สัพเพเหระคดี : ยึดหน่วงไม่ได้ : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นพนักงานบริษัท ทำงานได้ค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท

คุณโผงเกิดขัดใจอะไรกับบริษัทไม่ทราบได้ สิ้นเดือนจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากงาน

บริษัทขอให้คุณโผงส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารการทำงานที่อยู่ที่คุณโผงแก่บริษัท

คุณโผงไม่ยอมส่งมอบ

Advertisement

บริษัทว่า ถ้าไม่ส่งมอบมาจะไม่จ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้าย และเงินทดรองจ่ายที่บริษัทจะต้องจ่ายให้นะ

คุณโผงบอกว่าถ้าไม่จ่าย ก็มีปัญหากัน คงต้องไปเจอกันที่ศาล

คุณโผงฟ้องขอให้บังคับบริษัทจ่ายค่าจ้าง 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินทดรองจ่าย 13,323 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่คุณโผง

Advertisement

บริษัทให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บริษัทชำระเงินทดรองจ่าย 11,823 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าจ้าง 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่คุณโผง

บริษัทอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เมื่อคุณโผงลาออกโดยไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 15 แห่ง แก่บริษัท บริษัทจะยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 ได้หรือไม่

เห็นว่า ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่บริษัทค้างจ่ายแก่คุณโผง เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่

ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่าย กับข้ออ้างเรื่อง ความเสียหายจากการที่คุณโผงไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงาน เมื่อคุณโผงลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน

ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของคุณโผงที่บริษัทครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่บริษัทเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น

ดังนั้น บริษัทไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตามมาตรา 241

บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่คุณโผง

พิพากษายืน

เป็นอันว่า คุณโผงชนะคดี เดินผิวปากวู้วี่ๆ ฟังดูไม่เป็นเพลงใดกลับไป

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558)

++++++++++++++++++++++++++

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 241 ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด

อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

 

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image