กบฏแมนฮัตตัน..ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (9) โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

กบฏแมนฮัตตัน..ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (9) โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เรื่องเด่นในตอนนี้…เผยชีวิต “ลูกผู้ชายตัวจริง” นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา อดีตนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แกนนำกบฏแมนฮัตตัน หลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่กับกองกำลังมอญติดอาวุธในประเทศพม่าถึง 8 ปี แต่งงานกับสาวชาวมอญ…เชิญติดตามครับ…

ย้อนอดีตไป..เมื่อ 29 มิถุนายน 2495 ราว 1530 น. จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เดินชมเรือขุดแมนฮัตตัน (Manhattan) ณ ท่าราชวรดิฐ ทหารเรือกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธจี้จับตัว นรม. ของไทยเป็นตัวประกัน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง…

Advertisement

ฝ่ายปราบกบฏ คือ ทหารบก จับมือกับตำรวจและทหารอากาศ สู้รบกับกับทหารเรือ กลายเป็นสงครามกลางเมือง ในพระนคร-ธนบุรี

30 มิถุนายน 2494 การยึดอำนาจล้มเหลว กลุ่มทหารเรือกลายเป็นกบฏของแผ่นดิน แกนนำขึ้นรถไฟหนีไปทางเหนือ แล้วหนีข้ามแดนไปหลบอยู่ในพม่ามี 5 คน คือ นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา นาวาตรี มนัส จารุภา พันตรี วีรศักดิ์ มัณฑจิตร และภรรยา และ นาวาตรี ประกายฯ …

ทั้ง 5 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารในกรุงย่างกุ้ง ภายใต้การดูแลของนายพลเนวิน ผู้นำสูงสุดของพม่าราว 4 เดือน หลังจากนั้น พันตรี วีรศักดิ์ และ ภรรยา ขอแยกตัว หลบหนีกลับเข้าประเทศไทยทางอำเภอแม่สอด จ.ตาก สามีภรรยาคู่นี้มีเส้นมีสายดี เข้ามอบตัวกับญาติที่เป็นตำรวจ ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน…

Advertisement

ส่วน นาวาเอก อานนท์ และ นาวาตรี มนัส เบื่อหน่ายชีวิตในค่ายทหารพม่า ชวนกันหลบหนีออกจากค่ายทหารในย่างกุ้ง ลงเรือเมล์พม่าล่องแม่น้ำลงทางทิศใต้ของพม่าไปตำบลที่เรียกว่า “เกริ๊กพอยท์” ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของ “ชนเผ่ามอญ” มีกองกำลังติดอาวุธสู้กับพม่าบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อชายแดนไทยช่วงจังหวัดกาญจนบุรี

2 ทหารเรือ อานนท์ และมนัส ผู้ต้องหากบฏจากประเทศไทยปลอดภัยดี พักอาศัย กินข้าว นอนที่วัดพุทธของชาวมอญ

ในที่สุด..พระสงฆ์ชาวมอญอาสานำพา นาวาตรี มนัส ลักลอบเข้าประเทศไทยสำเร็จ ซุกซ่อนอยู่ได้ไม่นาน โปลิสไทยซิว นาวาตรี มนัส และผู้เกี่ยวข้องไปเข้าคุกเรียบ

ท่านผู้อ่าน…ที่ติดตามเรื่องกบฏแมนฮัตตัน อย่างกระชั้นชิด สอบถามว่า…แล้ว นาวาเอก อานนท์ หายไปไหน..ใครอุ้มไป ?

ผู้เขียนไปตามสืบ ตามค้นเอกสาร พบหนังสือ “แปดฝนในเมืองมอญ” ที่นาวาเอก อานนท์ ทิ้งร่องรอย เขียนหนังสือ ให้ชนรุ่นหลังได้ทราบความจริง ….

…นาวาเอก อานนท์ ปฏิเสธ ไม่ขอกลับเข้าประเทศไทยพร้อม มนัส …นาวาเอก อานนท์ ทราบดีว่า ถ้ากลับเข้าไทย ตำรวจต้องไล่ล่ารวบตัวเข้าตารางแน่นอน และโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก…

เช้าวันนั้น 27 พฤษภาคม 2495…ทหารเรือหนุ่มทั้ง 2 ตัดสินใจแยกทางกัน ต่างสวมกอดแนบแน่น ด้วยเลือดพี่-น้องที่ร่วมก่อกบฏกันมา…มันอาจจะจากกันชั่วครู่ชั่วยาม หรือจำพรากจากจรชั่วนิจนิรันดร์..ไม่มีใครทราบอนาคต…ชีวิตต้องเดินต่อไป…

บทความตอนนี้ ขอถ่ายทอด เรื่องราวเหลือเชื่อชีวิตของลูกผู้ชาย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา…

นาวาเอก อานนท์ เกิดที่ฝั่งธนบุรี ในครอบครัวทหารเรือ จบมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน สอบเข้าโรงเรียนนายเรือ สำเร็จการศึกษา พ.ศ.2477 พรรคนาวิน

รับราชการ เป็นอดีตผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงแม่กลองซึ่งไปรับพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในหลวง ร.7 กลับสู่พระนครในปี พ.ศ.2492

พ.ศ.2493 ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการเรือหลวงศรีอยุธยา เรือพระที่นั่งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.9 เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอดีตข้าราชการทหาร…ต้องขอยกย่องว่าประวัติรับราชการ หน้าที่การงาน เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ของนาวาเอก อานนท์ สง่างาม โดดเด่นมากครับ…

หลังจากแยกทางกันกับ นาวาตรี มนัส นาวาเอกอานนท์ ใช้ชีวิตในดินแดนมอญ ตำรวจไทยส่งคนไปเกลี้ยกล่อม อานนท์ ในพม่าเพื่อให้มามอบตัว แต่สัญชาตญาณมันบอกว่า “เชื่อไม่ได้เด็ดขาด”

เรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบ คือ… พระสงฆ์ชาวมอญในพม่า ล้วนแล้วแต่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ มีการติดต่อกับชาวมอญในไทย รู้จักพระนคร
ธนบุรี เป็นอย่างดี มีการติดต่อกับชาวมอญในไทยที่วัดเจดีย์ทอง พระประแดง และที่ปทุมธานี …ส่วนบรรดาผู้นำของชาวมอญ ถึงแม้จะอยู่ในป่าเขา ทุรกันดาร คนเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษได้ดี หลายคนจบการศึกษาจากอังกฤษ จึงทำให้สื่อสารกันรู้เรื่องแบบ “ใจถึงใจ”

สถานการณ์ในเวลานั้น ชาวมอญกำลังต่อสู้เพื่อเอกราชของเชื้อชาติและดินแดน…ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า…

“เมื่อเข้ากรุงโรม ต้องทำแบบชาวโรมัน” …อานนท์ เริ่มเรียนภาษามอญ เวลาผ่านไปนาน นับเดือน นับปี ชาวมอญเชื่อใจและยอมรับว่า “เป็นพวกเดียวกัน” มีชาวมอญที่เดินทางเข้ามาไทยนำหนังสือพิมพ์ไทยติดตัวมาให้ นาวาเอก อานนท์ ได้อ่าน ทำให้พอทราบสถานการณ์ทางการเมืองที่จับคนเข้าคุกล้นหลาม

“ความรอบรู้” ของอานนท์ ทำให้ผู้ใหญ่ชาวมอญขอคำปรึกษาหารือ อานนท์มีโอกาสแนะนำการฝึกของทหารมอญ ช่วยดูแลอาวุธบางประเภทที่กองทัพมอญยังไม่คุ้นเคย ประสบการณ์ในราชนาวีไทยทำให้ นาวาเอก อานนท์ เป็นคนมีค่าในหมู่ชาวมอญ

ผ่านไป วันแล้ว วันเล่า..วันหนึ่ง เดือนตุลาคม 2497 …อานนท์และเพื่อนทหารมอญเดินทางเข้าย่างกุ้งอย่างเงียบๆ ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน ผ่านด่านทหารพม่าไปถึงย่างกุ้งโดยสวัสดิภาพ ทหารเรือไทยต้องการไปที่ร้านตัดเสื้อผ้าในย่างกุ้ง เพื่อพบกับสาวมอญชื่อ “มิละเม” ที่เคยพบกันมาก่อน 2 ปีที่แล้วตอนไปทำบุญที่วัด ช่วงที่ อานนท์และมนัสถูกควบคุมตัวในค่ายทหารย่างกุ้ง..อานนท์ยังติดตาตรึงใจกับสาวสวย ปักใจความเรียบร้อย ท่วงทีวาจา กิริยาของ “มิละเม”

เธอเป็นชาวมอญ เป็นลูกกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เด็ก เธอต้องทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าหาเงินเพื่อเลี้ยงดูแม่…เมื่อหวนมาประสบพบกันอีกครั้ง เธอถึงกับนิ่งอึ้ง ตะลึงงัน ทหารมอญที่เดินทางไปด้วยในวันนั้นชื่อ โจแซน เป็นคนบ้านเดียวกับ มิละเม…

เหมือนฟ้าลิขิตให้นายทหารเรือหนุ่มหนีคุกตะรางจากเมืองไทยมาพบกับสาวมอญ… ทั้ง 2 ต่างพูดคุยออกรสชาติหวานชื่นใจ ถามสารทุกข์สุกดิบ ภาษากาย แววตาแทบไม่ต้องแปลความหมาย…อานนท์พยายามที่จะชักชวนมิละเมให้ไปเที่ยวหมู่บ้าน “กมาวัก” ซึ่งเป็นค่ายทหารมอญที่อานนท์ฝากชีวิตไว้ที่นั่น…

อานนท์และเพื่อนทหารมอญ ตัดสินใจหาที่พักในย่างกุ้งเพื่อให้เวลากับความรักถักทอให้เป็นจริงตามที่หัวใจปรารถนา… อานนท์ครุ่นคิดเสมอว่าวันข้างหน้าเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แค่รู้ว่าวันนี้มีเธอผู้นี้ในดวงใจซะแล้ว

มีคำมั่นสัญญาเกิดขึ้นระหว่างคนทั้งสอง… ในที่สุด อานนท์และสหายจำต้องเดินทางกลับไปที่หมู่บ้านกมาวัก เพื่อทำหน้าที่ในค่ายทหารมอญตามหน้าที่

คำมั่นสัญญา ความรัก เสน่หา หัวใจที่เรียกร้อง คือ พลังอันมหึมา… ภูเขาสูงเสียดฟ้า ทะเลแสนกว้างก็หาหยุดความรักได้ไม่

พ.ศ.2498 อีกราว 1 ปีต่อมา อานนท์ตัดสินใจเดินทางเข้าย่างกุ้งคนเดียว อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด…อานนท์ จะขอแต่งงานกับมิละเมให้จงได้…

สาวมอญ มิละเม ยอมรับในความอดทน ความกล้าหาญ ตรงไปตรงมาของ “กบฏหนุ่มแห่งราชนาวีไทย” เธอตกหลุมรักอานนท์ ทำพิธีแต่งงานแบบเรียบง่าย มีญาติผู้ใหญ่มาเป็นสักขีพยาน คู่รักต่างแดนพากันไปทำบุญและขอพร “เจดีย์จ๊าย์ดตะเกิง” ด้วยกัน

นาวาเอก อานนท์ ผสมผสานกลมกลืนตัวเองไปกับวิถีชีวิตชาวมอญ ชาวพม่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ สุดบรรยาย

ผู้เขียนเอง เรียบเรียงประวัติศาสตร์อันขมขื่น เรื่องกบฏแมนฮัตตัน ที่ทหารไทยรบกันเองเป็นสงครามกลางเมืองในปี พ.ศ.2494 ก็นึกไม่ถึงว่า มีวรรณกรรมของความรัก ความเบิกบาน ที่ใสบริสุทธิ์ของแกนนำกบฏในต่างแดนกับสาวชาวมอญมาแทรกในประวัติศาสตร์…

คู่รักแห่งประวัติศาสตร์ เดินทางไปบ้านเตอแกร บนเกาะคมัง บ้านเกิดของมิละเม เพื่อไปคารวะมารดาของฝ่ายหญิง และญาติพี่น้องของเธอตามธรรมเนียมปฏิบัติ…

“ข่าวดี” แล้วตามด้วย “ข่าวเลว” …ทหารพม่าได้กลิ่นว่ามีหนุ่มไทยเข้าพิธีแต่งงานกับสาวมอญ แล้วพากันมาค้างคืนในหมู่บ้าน

คืนนั้น…ทหารพม่านำกำลังมาตรวจค้นทันที…ญาติฝ่ายเจ้าสาวตกตะลึง พาคู่รักไปหมกตัวในกองฟางหลังบ้านด้วยใจระทึกทั้งคืน

กองกำลังทหารมอญอิสระ ที่ไปลาดตระเวนพื้นที่ดังกล่าว ทราบข่าว จึงรีบนำกำลังไปปิดล้อม ยิงปะทะกับทหารพม่าจนล่าถอยไปจากหมู่บ้าน บ่าว-สาว เล็ดลอดออกมาจากหมู่บ้านได้ คู่ทุกข์-คู่ยาก ลงเรือจากเกาะคมัง กลับไปที่หมู่บ้านกมาวัก อย่างปลอดภัย…

ชาวมอญในพื้นที่ทั้งปวงเฮฮา ที่ได้เขยเป็นนายทหารเรือไทย จากเดิมเรียกกันว่า “กัปตัน” เปลี่ยนเป็นชื่อมอญว่า “ซันเดิง” แปลว่า “รักเมือง” ส่วนภรรยา ถูกเรียกว่า “มะมิ”

ทหารมอญ ชาวมอญ ดีใจ กุลีกุจอช่วยกันสร้างรังรักเป็นบ้านไม้ไผ่ให้คู่รักสุดขอบฟ้า ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในค่ายกมาวัก อย่างสุขีสุโข

นาวาเอก อานนท์ ผู้ขอลิขิตชีวิตตัวเอง นุ่งโสร่งเต็มพิกัดชาวมอญ ใช้ชีวิตคู่กับภรรยาในถิ่นชาวมอญ ในขณะที่ นาวาตรี มนัส ลักลอบเข้าไทย ถูกตำรวจไทยจับขังคุกดำเนินคดี…

ตอนต่อไป…จะขอนำเสนอ เหตุการณ์ที่ไม่ค่อยมีใครทราบ ย้อนหลังไป 29 มิถุนายน 2494 ในขณะที่ จอมพล ป. ถูกจับเป็นตัวประกันบนเรือหลวงศรีอยุธยานั้น… นาวาเอก อานนท์ พูดอะไร และจอมพล ป. พูดอะไร ในช่วงนาทีวิกฤตแห่งความเป็นความตาย…

ชนรุ่นหลังจะได้ “ความกระจ่าง” ใน “ความมืดมิด”

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลจาก ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน โดย นิยม สุขรองแพ่ง และแปดฝนในเมืองมอญ โดย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image