ตัดไม่ขาด โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ

โดยเฉพาะกรณีที่ใครจะตัดพี่ ตัดน้องกัน

เพราะเราคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งที่รู้ว่า บางทีพี่น้องเขาไม่ถูกกัน ชนิดแบ่งกันเป็นรุ่นๆ แตกแยกกันไม่เฉพาะในรั้วเท่านั้น

Advertisement

ยังมี “ลูกหลง” ลามออกมาเป็นวิกฤตของบ้านเมือง

และจบลงที่ปฏิวัติ บ้านเมืองเสียหายก็มีมาแล้ว

แต่ก็พยายามทำใจว่า นั่นเป็นกรณีพิเศษ มิใช่ประเด็นในเชิงหลักการ

Advertisement

ต่างจากสิ่งที่อยากเขียนถึงนี้

ซึ่งแม้จะอ้างมาจากอารมณ์ชั่ววูบก็ตาม

แต่การที่จะ “ชั่ววูบ” ได้ มันต้องสะสม ตกตะกอน จนกลายเป็นจิตใต้สำนึก

และมักจะหลุดออกมาเมื่อควบคุมตัวเองไม่ได้

ใช่แล้ว กำลังจะเขียนถึงกรณี ส.ว.สายทหารลั่นวาจา ที่ได้ยินไม่ใช่เฉพาะรัฐสภา

หากแต่กึกก้องไปแทบ “บ้านทุกครัวเรือน”

“ถ้าเป็นแบบนี้ มันต้องปฏิวัติกัน 20 ปี”

คือสิ่งที่หลุดออกมาจากปากของ ส.ว.สายทหารผู้นั้น

หลุด ทั้งที่ท่านผู้นั้นกำลังสวมหมวก “สมาชิกรัฐสภา”

ทั้งที่นั่งอยู่ใน “รัฐสภา” ในฐานะผู้แทนราษฎร ประเภทหนึ่ง (ซึ่งจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม มิใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันตอนนี้)

อันเป็นองค์กรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในฐานะ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”

แม้เจ้าตัวจะรีบถอนคำพูดดังกล่าวเมื่อควบคุมอารมณ์ได้

แต่มันก็ได้เปลือย ชนิดแบบ “ล่อนจ้อน” ว่าลึกๆ แล้วเหล่าบรรดาเสนาอำมาตย์นั้น

ผูกพันอาวรณ์กับการ ปฏิวัติ-รัฐประหาร อยู่มากเพียงใด

แม้จะเข้ามาเล่นอยู่บนเวทีประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ศรัทธากับคำว่า “ประชาธิปไตย” สักเท่าไหร่

ยังรู้สึกความเหนือกว่า ดีกว่า ที่เข้ามาก็มาในฐานะ “พี่เลี้ยง” หรือผู้กำกับดูแล

มิใช่ในฐานะตัวแทนของประชาชน

อย่างไรก็ตามความรู้สึกที่ใม่ใช่เนื้อเดียวกัน พยายามเก็บเอาไว้

มิดชิดบ้าง ไม่มิดชิดบ้าง แต่พออ้อมแอ้มว่าเราก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

แต่เมื่อถูกกระตุ้น หรือมีสิ่งเร้าเข้ามาเร่งปฏิกิริยา

“จิตใต้สำนึก” ก็หลุดออกมา–นั่นคือขู่หรือไม่ก็เรียกร้องการ “ปฏิวัติ”

ในช่วงรัฐประหาร 5 ปีที่ผ่านมา

เราไม่รู้ว่า “จิตสำนึกเหล่านี้” ถูกปลูกฝังเข้าไปในดีเอ็นเอของคนในกองทัพ “หนา” ขึ้นเท่าใด

แต่การที่ฝ่ายนำของกองทัพไม่มีเจตนาแน่วแน่ที่จะดึงกองทัพออกจากการเมืองกลับสู่ที่ตั้ง วางตัวเป็นกลาง เป็นทหารอาชีพ

ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพึงใจที่จะให้ทหารยุ่งเกี่ยว ผูกพันกับการเมืองต่อไป

หนักไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังถูกวางกลไกให้คนของกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการ “บริหาร” อย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะกลไก กอ.รมน. ที่มีผู้กล่าวว่าถูกวางให้เป็นประหนึ่งรัฐซ้อนรัฐเลยทีเดียว

ทำให้คนของกองทัพคุ้นชินที่จะใช้อำนาจบริหาร มิใช่อำนาจรักษาความมั่นคงเท่านั้น

5 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของกองทัพตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับสูง “จำนวนมาก” ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ประหนึ่งเหมือน ยักษ์ได้ออกจากตะเกียงแล้วยากจะดึงกลับ

แถมจะกลายเป็นความเคยชินกับการใช้อำนาจที่ไม่ใช่หน้าที่ตน และฝังลึกเข้าไปในจิตสำนึกว่า นี่คือภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของตนที่จะต้องปกปักดูแลบ้านเมืองอีกต่างหาก

ทั้งที่ไม่ใช่

แต่ก็ได้ตกผลึกในใจไปเรียบร้อย และไม่พอใจหากใครจะมาริบเอาสิ่งนี้ไป

เพียงแต่ไม่แสดงออกโต้งๆ เพราะอีกด้านหนึ่งก็รู้ว่านั่นไม่ใช่อำนาจของตน

แต่มันโผล่ออกมายามไม่รู้ตัวหรือคุมสติตัวเองไม่ได้

สะท้อนถึงการตัดปฏิวัติ “ไม่ขาด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image