้

เป็นไปได้ไหมที่เราจะบอกว่าความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยในระดับรากฐานนั้น เอาจริงๆ แล้วมี แต่เป็นความขัดแย้งแตกแยกในระดับรากฐานที่ระดับของชนชั้นนำทางการเมืองมากกว่าในระดับของประชาชน ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปมองอีกทีว่าไม่ใช่ว่าประชาชนจะไม่มีความแตกแยกขัดแย้ง

แต่ความขัดแย้งที่มีในระดับประชาชนมักจะเป็นความขัดแย้งที่แม้ว่าจะมี หรือไม่พอใจก็ต้องทนอยู่ๆ กันไป ทำมาหากินกันไป

ขณะที่ความแตกแยกขัดแย้งกันระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำนั้นแม้ว่าจะมี แต่ก็อาจจะต้องทนอยู่กันไป และต่อรองกันไปในแต่ละเรื่อง

จะมีแต่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกันเองนี่แหละที่อาจจะดูเหมือนกับว่าชนชั้นนำมีจำนวนไม่มากนัก แต่เมื่อขัดแย้งกันแล้วเอาประชาชนเข้ามาเกี่ยว แล้วเอาอุดมการณ์และความคาดหวังบางอย่างเขามาใส่เมื่อใด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนออกมาในลักษณะของการแบ่งแยกขั้วทางการเมือง ที่กว้างขวางไปกว่าความขัดแย้งแยกขั้วทางการเมืองแบบตำราพื้นฐานที่ทางหนึ่งเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งแบบชนชั้น เพศสภาวะ สีผิว ศาสนา และความขัดแย้งในแบบที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองสองพรรคแยกขั้วกัน

หรือถ้าเชื่อว่าความขัดแย้งแตกแยกถึงขั้นแบ่งขั้ววันนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ก็คงต้องถามกันจริงๆ ว่าจะถึงกับอยู่ไม่ได้จริงๆ หรือมันเป็นหน้าฉากของแรงตึงเครียดบางอย่างเท่านั้น ไม่ได้ลงไปในระดับรากฐานที่ถึงขั้นจะทำให้อยู่กันไม่ได้

แต่อาจมีพลังในแง่ของการขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนไปได้ในระดับหนึ่ง ในห้วงขณะจังหวะเวลาหนึ่งๆ ที่หลายสิ่งหลายอย่างมาบรรจบกัน

ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างกันบ่อยๆ ว่าความขัดแย้งที่มีมานั้นเป็นเรื่องของอดีตเป็นเรื่องของคนรุ่นที่แล้วที่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเราและเราไม่ต้องการทนอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้น แม้ว่าเรื่องนี้จะขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ไม่น้อย แต่ถามว่าในการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้นั้นได้ก้าวล่วงไปถึงการไล่ใครออกจากพื้นที่ทางการเมืองด้วยวิธีการนอกกติกาหรือเปล่า อันนี้ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าไม่ใช่ แต่ถ้าอีกฝ่ายละก็ไม่ค่อยจะแน่นัก ทั้งอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำที่ยังหาใครมาลงโทษไม่ได้

การพยายามทำความเข้าใจเรื่องการแบ่งขั้วและความแตกแยกขั้นพื้นฐานของสังคมไทยนี้บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก ยิ่งในลักษณะที่เกี่ยวข้องไปถึงยุคสมัยที่เรียกว่า “สังคมหลังความจริง” (post-truth society) เพราะพลังของเรื่องเล่า และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่พยายามจะคิดวิเคราะห์เรื่องความแตกแยกจนถึงขั้นแบ่งขั้วทางการเมืองนี้ก็เพราะความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองไม่เป็นคุณกับประชาธิปไตย แม้ว่าในสังคมประชาธิปไตยจะสามารถอยู่กับความแตกต่างและความแตกแยกได้ในระดับที่ดีกว่ารูปแบบการปกครองอื่น แต่จุดอ่อนของประชาธิปไตยในสังคมที่แตกแยกขั้นแบ่งขั้วและอยู่กันไม่ได้นั้น ก็ทำให้ประชาธิปไตยไม่ยั่งยืนและไร้คุณภาพได้ เพราะบางฝ่ายก็จ้องเอากติกาประชาธิปไตยมาบิดใช้เพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่บางฝ่ายก็ใช้หลักการประชาธิปไตยที่ไม่ยอมผ่อนปรนให้กับความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งที่มีจำนวนน้อยกว่า ทั้งในแง่ของความหลากหลาย และในแง่ทางยุทธศาสตร์ของการอยู่รอดของระบอบเอง

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้พยายามจะโลกสวย แต่เราควรจะเรียนรู้กันมาได้สักพักแล้วว่า ในบางสังคมนั้นคนกลุ่มมากอำนาจน้อย และคนกลุ่มน้อยอำนาจมาก เรื่องนี้ไม่ได้จะมาพูดเรื่องความถูกต้อง หรือธรรมชาติทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่หมายถึงความเป็นจริงทางการเมืองในระดับที่คนกลุ่มน้อยอำนาจมากทำได้ทุกวิถีทางที่จะอยู่ต่อ และบางครั้งการขัดแย้งกันเองของชนชั้นนำก็มีส่วนทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองนั้นแตกหักแบ่งขั้วได้

ขณะที่เผด็จการในบ้านเรามักอ้างเรื่องความแตกแยกขัดแย้งถึงขั้นแบ่งขั้วเข้ามาปกครอง และพยายามสลายความขัดแย้งโดยการปิดปากและกดทับความแตกแยกแบ่งขั้วให้สยบยอม แต่มักกระทำด้วยการตอกย้ำความแตกต่างแบ่งขั้วที่มีอยู่ และสร้างการแบ่งขั้วใหม่อยู่บ่อยครั้งด้วยพละกำลังและกฎกติกาใหม่ๆ และปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

หรือถึงขั้นที่มั่นใจและมุ่งมั่นที่จะอยู่ในอำนาจจนออกมาเปิดความขัดแย้งแตกแยกแบ่งขั้วใหม่ๆ ขึ้นเสียเอง หรืออาจจะยอมรับว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของขั้วความขัดแย้งเก่า

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่จะไม่มีทางออกเอาเสียเลย ส่วนหนึ่งก็คือการพยายามทำให้ความขัดแย้งแตกแยกอยู่ในเงื่อนไขของการเมืองแบบนโยบาย ที่เปิดให้คนนำเสนอและถกเถียงและเห็นต่างกันได้ แต่เมื่อดูความจริงในระบอบการเมืองวันนี้จะเห็นว่าเกมนโยบายนั้นไม่น่าจะมีความหมายเท่าไหร่ เพราะการไปพยายามจัดการกำหนดหลักการไว้ในยุทธศาสตร์ชาติจนกลายเป็นหลักที่มีไว้จัดการฝ่ายตรงข้ามได้ไม่ยาก

แต่ด้วยกติกาที่เปิดขึ้นมาอีกนิดหนึ่งจากห้าปีที่ผ่านมา การกลับสู่การเมืองในระบอบรัฐสภาที่ค่อนข้างไม่เท่าเทียมตั้งแต่การบังคับใช้การตีความกฎหมายที่ไม่สม่ำเสมอกันเท่าไหร่ในเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองบางคน และการตีความตัดสินข้อบังคับต่างๆ ที่หลายฝ่ายอาจเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้น ก็คงไม่น่าแปลกใจที่การประชุมสภาผู้แทนในสัปดาห์นี้ที่จะเป็นเรื่องการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาจะเป็นเรื่องที่คนในประเทศนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และอาจเป็นไปได้ว่า แทนที่จะเป็นการอภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะทำ ก็จะกลายเป็นเรื่องของการอภิปรายคุณสมบัติและที่มาของผู้ที่มีอำนาจในระบอบนี้ ส่วนจะมาอ้างความถูกต้องโดยอิงไปถึงสถาบันและโครงสร้างกฎหมายต่างๆ ก็จะยิ่งเห็นว่ากติกาห้าปีที่ผ่านมานี้ใครเป็นคนสร้างขึ้นมาเสียเป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลในรอบนี้จะเป็นเสมือนเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เป็นของรัฐบาลและระบอบที่ปกครองประเทศมาห้าปี เพราะผู้มีอำนาจหลายคนนั้นก็เป็นคนคนเดียวกัน นโยบายจำนวนมากก็สืบทอดต่อมา ดังนั้นคงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่เราจะพบกับความดุเดือดของบรรยากาศของการเมืองในช่วงนี้เป็นพิเศษ

แต่เราจะเห็นความขัดแย้งแตกแยกขั้นแบ่งขั้วปะทุออกมาอีกมากน้อยแค่ไหนในรอบนี้ก็ต้องดูกันไปครับ

หมายเหตุ – ผมได้ประเด็นบางส่วนมาจาก J.McCoy, T. Rahman and M.Somer. 2018. “Polarization and the Global Crisis of Democracy: Common Patterns, Dynamics and Pernicious Consequences for Democratic Polities. American Behavioral Scientist. 62:1, pp.16-42 และ M.Somer and J.McCoy. 2019. Transformations through Polarizations and Global Threats to Democracy. Annals of the American Academy. 681, 8-22

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image