ควันหลงอภิปรายสภา ทิศทางของการเมืองระบอบใหม่ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ารอภิปรายนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์สอง (คือ รัฐบาลที่เปลี่ยนจากยุคการยึดอำนาจ มาสู่การใช้หนทางรัฐสภาผ่านการมีพรรคใหม่รองรับอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง) ทำให้เห็นเรื่องราวหลายประการที่น่าตั้งข้อสังเกต

1.บรรยากาศในสภาไม่น่าตื่นเต้นอะไรมาก เมื่อเทียบกับการอภิปรายในสภาในสมัยก่อน ส่วนหนึ่งเพราะว่าระบบการเลือกตั้งแบบใหม่และโครงสร้างรัฐธรรมนูญเอง ทำให้บรรดานักการเมืองระดับอาวุโสของพรรคฝ่ายค้านนั้นเข้าสภาไม่ได้ ด้วยว่าพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยนั้น เสียเปรียบในระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาในเรื่องของบัญชีรายชื่อพรรค ซึ่งไม่สามารถเข้ามาได้เลย แม้ว่าจะมีเก้าอี้มาจากการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ก็มาจาก ส.ส.แบบรายเขต และหัวหน้าพรรคที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่ก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าสภาอย่างน่าสงสัยในเรื่องข้อกล่าวหา ว่าถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่

แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การอภิปรายเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในรอบนี้ก็เป็นโอกาสอันดีให้สมาชิกหน้าใหม่ และสมาชิกระดับกลางของพรรคได้แจ้งเกิด รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ ด้วย

ขณะที่อาจจะมองได้เช่นกันว่า ระบอบที่เป็นอยู่นี้มีการวางแผนกันมาอย่างดี ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจรู้สึกไม่ได้ถูกกดดันอะไรมากมายจากเกมสภา และสามารถออกอาละวาดได้อย่างสนุกสนาน

Advertisement

ผมจึงไม่ได้คิดว่า นายกฯนอตหลุดหรือคุมอารมณ์ไม่ได้ แต่อยากตั้งคำถามว่า ทำไมเขาต้องคุมอารมณ์ด้วย เพราะไม่มีแรงกดดันอะไรให้ต้องคุมอารมณ์มิใช่เหรอ?

2.มีการถกเถียงมากมายในเรื่องของความหมายของนโยบาย ว่าตกลงนโยบายของรัฐบาลที่นำเสนอนั้น มีความเป็นนโยบายหรือไม่ หรือว่ากว้างเกินไป ไม่มีทิศทาง ทำได้จริงหรือไม่ ฯลฯ

Advertisement

ประเด็นในเรื่องนี้มีสองเรื่องย่อยที่น่าสนใจ

หนึ่ง อย่าไปยึดติดกับคำนิยามและขอบเขตของนโยบาย (ของรัฐบาล) ให้มันมากนัก แต่ให้พิจารณาง่ายๆ ว่า เวลาที่รัฐบาลแถลงนโยบายนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ สิ่งที่ควรถามมากที่สุดก็คือ เขาอธิบายได้ไหมว่าทิศทางในการบริหารบ้านเมืองของเขามันต่าง หรือเหมือนจากที่ทำมาแล้วห้าปีอย่างไร และเขา (และเรา) เรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมาอย่างไร และจะปรับปรุง ปรับเปลี่ยน หรือทำเหมือนที่แล้วๆ มา นั่นแหละครับ

การอภิปรายเรื่องนโยบายจึงไม่ใช่การตรวจการบ้านว่าเขียนสวยไหม เขียนครอบคลุมไหม ใช้ภาษาถูกไหม แต่มิติที่เกี่ยวข้องระหว่างนโยบายกับการเมืองของบ้านเรามันอยู่ตรงนี้แหละครับ ไม่งั้นก็มาอ่านอะไรที่ไม่อินกันทั้งคนอ่านและคนฟังเหมือนที่เราเห็นมานั่นแหละครับ

สอง เรื่องน่าเบื่อในการสอนเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะ (public policy) ในประเทศไทย จากประสบการณ์ของผมเองที่บางครั้งก็ถูกเชิญไปสอน ก็คือตัวผมเองก็ไม่ได้มีศรัทธาในการสอนในส่วนนี้มากนัก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนโยบายสาธารณะนั้นมันไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัว หรือถ้ามีคำจำกัดความที่ตายตัว มันก็เป็นเรื่องการกล่อมประสาทให้เราต้องคิดแบบระบบราชการ และยอมรับลำดับชั้นในการจัดวางความคิดของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เดิมมากกว่า ว่าจะต้องไล่เรียงจากวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน และโครงการ

อีกส่วนหนึ่งของการมองและศึกษาเรื่องนโยบายในแบบที่ผ่านมาคือ การยอมรับว่าสิ่งที่ผ่านมานั้นมันต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป และแค่ปรับเล็กปรับน้อยก็พอ เพราะเรามีนโยบายมากมายให้วิเคราะห์วิพากษ์ ดังนั้นเราจึงมักยอมรับสิ่งที่ผ่านมาและโครงสร้างลำดับชั้นของนโยบายเดิมต่อไป และยอมรับว่านโยบายนั้นหมายถึงสิ่งที่รัฐจะทำให้กับประชาชน (อีกส่วนหนึ่งเพราะคนเรียนรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจ มักจะมีมุมมองในแบบรัฐเป็นศูนย์กลางและต้องไปเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐในท้ายที่สุด)

วลาที่ถกเถียงและสอนเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะ เรามักเริ่มง่ายๆ ว่าคือ การกระทำของรัฐแบบหนึ่งที่วางแนวทางเอาไว้อย่างมีเหตุมีผล แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่ควรจะต้องเริ่มสอนเรื่องนโยบายสาธารณะนั้นไม่ควรเริ่มสอนว่านโยบายคืออะไร แต่ควรให้จินตนาการและความเข้าใจกับผู้เรียน ผู้จัดทำ ผู้ประเมิน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายว่า “สาธารณะ” คืออะไร ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่านโยบายคืออะไร

จากนั้นก็ควรจะทำความเข้าใจด้วยว่า รัฐ และรูปแบบสาธารณะแบบอื่นคืออะไร รวมทั้งระบบราชการคืออะไร ก่อนที่จะไปเน้นแต่ลำดับขั้นของนโยบายและเนื้อหา และการได้มาของนโยบาย

 

เพราะในสมัยนี้การจัดการสาธารณะนั้นไม่ได้มีแต่รัฐเท่านั้นที่เป็นคนทำ และในด้านกลับกันเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ทำไมบางเรื่องรัฐยังจะต้องเป็นคนทำ ไม่ปล่อยให้องค์กรอื่นเขาเป็นคนทำ

การทำความเข้าใจว่าสาธารณะคืออะไรในบริบทใหม่ของนโยบาย ส่วนหนึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าสาธารณะนั้นเป็นทั้งที่มาของนโยบาย (ความต้องการ และข้อมูล) และเป็นทั้งผู้ได้รับนโยบาย และได้รับผลกระทบนโยบาย นอกจากนี้ แล้วในปัจจุบันสาธารณะอาจจะกำหนดนโยบายเอง นำนโยบายไปปฏิบัติเอง ประเมินนโยบาย รวมทั้งกดดันเรียกร้องนโยบายใหม่ๆ ด้วย

ฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมแถลงนโยบายครบครัน นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาดหม ภาพโดย “มติชน “

การทำความเข้าใจสาธารณะในมิตินโยบายสาธารณะอีกประการหนึ่งก็คือการทำให้เราเข้าใจว่า รัฐนั้นมีมุมมองต่อเรื่องสาธารณะ (และประชาชน) อย่างไรในการกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมา ใครต้องรอก่อน ใครได้ผลจากนโยบายก่อนในหลายๆ ครั้ง

3.ในการจัดสัดส่วนของการใช้เวลาอภิปราย รวมทั้งพลวัตทางการเมืองไทยในช่วงก่อนหน้าการอภิปรายเล็กน้อย ในเรื่องของข่าวลือว่าทั้งประยุทธ์และประวิตรนั้นจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นำไปสู่การทำความเข้าใจกลุ่มก้อน (constellation) ของอำนาจรัฐใหม่ของรัฐบาลประยุทธ์ที่เปิดหน้าเล่นในสภาถึงสามระดับ ถ้าไม่นับการจัดสัดส่วนให้ฝ่ายค้าน

หนึ่งคือ ทีมงาน คสช.เก่าและบรรดาเทคโนเครต ที่ร่วมงานกันคือ ทีมรัฐมนตรีเก่าที่ยังอยู่ในอำนาจ และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กป๊อก บิ๊กป้อม สมคิด วิษณุ ดอน ฯลฯ พวกนี้คือกลุ่มก้อนสายตรงจากระบอบเก่า

สองคือ ทีมงานของพลังประชารัฐ ที่บางส่วนนั้นเคลื่อนย้ายตัวเองมารัฐบาลในระบอบเก่า โดยสายสัมพันธ์ที่โยงใยกับสมคิดโดยเฉพาะสายเทคโนเครต ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน บางส่วนเป็นนักการเมือง เช่น กลุ่มสามมิตร พลังชล ซึ่งบางส่วนก็เชื่อมโยงหรือเคยร่วมงานกับนายสมคิดมาก่อน หรือเคยร่วมเป็นบางส่วนของรัฐบาลมาก่อน หรือเป็นพลังทางการเมืองอย่างทีมงานรุ่นใหม่ของ กปปส.เดิมที่มีราคาและอำนาจในการต่อรองตำแหน่งไม่ใช่น้อย

สามคือ บรรดาวุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งหรือเลือกจิ้มมาจาก คสช.เดิม ซึ่งหลายส่วนก็ทำหน้าที่เชียร์จนออกนอกหน้าในการอภิปราย แต่บางส่วนก็สงวนท่าทีและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายอย่างน่าสนใจ แต่ทั้งหมดนั้นโหวตประยุทธ์เป็นนายกฯในรอบนี้

ในแง่นี้การถ้อยทีถ้อยอาศัยของอำนาจสามระดับนี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญในเกมสภาที่ทำให้ประยุทธ์นั้นไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐโดยตรง เพราะจะเป็นการลดระดับอำนาจของตัวเองลงมาเท่ากับนักการเมืองคนอื่น และสภาวะต่อรองอำนาจจะง่ายเกินไป

อธิบายง่ายๆ ว่า ภาพของฝ่ายรัฐบาลในสภาที่มีสามประสาน ไม่นับพลังนอกสภาในหลายแบบหลายขั้น/ชั้นนั้นล้วนเป็นกลุ่มก้อนอำนาจใหม่ และเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของประยุทธ์และพวกไปอีกระยะหนึ่ง นับรวมทั้งทุนขนาดใหญ่ที่ไม่เคยส่งสัญญาณผิดหวังกับรัฐบาลนี้และระบอบที่ผ่านมา

คำถามก็คือ การอธิบายเครือข่ายอำนาจในแบบเดิม และการเร้นลึกของรัฐนั้นจะยังใช้ได้กับระบอบใหม่ที่ไม่สะทกสะท้านกับปัญญาคุณสมบัติของรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี และยังเปิดหน้าเล่นแบบนี้และสามารถชี้นิ้วใส่ตัวแทนประชาชนได้แค่ไหน? หรือเราต้องการการทำความเข้าใจระบอบนี้แบบใหม่ทั้งในส่วนเปิดหน้าและในส่วนเบื้องหลัง/ปกปิด ที่ไม่ใช่แค่การประดิษฐ์คำใหม่ๆ ให้หวือหวา แต่ต้องสามารถยึดกุมจิตใจของผู้คนให้ประเด็นใหม่ๆ อะไรจากโครงสร้างอำนาจในวันนี้ได้บ้าง

นอกจากนี้แล้ว ส่วนหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตในรอบนี้ก็คือ การได้เห็นบรรดาเครือข่ายอำนาจของประยุทธ์และ คสช.หลายคนลุกขึ้นอภิปรายนั้น ผมคิดว่าพวกเขามีความสามารถพิเศษในการใช้ภาษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในการพูดกับผู้มีอำนาจเสียจนตัวเองได้ถูกผนึกประสานเข้าสู่กลไกอำนาจเหล่านั้น เราจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมระบอบรัฐประหารห้าปี หรือสิบปีที่ผ่านมาจึงเลือกใช้คนเหล่านี้เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำหลายๆ สาย

ประเด็นของการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจของคนกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่เรื่องความรู้โดยตรง แต่เป็นเรื่องของความสบายใจที่ผู้มีอำนาจจะรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ และมั่นใจกับการร่วมงานกับคนที่มีทัศนคติและความรู้ในแบบนี้ให้มาร่วมกันใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีชมเชยผู้มีอำนาจ วิธีการนำเสนอความคิดและให้ข้อคิดเห็นในการระมัดระวังในบางเรื่อง

จนบางทีผมคิดว่า การเมืองไทยนั้นความสำคัญจริงๆ เป็นเรื่องของการเอาพวกเอาฝูง และความภักดีต่อเครือข่ายอำนาจนั่นแหละครับ ความสามารถนั้นจ้างได้ แต่ความสบายใจในการเป็นพวกเป็นพ้องเดียวกัน และมีศัตรูคนเดียวกันอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่เราตระหนักถึง

4.การอภิปรายในรอบนี้สิ่งที่ชัดแจ้งกว่าการอภิปรายในทุกครั้งที่ผ่านมาก็คือ การเปิดเผยให้เห็นทัศนคติและความโน้มเอียง (orientation) ทางอุดมการณ์และทรรศนะบางประการ (ไม่อยากจะเรียกว่าอคติ เพราะจะดูลบเกินไป) ไม่ว่าจะแนวคิดที่ว่าพวกนักการเมืองนั้นบิดเบือนประเด็น ไม่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง คนจนนั้นมีทัศนคติและแบบแผนการใช้ชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา หรือพวกนายทุนใหญ่นั้นเขายินดีที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติทั้งที่เจริญอยู่แล้ว หรืออย่ามัวมาทะเลาะกันเลย ต้องช่วยกัน แม้กระทั่งการวิพากษ์ว่าใครเป็นขี้ข้าใคร หรือใครไม่มีข้อมูลจริงบ้าง

ความน่ามหัศจรรย์ของการเปิดเผยอคติอย่างตรงไปตรงมานั้น ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายคนมีอำนาจไม่รู้สึกถึงแรงกดดันอะไร และรู้สึกว่าที่ผ่านมานั้นตนสามารถทำอะไรก็ได้ เพราะทัศนคติของตนนั้นเป็นทัศนคติที่ถูกต้อง เรื่องนี้ทำให้ต้องมาคิดว่า ความคิดเห็นอื่นๆ นั้นไม่ถูกผนวกเข้าไปในระบบคิดของฝ่ายผู้มีอำนาจได้เลย

5.ประการสุดท้าย หากดูท่าทีที่ผู้มีอำนาจบางคนมีต่อผู้อภิปรายด้านนโยบายเกษตรของอนาคตใหม่ ความน่าสนใจอาจไม่ใช่เรื่องของเนื้อหาเท่านั้น แต่หมายถึงท่าทีและภูมิหลังความเป็นมาของคนอภิปรายที่ผู้มีอำนาจนั้นรับได้ และท่าทีนี้ก็เป็นท่าทีอีกด้านหนึ่งที่ผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งไม่ได้ปฏิเสธอนาคตใหม่ไปทั้งหมด แต่ปฏิเสธท่าทีและจุดยืนของผู้นำของอนาคตใหม่หลายท่าน แต่ก็มีท่าทีการโอบอ้อมและเอาเข้ามาเป็นพวก (patronizing) ให้คนบางคนในพรรคเข้ามาในวงสนทนาได้บ้าง เช่น ยอมรับข้อมูลบางส่วน ตราบใดที่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองและการโจมตีว่าอีกฝ่ายมีเจตนาไม่ดี รู้จักครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ยอมรับในวุฒิการศึกษา (จริงๆ หมายถึงชื่อเสียงของโรงเรียนด้วย) ความสามารถ และความสำเร็จที่ผ่านมา

เรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม แต่ควรยกระดับมาทำความเข้าใจกระบวนการที่เรียกว่า การเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบชนชั้นนำในสังคมไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องเดียวกับการยกระดับทางสังคมในแบบเสมอภาค (social mobility) ที่เราเชื่อๆ กันว่า คนเรามีความรู้มีการศึกษาและผ่านเพียงระบบการศึกษาก็สามารถยกระดับทางชนชั้นได้

ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่จริง แต่การยกระดับทางสังคมนั้นอาจทำให้เกิดการเลื่อนชนชั้นได้ในทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ทำให้กลายเป็นชั้นชน (strata and status) ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางวัฒนธรรมในความหมายของการถูกผนวกตัวเองเข้าไปในเครือข่ายอำนาจในสังคมได้

เรื่องนี้นำไปสู่ความสลับซับซ้อนของการทำความเข้าใจสังคม สังคมเศรษฐกิจ และสังคมการเมืองในประเทศไทย ที่มีแต่เงินและความรู้ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะเลื่อนสถานะทางสังคมอย่างรอบด้านได้ การมีทุนทางวัฒนธรรมบางอย่าง จึงเป็นส่วนสำคัญและการมีเครือข่ายบางอย่างที่เหนือไปจากการมีเงิน การมีการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เป็นลูกศิษย์ใคร ทำงานกับใคร เป็นลูกหลานใคร จบจากสถาบันไหน (หมายถึงรู้จักใครบ้าง) รวมไปถึงแต่งงานดองกับใคร และแสดงออกซึ่งทัศนคติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเช่นไร เรื่องเหล่านี้มีผลสำคัญต่อความไว้เนื้อเชื่อใจในการสร้างเครือข่ายอำนาจทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องการจะชี้ว่า การอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งผ่านไปนี้ไม่ได้จบลงแค่ในตัวเหตุการณ์ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นทิศทางของการเมืองไทยในช่วงนี้ที่กำลังจะดำเนินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง หากไม่ใช่ทิศทางที่จะดำเนินไปอีกยาวนาน

ภาพฝ่ายค้าน กำลังหารือร่วมกัน ระหว่างแถลงนโยบายของรัฐบาล – ภาพมติชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image