ขี้ตามช้าง : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เพื่อนผู้รู้จักผู้คนกว้างขวางเพิ่งบอกไม่นานมานี้ว่า มือเศรษฐกิจของ คสช.ต่างเห็นว่า ระบบการเมืองแบบเผด็จการต่างหากที่อาจนำความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจมาแก่ประเทศได้ เพราะประชาธิปไตยคือความวุ่นวายอย่างที่เราเห็นอยู่ ซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขที่ใครอยากจะลงทุน หรือแม้แต่จะสร้างเงื่อนไขที่เหมาะแก่การลงทุนก็ทำได้ยากหรือทำไม่ได้เอาเลย

เรื่องนี้ไม่ทำให้แปลกใจแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ยินอย่างนี้จากนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการหรือใครก็ตามในโลกนี้ที่เชื่อว่า คำตอบที่ถูกต้องมีอยู่คำตอบเดียว มักโน้มเอียงไปศรัทธาระบอบเผด็จการเสมอ ไม่โดยรู้ตัว ก็โดยไม่รู้ตัว

แต่ในโลกที่เป็นจริง มีประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และมีประชาธิปไตยที่ประสบความล้มเหลว ในขณะที่มีเผด็จการที่ประสบความสำเร็จ และประสบความล้มเหลวไม่ต่างจากกัน

ปัจจัยจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการนำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลวทางเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่ระบอบการปกครอง อย่างน้อยก็ไม่ใช่ระบอบปกครองเพียงอย่างเดียวแน่ ใครที่คิดเป็นสูตรตายตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงดูจะคิดอะไรผิวเผินไปหน่อยทั้งนั้น

Advertisement

แม้กระนั้นนักคิดเด่นๆ ของไทยก็ติดกับดักสูตรตายตัวว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจต้องมาคู่กับเผด็จการเสมอมานานแล้ว นี่จึงไม่ใช่ความคิดใหม่อะไร พูดซ้ำๆ กันมาอย่างนี้เกินชั่วอายุคนไปแล้ว (จนถึงใครพูดอีกก็ไม่เด่นเป็นพิเศษอะไรด้วย) สมัยก่อนก็จะยกตัวอย่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในปัจจุบันเพิ่มอีกประเทศหนึ่งคือจีน ซึ่งต่างอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเด็ดขาดของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (แต่ไม่เคยพูดถึงความล้มเหลวของเผด็จการอื่นเลย)

อันที่จริง แทนที่จะพูดถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และจีน พูดถึงความสำเร็จของพรรค
กิจประชาและพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาจทำให้เผด็จการอื่นรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวบ้าง ทั้งสองพรรคประสบความสำเร็จในการสร้างการนำรวมหมู่ที่มีเสถียรภาพ ทั้งยังสามารถส่งผ่านการนำจากรุ่นสู่รุ่นได้โดยสงบเรียบร้อย (เผด็จการไทยที่ทำอย่างนั้นสำเร็จมีอยู่ครั้งเดียว คือเมื่อเปลี่ยนผ่านจากสฤษดิ์ถึงถนอม แต่หนึ่งในสาเหตุของ 14 ตุลาก็เกิดจากการส่งผ่านอำนาจนำที่ไม่ประสบความสำเร็จ)

ดังนั้นปัจจัยการนำ (คุณภาพของผู้นำและคุณภาพของการนำ) ต่างหากที่เป็นเงื่อนไขสำคัญกว่าในความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และปัจจัยการนำที่มีคุณภาพย่อมเกิดขึ้นได้ในระบอบปกครองหลายชนิด

แล้วหันกลับมาดูคุณภาพของผู้นำและการนำของเผด็จการไทยเกือบทั้งหมดดูว่า จะนำไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของชาติได้หรือไม่ ลูกเจ๊กอย่างผมร้องได้คำเดียวว่า “ไอ๊ย่า เค้าแป๋เลี้ยว”

ปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการนำประเทศใดไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในทรรศนะของหนังสือดังเมื่อ 7 ปีที่แล้วคือ Why Naions Fail (ของ Daron Acemoglu & James A. Robinson) สรุปไว้ง่ายๆ ว่าคือการพัฒนา “สถาบัน” ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นการศึกษา, ตลาด, กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เพื่อผนวกรวมเอาทุกคนในชาติและทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งหมดให้เข้ามาร่วมอยู่ในกระแสเศรษฐกิจ ซึ่งจะปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์และทรัพยากรมาสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

แม้จะเห็นได้ชัดว่าประชาธิปไตยย่อมเอื้อให้ปัจจัยที่ขาดไม่ได้นี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบอบเผด็จการก็สามารถทำให้เกิดปัจจัยดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน หากเป็นเผด็จการที่ฉลาดรอบรู้ และไม่ติดบ่วงของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดขึ้นจากการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจ แม้นำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างไม่สู้จะเป็นธรรมนักในหลายเรื่อง แต่ก็ช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยในการลงทุนมากขึ้น เช่นสมัยสฤษดิ์ เป็นอีกช่วงหนึ่งของการขยายการศึกษามวลชนอย่างกว้างขวางยิ่ง นับเป็นครั้งที่สองหลังจากคณะราษฎรได้เริ่มไว้ก่อน การขยายการสื่อสารคมนาคมที่ทำให้เปิดพื้นที่เกษตรเชิงพาณิชย์ใหม่ การสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และการทำให้ระบบธนาคารมีส่วนขยายการลงทุน ฯลฯ

แม้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้พัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จจะเป็นปัจจัยภายนอก ทั้งจากสงครามเย็นและความช่วยเหลือต่างประเทศ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ มีส่วนต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ไม่น้อย

ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรลืมว่า ด้วยต้นทุนซึ่งสังคมไทยต้องจ่ายสูงมาก โดยเฉพาะในหมู่คนระดับล่าง ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นกับดักทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ไทยขยับให้หลุดออกไปได้ยากจนถึงบัดนี้

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ภายใต้อำนาจเผด็จการนั้น คณะผู้เผด็จการนำเอาอำนาจนี้ไปใช้ทำอะไร เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ได้รับความร่วมมือจากบริษัทบริวารที่เป็นผู้เชี่ยวชาญฝีมือขนาดไหน (ลองคิดถึงผู้เชี่ยวชาญที่ระบอบสฤษดิ์นำไปใช้ประโยชน์ เช่นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, คุณเสนาะ อุนากูล, คุณกำแหง พลางกูร, คุณสตางค์ มงคลสุข, ฯลฯ แล้วเปรียบเทียบกับผู้เชี่ยวชาญที่ รสช., คมช., คสช., เรียกใช้เถิดครับ ก็จะเห็นว่าฝีมือบริษัทบริวารเผด็จการมีความสำคัญต่อความสำเร็จแค่ไหน)

เรื่องประโยชน์เฉพาะกลุ่มมาก่อนประโยชน์ส่วนรวมนั้น เรามักมองง่ายเกินไปเพียงว่าเผด็จการเป็นคนดี-คนชั่ว ความจริงแล้วซับซ้อนกว่านั้นเยอะ เพราะเผด็จการที่ขึ้นเถลิงอำนาจคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว
ไม่เคยมีในโลกนี้หลังจากเราออกจากถ้ำเมื่อหลายแสนปีมาแล้ว กว่าจะยึดอำนาจได้ล้วนต้องอาศัย
สมัครพรรคพวกจำนวนมาก ซึ่งท่านผู้นำต้องบำเหน็จรางวัล จะเป็นตำแหน่งหรือเป็นผลประโยชน์ก็ตามเสมอ พูดอย่างชาวบ้านคือเผด็จการต้อง “เล่นพวก” อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง (ผู้นำประชาธิปไตยก็มี “พวก” ให้เล่นเหมือนกัน เพียงแต่เล่นอย่างประเจิดประเจ้อเหมือนเผด็จการไม่ได้เท่านั้น)

พรรคกิจประชาของสิงคโปร์อาจโชคดีหน่อย เพราะเมื่อเริ่มบริหารบ้านเมือง เจ้าสัวสิงคโปร์ซึ่งทำธุรกิจร่ำรวยอยู่ก่อนต่างไม่ไว้วางใจพวกเจ๊กนักเรียนอังกฤษ เกรงว่าจะทำลายวัฒนธรรมจีนที่สู้ทะนุถนอมรักษาไว้มานาน จึงทำให้กิจประชาไม่มีพันธะผูกพันกับเจ้าสัว สามารถดำเนินนโยบายที่ไม่เอื้อให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่เฉพาะกลุ่มได้

ยกให้โชคดีอย่างเดียวอาจไม่เป็นธรรมแก่พรรคกิจประชานัก เปรียบเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งมี
เงื่อนไขคล้ายๆ กัน เจ้าสัวที่มีอยู่ก็ไม่ไว้ใจชนชั้นนำมลายูซึ่งเป็นมุสลิมเหมือนกัน แต่ในขณะที่พรรคอัมโนประสานประโยชน์กับเจ๊กเจ้าสัวได้ในเวลาต่อมา พรรคกิจประชาก็ยังดำเนินนโยบายที่เป็นกลางทางเศรษฐกิจสืบมา ด้วยอำนาจ “ไม่ประชาธิปไตย” เหมือนมาเลเซีย

เรื่องนี้น่าเปรียบเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็เป็นการเปรียบที่ออกจะพิลึกพิลั่นอยู่ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กกระจิ๋วหลิว ในขณะที่จีนใหญ่มหึมาพร้อมทั้งพลเมืองสูงสุดในโลก จีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจท่ามกลางระบบราชการที่ไม่ได้ซื่อสัตย์อย่างสิงคโปร์ และมีประสิทธิภาพอาจไม่ถึงครึ่งของระบบราชการสิงคโปร์ด้วย

คอร์รัปชั่นในหลายรูปแบบจึงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในหมู่ระดับนำของพรรค แต่จะพูดว่าพรรควางนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเอื้อแก่ผลประโยชน์ของระดับนำพรรค หรือแก่กลุ่มเจ้าสัวใหญ่ ก็พูดได้ไม่ถนัดปากนัก เพราะพรรควางนโยบายอย่างมองการณ์ไกลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า เพียงแต่ระดับนำและเจ้าสัวใช้ช่องว่างทางการบริหาร (และการเมือง) เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวเท่านั้น

เช่น ในมณฑลต่างๆ ที่พรรคส่งคนไปกำกับควบคุม ต่างดำเนินการบริหารไปอย่างค่อนข้างอิสระเสรี
ภายใต้นโยบายใหญ่ที่พรรคมอบให้แก่ประเทศ
“ผู้ว่าฯ” ของแต่ละมณฑลนำเอาทรัพยากรไปเกื้อหนุนให้เจ้าสัวหรือสมัครพรรคพวกของตนเอง สร้างโรงงานหรือประกอบธุรกิจตามที่ส่วนกลางวางเป็นนโยบายไว้ บางครั้งก็เกิดผลดี คือทั้งประเทศก้าวไปข้างหน้าไปด้วยกัน

แต่หลายครั้งก็เกิดผลร้าย เช่น แต่ละมณฑลอาจมีโรงงานผลิตรถยนต์ของตนเองจนหาตลาดภายในจะขายรถยนต์ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเจ๊ง หรือไม่เจ๊งก็ต้องให้รัฐอุดหนุนไปตลอด กลายเป็นภาระแก่ส่วนรวมเสียยิ่งกว่า
แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนวางนโยบายเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาด ทั้งต่ออนาคตระยะยาวของจีน และตอบสนองต่อวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตลอดมา

(ข้อมูลเกี่ยวกับจีนได้จากความเข้าใจซึ่งจะผิดหรือถูกก็ไม่ทราบจากหนังสือเรื่อง เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ของอาเธอร์ อาร์ โครเบอร์ ซึ่งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้แปลเป็นไทยไว้อย่างลื่นไหล และกรุณามอบให้ผม)

ตอบสนองต่อวิกฤตนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าจะจัดการเศรษฐกิจดีอย่างไร ก็หนีวิกฤตซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างหนีไม่พ้น ผมขอยกตัวอย่างกรณีสิงคโปร์ เพราะหากยกจีนจะยืดยาวเกินกว่าเนื้อที่ของผมเกินไป

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียใน ค.ศ.1997ช (ต้มยำกุ้ง 2540) เมื่อตลาดหดตัวลงอย่างรวดเร็ว สิงคโปร์ก็รู้แล้วว่าจะพึ่งแต่หัตถอุตสาหกรรมไม่ได้ จึงเตรียมเปิดตัวเป็นศูนย์กลางการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ธุรกิจการเงินจะงอกงามใหญ่โตได้ก็ต้องมีความโปร่งใส (transparency) อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์หวงห้ามไว้อย่างเหนียวแน่น เพื่อรักษาการควบคุมอำนาจของตนให้แข็งแกร่ง รัฐบาลสิงคโปร์วิเคราะห์อย่างละเอียดว่า มีข้อมูลอะไรบ้างที่ธุรกิจการเงินยักษ์ใหญ่ทั้งหลายถือว่าต้องโปร่งใส เพื่อ
ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย สิงคโปร์ตัดสินใจเปิดข้อมูลส่วนนี้อย่างโปร่งใสหมด ซึ่งทำให้ธุรกิจของทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่ากัน โดยไม่มีกลุ่มทุนนิยมลูกกะเป๋ง (crony capitalism) ใดได้ข้อมูลพิเศษกว่าคนอื่น ในที่สุดสิงคโปร์ก็กลายเป็นศูนย์กลางการเงินระดับใหญ่ของโลกไปอีกแห่งหนึ่งในปัจจุบันไป อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว และก็ยังถืออำนาจควบคุมที่ยากแก่การตรวจสอบของพลเมืองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นเหมือนเดิม

ในส่วนจีนนั้นไม่เข้าสู่รายละเอียด แต่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งรู้จักกันดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน มองเห็นวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจข้างหน้า แล้วหาทางป้องกันหรือแปรวิกฤตนั้นให้เป็นโอกาสแก่จีนเอง

เผด็จการที่เต็มไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์ห่วยๆ จึงทำให้ความเป็นเผด็จการนั้นเองกลายเป็นภาระของประเทศ เจรจากับใครก็เสียเปรียบเขายันเต ไม่ใช่เพราะประเทศอื่นรังเกียจเผด็จการ แต่เขาใช้เผด็จการนั่นแหละเป็นจุดอ่อนในการเอาเปรียบ เพราะไม่มีกึ๋นพอจะลดทอนจุดอ่อนของตนเองในการเจรจากับนานาชาติ แล้วยังมาคุยว่าเผด็จการทำให้เศรษฐกิจประสบความสำเร็จ

ไม่ชะโงกดูเงาตัวเองบ้างเลยหรือ

ผมขอจบบทความนี้ด้วยการแปลตอนหนึ่งจากหนังสือดังเมื่อ 7 ปีก่อน (Why Nations Fail) ดังนี้

“มีการรวมพลังกันอย่างแข็งแกร่งระหว่างสถาบันเศรษฐกิจและการเมือง สถาบันขูดรีดทางการเมืองกระจุกอำนาจไว้ในมือของชนชั้นนำกลุ่มแคบๆ แล้วก็วางข้อเหนี่ยวรั้งในการใช้อำนาจนี้ไว้ไม่กี่อย่าง ดังนั้นสถาบันเศรษฐกิจที่ชนชั้นนำกลุ่มนี้วางโครงสร้างไว้จึงขูดรีดทรัพยากรจากคนอื่นที่เหลือทั้งหมดในสังคม เป็นธรรมดาที่สถาบันเศรษฐกิจขูดรีดจึงมักมากับสถาบันการเมืองขูดรีด ที่จริงแล้วสถาบันเศรษฐกิจขูดรีดโดยเนื้อแท้ของมันแล้วต้องพึ่งสถาบันการเมืองขูดรีดจึงจะอยู่ได้ สถาบันการเมืองที่ผนวกรวมเอาทุกกลุ่มทุกฝ่ายไว้หมด ปลูกฝังอำนาจไว้อย่างกว้างขวาง ย่อมมีแนวโน้มที่จะถอนรากถอนโคนสถาบันเศรษฐกิจที่เที่ยวยึดกุมทรัพยากรของคนทั้งหลาย แล้วสร้างเครื่องกีดขวางมิให้ใครได้ทรัพยากรส่วนรวมไปใช้คนเดียว รวมทั้งปราบปรามการทำงานของตลาดที่เปิดให้คนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นทำกำไร”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image