เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์พ้นจากตำแหน่งก็จะต้องถูกฟ้องร้องคดีอาญาร้ายแรง : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โดนัลด์ ทรัมป์ (ภาพ AFP)

การแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2559 โดยรัสเซียเป็นเรื่องจริง ซึ่งทำให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ม้ามืดแบบเป็นรองอย่างสุดกู่กลับได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างพลิกความคาดหมาย จึงมีการตั้งสำนักงานของที่ปรึกษาพิเศษด้านกฎหมาย หรือก็คืออัยการพิเศษนำโดย
นายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอเพื่อสืบหาว่ามีการวางแผน ดำเนินการ และมีการร่วมมือกับใครบ้างในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะคือมีคนจากคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมด้วยกี่คน และที่สำคัญที่สุดคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ เองมีส่วนในการร่วมมือและทำการขัดขวางระบบยุติธรรมด้วยหรือไม่? เพราะหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมนี้ เขาก็จะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างแน่นอน

ครับ! สำนักงานอัยการพิเศษนี้ตั้งขึ้นเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วนะครับ ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามขัดขวางการทำงานของอัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ทุกวิถีทางถึงขนาดปลดผู้อำนวยการเอฟบีไอ นายริชาร์ด โคมีย์ เจ้าของคดีออกจากตำแหน่งและต่อมาก็ปลด นายเจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐ ผู้เป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีชุดแรกในคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แต่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเป็นนิติรัฐสูงครับ คือกฎหมายต้องเป็นกฎหมายโดยกฎหมายมีความชัดแจ้งอยู่ในตัวไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป ดังนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงไม่สามารถปลดหรือขัดขวางการทำงานของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษได้

นายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ใช้เวลาสืบสวนนานถึง 22 เดือน ก่อนจะสรุปว่ารัสเซียลงมือแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2559 อย่างกว้างขวางและเป็นระบบ เพื่อช่วยเหลือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทุกด้าน เพื่อช่วยให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดี โดยมีผู้ต้องหาถึง 34 คนซึ่ง 26 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวรัสเซียและชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวอเมริกัน ส่วนผู้ใกล้ชิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชาวอเมริกันที่อยู่ในทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องติดคุกฐานทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซียนี้หลายคน

Advertisement

แต่นายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ไม่ได้ฟ้องร้องเอาผิดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าประธานาธิบดีทรัมป์บริสุทธิ์ซึ่งนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ได้ปฏิบัติตามจารีตของกระทรวงการยุติธรรมที่กำหนดว่าจะไม่มีการฟ้องร้องกล่าวโทษประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการะหว่างดำรงตำแหน่งอยู่แต่สามารถฟ้องร้องกล่าวโทษประธานาธิบดีได้เมื่อประธานาธิบดีผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

อดีตอัยการพิเศษสหรัฐ โรเบิร์ต มุลเลอร์ เข้าไปตอบคำถามของคณะกรรมาธิการด้านยุติธรรมของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ โดยระบุว่า การสืบสวนของตนเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2559 นั้น มิได้ปลดเปลื้องความผิดให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในข้อกล่าวหาเรื่องขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

โรเบิร์ต มุลเลอร์ อธิบายสาเหตุที่ไม่ยื่นฟ้องประธานาธิบดีทรัมป์ แม้พบหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจมีการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมจริง โดยระบุว่ากฎระเบียบที่ใช้มาอย่างยาวนานภายในกระทรวงยุติธรรม ระบุไว้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐที่อยู่ในตำแหน่งไม่สามารถถูกฟ้องร้องเพื่อเอาผิดทางกฎหมายได้ และสำนักงานของเขาก็อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่านี้อัยการมุลเลอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้พยายามขอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาให้การด้วยตัวเอง แต่ถูกปฏิเสธ และเพียงแต่ตอบคำถามบางคำถามด้วยการเขียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อัยการมุลเลอร์ยืนยันตามที่สรุปไว้ในรายงานการสืบสวน 448 หน้าที่ใช้เวลาร่วม 22 เดือนว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้อง ปธน.ทรัมป์ และคณะหาเสียงของทรัมป์ว่ากระทำความผิดด้วยการสมคบคิดกับรัสเซียเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

Advertisement

ต่อมา ส.ส. เคน บัคค์ จากพรรครีพับลิกัน ถามอัยการมุลเลอร์ว่า

“หากคุณเชื่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กระทำผิดจริง คุณสามารถตั้งข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมกับ ปธน.ทรัมป์ หลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งแล้วใช่หรือไม่ ?”

ซึ่งนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ตอบว่า “ใช่”

ครับ! ทำให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีการเคลื่อนไหวที่ดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนต์) ซึ่งประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเชื่อว่าประธานาธิบดีนั้นกระทำผิดจริง ซึ่งเป็นการเข้าข่ายการกบฏ, ติดสินบน, อาชญากรรมร้ายแรง หรือความผิดทางอาญาอื่นๆ พวกเขาจะเริ่มต้นการฟ้องร้องประธานาธิบดี ซึ่งหากพิจารณาจากหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดจริง ฝ่ายนิติบัญญัติจะทำการร่างหนังสือถอดถอนไปยังสภาผู้แทนราษฎร และสภาจะทำการลงคะแนนเสียงรอบแรกโดยใช้เสียงส่วนมากตัดสิน

หากผลการโหวตสมาชิกสภาลงคะแนนเสียงให้ประธานาธิบดีถูกถอดถอน กระบวนการพิจารณาจะเริ่มต้นขึ้น โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องร้องประธานาธิบดีจากหลักฐานที่พวกเขามี ด้านประธานาธิบดีสามารถใช้ทนายสู้คดีได้ จากนั้นทางสมาชิกสภาเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมดและข้อโต้แย้งแล้ว พวกเขาจะทำการโหวตรอบที่สอง หากเสียงโหวตมากกว่า 2 ใน 3 ในที่สุดประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนโดยไม่มีการยื่นขออุทธรณ์

คอยดูกันต่อไปครับ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image