มงคลเมือง11 โดย ทวี ผลสมภพ

มงคลเมืองตอนที่ 11 เป็นมงคลเมืองตอนจบ สำนวนการประพันธ์จะเปลี่ยนไปจากการใช้ศัพท์ว่าสันนิษฐาน เพราะเป็นเหมือนบทสรุป แต่จะเป็นเรื่องเล่าตามสำนวนพระสูตรและอรรถกถาในพระไตรปิฎก ชื่อพระสูตรและอรรถกถา เล่ม 23 หน้า 436-449 ซึ่งเมื่ออ่านไปแล้วผู้อ่านจะเข้าใจทันทีว่า เป็นเรื่องจริง

ถามว่า ทำไมต้องเขียนอย่างนั้น

ขอตอบว่าเพราะผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นอย่างนั้น จริงๆ

แต่สำหรับผู้ไม่เชื่อ เราก็ไม่ว่ากัน จากนั้น จะเล่าประวัติของชนชาติผู้ได้รับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ดินแดน เมืองลพบุรี ที่ผู้เขียนให้นามว่า เมืองมีมงคล ก่อนที่ผู้อ่านจะอ่านต่อไป ขอให้เงยหน้าขึ้นไปมอง รอยพระพุทธบาท ที่เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่สระบุรี และรอยพระพุทธบาทลพบุรีที่เป็นองค์จริง ผู้อ่านเห็นความต่างกันหรือไม่ พูดที่สระบุรีก่อน เห็นไหมว่า รอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ส่วนที่เป็นซ่นพระบาท กับปลายพระบาทเท่ากัน ตรงนี้ผิดลักษณะของเท้ามนุษย์ เพราะเท้าของมนุษย์ ระหว่างปลายเท่ากับซ่นเท้าต้องกว้างแคบกว่ากัน คือปลายเท้าต้องกว้าง เพื่อรับน้ำหนักของร่างกาย ส่วนที่ซ่นเท้าแม้จะแคบก็ไม่เป็นไร เพราะมนุษย์เวลาเดิน เท้าแยกจากกันให้ห่างพอจะยันรับร่างกายได้ แต่เมื่อไปดูรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีแล้ว เราจะพบว่าปลายพระบาทกับซ่นพระบาทกว้างแคบกว่ากัน เฉกเช่นเท้าของมนุษย์ทั่วไป นี่ก็เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้สันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีเป็นองค์จริง

Advertisement

เมื่อพระปุณณะได้นำพระพุทธเจ้ามาประกาศพระพุทธศาสนา ณ อาณาจักรจามแล้ว พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นอยู่ในอาณาจักรจาม จวบจนถึงปัจจุบัน โดยที่ ณ ดินแดนนี้ ขณะนี้ ได้เปลี่ยนผู้ครอบครองจากชาวจามไปเป็นชาวเวียดนามแล้ว หลักฐานที่ทำให้คิดว่าพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่น ณ ดินแดนนี้ ก็เพราะในปัจจุบันนี้ ยังมีพระสงฆ์อยู่ ชาวเวียดนามยังนับถือพุทธอยู่ แต่จะเป็นลัทธิมหายานมากกว่าเพราะอิทธิพลของจีนที่ครอบงำ ประเทศนี้มานาน ลัทธิเถรวาทก็ยังมีอยู่เช่นกัน

มีหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา ปุณโณวาทสูตร ในพระไตรปิฎก ชื่อ พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม 23 หน้า 448 เล่าว่า “พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ชาวจามแล้ว การหลุดพ้นจากกิเลศเกิดแก่มหาชนมากมาย พุทธโกลาหล ความแตกตื่นเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นแล้ว ณ ดินแดนนั้น” คำว่า พุทธโกลาหล แปลว่า มหาชนในอาณาจักรจาม แตกตื่นมาชมพระสิริโฉมของพระพุทธเจ้า เหมือนๆ กัน ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

ผู้เขียนขอเดาถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวจามในยุคนั้น สนใจพระพุทธเจ้าเหมือนๆ กันทุกๆ คนโดยสรุป มี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การเดินทางมาอาณาจักรจาม สอง พระรูปโฉมของพระองค์ ในอรรถกถา เล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเขาวงพระจันทร์ ที่ลพบุรีก็ดี และเมื่อเสด็จถึงอาณาจักรจามก็ดี ทรงแสดงอิทธาภิสังขารไม่ให้มนุษย์มองเห็นยานอากาศ เมื่อมนุษย์ทั้งสองจุดมองไม่เห็นยานที่นำพระองค์มา ต่างก็เดาเอาเองว่า พระองค์พร้อมพระสงฆ์ 500 องค์ คงเหาะมา แต่การจะเหาะมาหรือนั่งยานอากาศทรงมุขมาก็ทำให้มนุษย์ทั้งสองจุด มีความเลื่อมใสในพระองค์อย่างไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว แต่การที่ทำให้ชาวจามแตกตื่นเป็นที่สุดจนถึงท่านใช้ศัพท์ว่า พุทธโกลาหล ก็เนื่องมาจากพระรูปโฉมของพระองค์ ตามที่ได้เกิดมาแล้ว

Advertisement

เมื่อพระองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ ราชอุทยาน สวนตาลหนุ่ม คราวนั้นในอรรถกถาเล่าว่า ประชาชนชาวเมืองราชคฤห์ เป็นจำนวนล้านๆ คน ได้แตกตื่นมาดูพระสิริโฉมของพระองค์ตามคำเล่าลือ เต็มเนื้อที่ตั้งแต่อุทยานฯถึงพระราชวังของพระเจ้าพิมพิสาร จนกระทั่งพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไม่มีทางเดินไปเสวยในวังของพระเจ้าพิมพิสารได้ ผู้สนใจโปรดไปอ่านในพระไตรปิฎก ชื่อพระสูตรและอรรถกถาแปลไทย เล่ม 55 หน้า 134-137 เองก็แล้วกัน

ส่วนความเป็นพุทธโกลาหลในที่นี้ ผู้เขียนขอเดาตามมหาปุริสลักขณะ ที่ทำให้มนุษย์แตกตื่นมาชมพระสิริโฉมดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในอาณาจักรจาม ถึงสามวันสามคืน เมื่อมีเสียงเล่าลือว่าพระพุทธเจ้ามีพระรูปโฉมงามเหลือเกิน ชาวจามก็คงเฮโลกันมาชม ขั้นต้น พอทุกคนมองเห็นผิวพระกายเหลืองเป็นสีทอง ต่างก็แปลกใจประหลาดใจ ที่มนุษย์เดินได้มีกายเหลืองเป็นสีทอง นี่คือมหาปุริสลักขณะข้อที่ 11 จากนั้น คนเราเมื่อจะดูใคร จะต้องมองไปที่ใบหน้าก่อน เมื่อเห็นพระพักตร์ของพระองค์ ก็เห็นขนสีขาวระหว่างคิ้ว เป็นจุดที่เพิ่มความสนใจมาก เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนเหมือน นี่คือพระอุณาโลม เป็นมหาปุริสลักขณะข้อที่ 31 บนพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อพิศไป จะพบคางของพระองค์ เหมือนคางของราชสีห์ อันเป็นมหาปุริสลักขณะข้อที่ 22 จากนั้นบนพระพักตร์ของพระองค์ จะเห็นตาดำของพระองค์ดำสนิท และมีดวงตาเหมือนดวงตาโค ซึ่งเป็นมหาปุริสลักขณะข้อที่ 29 และ30

นั่นคือพระองค์ให้ชาวจามเดินทางมาชมพระสิริโฉมของพระองค์ ตลอด สามวันสามคืน จึงเสด็จกลับ สู่พระวิหารเชตวัน ก่อนเสด็จกลับ ทรงรับสั่งให้พระปุณณะอยู่โปรดพุทธบริษัทในถิ่นนั้นต่อไป

จากนั้นพระองค์พร้อมพระสงฆ์ทั้ง 500 องค์ ได้เสด็จกลับโดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก อันเป็นทิศนำไปสู่มัชฌิมประเทศคืออินเดีย ทรงพบแม่น้ำโขงซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า แม่น้ำนิมมะทา พญานิมมะนาคราชผู้มีนาคภพอยู่ที่แม่น้ำโขงนั้นออกมาทูลอาราธนาให้พระองค์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ณ จุดนั้น ปัจจุบันคือวัดพระพุทธบาทเวินปลา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งพระพุทธบาทองค์นี้ ทุกเดือนเมษายน ของทุกปีเมื่อน้ำแห้งลง ประชาชนบริเวณนั้น จะพากันไปสักการบูชารอยพระพุทธบาท ตามที่ข้อความในอรรถกถากล่าวไว้ว่ารอยพระพุทธบาทริมโขงนั้น ได้กลายเป็นสถานที่มีการสักการบูชาอย่างยิ่งใหญ่ จนถึงทุกวันนี้

เมื่อพระองค์พร้อมหมู่สงฆ์มาถึงยอดเขาวงพระจันทร์ เมืองลพบุรี พระองค์ตรัสกับพระสัจพันธ์ ว่า “มหาชนถูกเธอกระทำให้จมลงไปในอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของคนเหล่านั้นเสียแล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน” พระสัจพันธ์จึงทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้ พระพุทธองค์จึงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ บนยอดเขาวงพระจันทร์ ลพบุรี จากนั้นพระองค์พร้อมพระสงฆ์ 499 องค์ จึงเสด็จกลับไปสู่พระเชตวัน

ส่วนพระสัจพันธ์ ท่านคงอยู่ ณ เมืองลพบุรี ซึ่งสมัยนั้น คงชื่อเมืองกัมโพช แล้วคงโปรด ลูกศิษย์ของท่าน ที่เป็นเจ้าเมืองอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะสมัยโบราณลพบุรีคงเป็นเมืองของพระฤษีที่เป็นคณาจารย์สอนเจ้าชายในบริเวณโดยรอบ เฉกเช่น พ่อขุนรามคำแหง พญางำเมือง และพญาเม็งราย เป็นศิษย์ฤษีสำนักเดียวกัน ที่เขาสมอแคลง

ฉะนั้น เมื่อท่านโปรดศิษย์ของท่าน จากการที่ท่านสอนเขาให้เลื่อมใสในเวทมนตร์คาถา อันเป็นหนทางผิด หันกลับมาในทางที่ถูกต้องแล้ว ก็เท่ากับว่า ท่านได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในดินแดนอันเป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้ ตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าแล้ว

ด้วยประการะฉะนี้ จึงขอสรุปว่า พระพุทธศาสนาที่ประเทศเวียดนามก็ดี ประเทศกัมพูชาก็ดี และประเทศลาวก็ดี พระพุทธเจ้าเสด็จมาเผยแผ่เอง ส่วนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยพระพุทธเจ้าก็เสด็จมาเอง แต่ให้พระสัจพันธ์ เผยแผ่คำสอนที่ถูกต้องต่อไป ส่วนประเทศพม่า พระองค์ก็เสด็จมาโปรดนางจุลสุภัททาในเมืองอุคคนคร อันเป็นเมืองมอญ แล้วมีพุทธบัญชาให้พระอนุรุทธะอยู่โปรดชาวเมืองนี้ต่อไป

จึงได้ข้อสรุปว่า พระพุทธศาสนาในประเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้เผยแผ่เข้ามาในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุอยู่ พระสัจพันธ์ท่านคงมีอายุอยู่และคงนิพพานหลังจากพระพุทธเจาปรินิพพานแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่า ในวันปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา พระสัจพันธ์ท่านคงไปร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัส บนเตียงปรินิพพานว่า สถานที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน เป็นสถานที่พุทธบริษัทควรไปดูเพื่อให้เกิดความสลดสังเวช

ดังนั้น เมื่อท่านกลับมาเมืองไทย ท่านจึงชักชวนศิษย์ของท่าน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ก่อสร้างสังเวชนียสถาน ตามที่มีปรากฏหลักฐานที่ นครปฐม พระแท่นดงรัง ที่กาญจนบุรี โกสินนาราย ที่ราชบุรี พระแท่นศิลาอาสน์ ที่เมืองทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ และผู้เขียนสงสัยว่า ดงระคร ที่นครนายก จะเป็นสังเวเนียสถานอีกจุดหนึ่งด้วย จึงได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยเรามีวัตถุที่สร้างเพื่อสักการบูชา มีสังเวชนียสถานทั้งสี่ เป็นอันดับแรก เพราะพระสัจพันธ์ ท่านนำมาจากที่ชุมนุมปรินิพพานของพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นจึงมีการสักการบูชา ต้นโพธิ รอยพระพุทธบาท ธรรมจักร และพระพุทธรูปเป็นที่สุด

ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จมายอดเขาสัจพันธ์ ลพบุรีนั้น ดินแดนนี้เป็นของมอญแน่นอน แม้เมืองลานช้างโบราณก็คงเป็นเมืองมอญด้วย ตามที่ประวัติศาสตร์ลาวที่เขียนโดย มาร์ติน สจ๊วต ฟอกซ์ และแปลโดย จิราภรณ์ วิญญรัตน์ ในหน้า 6 กล่าวว่า “บริเวณตอนกลางของแม่น้ำโขง ลักษณะของมณฑล (ศูนย์อำนาจ) เกิดขึ้นที่แคว้นจำปาสัก (ศูนย์กลางพิธีกรรมอยู่ที่วัดภู) ลักษณะของมณฑล (ศูนย์อำนาจ) เกิดขึ้นที่ท่าแขก (ศูนย์กลางพิธีกรรมอยู่ที่พระธาตุพนม) ทางตอนบนของหุบน้ำชี (เมืองฟ้าแดด) และบริเวณที่ราบเวียงจันทน์ ในขณะที่จำปาสัก เป็นเขมร ส่วนเมืองท่าแขก และเมือง ฟ้าแดด (กาฬสินธุ์) และที่ราบเวียงจันทน์ เป็นมอญ หมายความว่า นครจำปาสัก เป็นของเขมรแล้ว ส่วนที่ท่าแขกของลาวนครพนมร้อยเอ็ดสกลนครเป็นต้น เหล่านี้ มีความเป็นมอญ แต่พอถึงปลายศตวรรษที่ 12 ดินแดนดังกล่าวนั้น กลับเป็นของเขมรทั้งหมด”

เมื่อมาโยงเข้ากับตำนานพระอุรังคธาตุ จะได้หลักฐานความเป็นมอญมากขึ้น กล่าวคือ พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองสกลนคร ได้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทรงหวังพระบรมธาตุ จึงเกณฑ์ชาวเมือง ชาย หญิง แข่งกันสร้างพระเจดีย์ ฝ่ายไหนเสร็จก่อน จะได้บรรจุพระบรมธาตุ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 8 ปี พระมหากัสปะ ได้นำพระอุรังคธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้า พญาสุวรรณภิงคาร เสนอศิลาที่เหลือจากการสร้างพระเจดีย์ที่เมืองสกลนคร มาบรรจุพระอุรังคธาตุ
พระมหากัสปะกล่าวว่า นำศิลาเหลือมาสร้างบรรจุพระอุรังคธาตุไม่เป็นมงคล ท่านจึงให้นำดินดิบมาปั้นก่อเป็นอุโมงค์ กว้างยาวตามคืบศอกของพระมหากัสปะ แล้วเผาไฟจนดินสุกแข็งแกร่งเป็นอุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุ บรรดาพญาทั้ง 5 เมืองที่มาช่วยพระมหากัสปะ บรรจุพระอุรังคธาตุ จึงรู้จักการปั้นดินดิบเผาไฟ

และนั่นคือชาวมอญกลุ่มนี้ได้ยึดเป็นอาชีพ จนคนไทยอพยพมาพบแล้วตั้งชื่อว่า อิฐมอญ จนทุกวันนี้

จากนี้ขอโยงให้เห็นความเป็นมอญของถิ่นนี้ให้ชัดขึ้น ตำนานพระอุรังคธาตุกล่าวว่าในคราวที่พญาทั้ง 5 ปั้นดินดิบแล้วเผาเป็นอิฐนั้น ได้ใช้ฝ่ามือของพระมหากัสปะเป็นแบบ ของความกว้างยาวของอิฐ เราพบว่าอิฐที่พระแท่นดงรัง มีขนาดใหญ่ คือ มีความยาว ถึง 41 ซม. ความกว้าง 22 ซม. หนา 10 ซม. เมื่อไปดูอิฐเดิมของพระเจดีย์พระธาตุพนมที่พังลงมา เมื่อปี 2518 พบเพียงเศษอิฐให้เห็นส่วนหนาซึ่งหนา 10 ซม. ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าขนาดอิฐที่สร้างโดยยึดฝ่ามือของพระมหากัสปะที่ภูกำพร้า จะหนา 10 ซม. กว้าง 22 ซม. และยาว 41 ซม. เท่ากับขนาดของอิฐที่พระแท่นดงรัง เพราะคนสมัยสองพันกว่าปีย่อมสูงใหญ่กว่าคนสมัยนี้แน่นอน

อีกทั้งคนบ้านโป่งราชบุรีนั้นเป็นคนมอญที่นักประวัติศาสตร์รู้อยู่ เท่านั้นยังไม่พอ พญาทั้ง 5 ที่มาช่วยพระมหากัสปะนั้น พญาคำแดงเจ้าเมืองอุดรก็มาด้วย จึงทำให้นึกได้ว่าเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงน่าจะเป็นผลงานของพญาคำแดง ซี่งเป็นชาวมอญที่ครองเมืองอุดรธานีในสมัยนั้น ขนาดอิฐที่ยาวถึง 41 ซม.นั้น เพราะฝ่ามือทั้งสองของพระเถระเมื่อวางเรียงจะได้ 1 คืบของท่านพอดี เหมือนฝ่ามือของเราเมื่อวางเรียงทั้งสองฝ่ามือจะได้หนึ่งคืบของเราเหมือนกัน แต่ความกว้าง ของอิฐ 22 ซม. น่าจะเป็นขนาดฝ่ามือข้างเดียวของพระเถระ

ประวัติศาสตร์ลาวที่กล่าวว่า ในปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ดินแดนเหล่านี้ตกเป็นของเขมรทั้งหมด ตรงนี้เราเห็นหลักฐานในหนังสือจามเทวีค่อนข้างชัดเจน ในหนังสือจามเทวี เมื่อจะกล่าวถึงพระราชาได้เรียกว่า พระเจ้าละโว้ นั่นเพราะขอมได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองกำโพช เป็นเมืองละโว้ อันเป็นชื่อของโอรส พระราม ซึ่งพวกขอมต้องการทำลายอิทธิพลของพุทธศาสนาและพระพุทธบาทให้หมดไป แต่พอจะเรียกไพร่พลที่จัดเป็นกองทัพไปรบกับหริภุญไชย กลับเรียกว่า ชาวกัมโพช นั่นคือขอมส่งราชวงศ์มาครองละโว้แล้ว แถมสื่อให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นมอญอยู่

ขอวิเคราะห์เรื่องจามเทวีที่จะชี้ให้เห็นมอญหมดอิทธิพลโดยสรุปว่า พระนางจามเทวีน่าจะเป็นชาวลำพูน ตามที่ชาวลำพูนเชื่อ เพราะในประวัติก็กล่าวเช่นนั้น ต่อมาเจ้าชายมอญ ณ เมืองกัมโพชได้ไปสู่ขอ และเมื่ออภิเษกกันแล้ว ขอมได้ยกทัพมารุกราน มอญที่กัมโพช กัมโพชแพ้สงคราม พระราชสามีของพระนางหนีออกบวช พระนางจึงเป็นหญิงม่าย พระฤษีสุกกทันต์จึงมาขอพระนางจามเทวี ซึ่งขณะนั้นทรงพระครรภ์อยู่ให้ไปครองหริภุญไชย ซึ่งเป็นเมืองมอญเหมือนกัน พระเจ้าละโว้ซึ่งเป็นขอมจึงยอมให้โดยง่าย

ในประวัติศาสตร์ลาวได้อ้างถึงเมืองฟ้าแดดคืออำเภอกมลาศัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเมืองฟ้าแดดนั่นแหละ ยืนยันความเป็นมอญ เพราะมีการค้นพบอักษรปัลลวะด้านหลังพระพิมพ์ดินเผา ซึ่งอักษรนั้นบ่งว่าเป็นอักษรมอญโบราณ ถามว่า มอญโบราณระดับไหน ตอบว่า มอญโบราณรุ่นพญาคำแดง พญาสุวรรณภิงคารเป็นต้น ที่มาช่วยพระมหากัสปะบรรจุพระอุรังคธาตุ
นั่นแหละ เพราะได้รู้วิธีทำอิฐจากพระมหากัสปะ ตามที่กล่าวมาแล้ว แถมเมืองฟ้าแดดมีพระธาตุยาคูที่ก่อสร้างด้วยอิฐมอญเป็นหลักฐานอยู่ นั่นคือยืนยันว่าพญาจากศรีโคตรบูลย์ พญาจากสกลนคร และพญาจากอุดรธานี เป็นมอญแน่นอน แต่ พญาจุลลนีทีมาจากตะวันออกน่าจะเป็นจาม ส่วนพญาที่มาจากด้านใต้น่าจะเป็นขอม

ขอมมีอำนาจอยู่ในดินแดนเหล่านี้จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ก็ต้องถอยออกจากถิ่นนี้ไป เพราะไทยเข้ามาครอบครอง นั่นคือทำให้ข่าวเรื่องพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์เงียบไป เพราะมอญหมดอำนาจ และขอมได้เปลี่ยนให้เป็นเมืองของพระราม โดยการเอาลิงมาเลี้ยงเป็นต้น

สังคมไทยรู้และจำได้ถึงรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีว่าเริ่มมาจากพระเจ้าทรงธรรม แต่ประวัติที่แท้จริงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่มีใครสนใจ แถมไม่ค่อยจะเชื่อถือ จึงขอให้รู้ว่าเรื่องจริงเป็นไปตามที่เล่าไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถานั่นเอง ความผิดที่เด่นชัดของรอยพระพุทธบาทสระบุรีคือ กลางฝ่าพระบาทเป็นกงจักร เมื่อผู้เขียนพบความจริงเรื่องนี้ ได้นำไปปรึกษาท่านศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ที่ผู้เขียนเคารพนับถือ ท่านบอกให้ไปเริ่มที่ศิลปากรลพบุรี

จึงขอฝากศิลปากรลพบุรีดำเนินการต่อไป ไม่ควรปล่อยให้ชาวพุทธคาใจ ทั้งภาพการจำลองพุทธบาทอย่างชัดเจน และความผิดจากภาพธรรมจักรกลายเป็นกงจักร ปรากฏในพระพุทธบาทสระบุรีอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image