ขับรถชนคนตายทำไมไม่ติดคุก : ข้อเสนอเพื่อให้มีโทษสำหรับทุกความประมาทที่ไม่จำเป็น : โดย กล้า สมุทวณิช

ในคอลัมน์นี้ของสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริง และสมมุติฐานของปัญหาเรื้อรังเรื่องหนึ่งในกระบวนยุติธรรมของไทยที่มีปัญหาต่อความปลอดภัยสาธารณะ นั่นคือ ความประมาทบนท้องถนนจนมีคนเจ็บตายนั้น ไม่ได้นำไปซึ่งโทษทางอาญาตามสมควรแก่ผู้กระทำความผิดเสมอไปทุกกรณี

ซึ่งพร้อมกันก็ได้เสนอข้อมูลที่น่าจะพอชี้ว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่า ผู้กระทำนั้นเป็นเจ้าใหญ่นายโต อยู่ในราชสกุล หรือมีฐานะอิทธิพลใดที่จะหลบเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายได้ก็หาไม่ แต่เรื่องนี้เป็นเหมือน “ดุลยภาพ” ในทางปฏิบัติในกระบวนยุติธรรมของไทย ที่อาจจะเพื่อรักษาเยียวยาฝ่ายผู้เสียหาย ด้วยการให้ “รางวัล” ต่อผู้พลาดพลั้งกระทำการโดยประมาทที่ยอมรับผิดและพยายามแก้ไขเพื่อลดทอนความเสียหายจากการกระทำของตน ซึ่งหากครบเข้าองค์ประกอบบางอย่างที่เป็นอันรู้กันในทางปฏิบัติแล้ว จะได้รับความ “ปรานี” จากการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งดุลยภาพนั้นอาจจะช่วยทำงานได้จริงในเชิงการเยียวยา แต่ก็ทำให้กฎหมายจราจรนั้นขาดความศักดิ์สิทธิ์ลงไป ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อป้องกันอันตรายของสาธารณะ รวมถึงยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้กระทำความผิดที่ไม่มีฐานะหรือความสามารถเพียงพอที่จะแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากการกระทำความผิดของตนด้วย

จากการเก็บข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีการเปิดเผยเมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนถึงแก่ชีวิตอยู่ที่ 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

แม้ว่าจะมีหลายสาเหตุที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ปัจจัยประการหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยาก คือปัญหาเชิงกายภาพข้างต้นนั้นถูกซ้ำเติมด้วยความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจราจรทางบก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกละเมิดฝ่าฝืนมากที่สุดในระบบกฎหมายไทย

Advertisement

ถ้าเราจะหาดูข่าวอุบัติเหตุสยองขวัญที่เกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย ก็อาจจะหาดูได้ทุกวัน ล่าสุดที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ก็เช่นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่เมื่อดูจากกล้องวงจรปิดแล้ว ก็พบว่าก่อนศีรษะจะหลุดออกจากร่างจากอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่นั้นขับมาเร็วจนกล้องแทบจะจับภาพไม่ได้ แม้จะสลดใจแทนครอบครัวของผู้ตาย หากก็เชื่อเถิดว่าประชาชนหลายคนที่ได้เห็นคลิปนั้นก็อดมีความรู้สึกโชคดีแทนผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นในขณะเกิดเหตุเสียมิได้

อะไรทำให้คนกลุ่มหนึ่งกล้าที่จะขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูงขนาดนั้น หรือขับขี่ขณะเมาสุราเต็มที่ ไปบนท้องถนนที่อาจจะมีรถยนต์ของครอบครัวพ่อแม่ลูกที่นั่งกันมาเต็มคัน หรือหญิงสาวที่เพิ่งเริ่มงานใหม่ของเธอได้ไม่กี่วันหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หากท่านติดตามข่าวเรื่องนี้คงทราบว่าที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นนั้นล้วนเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริง
นั่นเพราะเขาแทบไม่รู้สึกว่าจะต้องเกรงกลัวกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการก่อนที่จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเหตุนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว แตกต่างจากการกระทำความผิดตามกฎหมายเรื่องอื่น ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า การกระทำความผิดเช่นนั้น มีคุกตะรางรออยู่แน่นอนตั้งแต่ในชั้นสอบสวนถึงสั่งฟ้อง

แล้วเราจะทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะ “ขันนอต” การลงโทษเกี่ยวกับความผิดประมาทเป็นเหตุให้คนตายบนท้องถนนให้มีสภาพบังคับพอที่จะขู่กำราบหรือยั้งใจผู้คนก่อนที่จะลงเท้าไปบนคันเร่งได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถคุ้มครองผู้เสียหายให้ได้รับการชดเชยเยียวยาที่รวดเร็วทันการณ์ได้ โดยไม่ต้องอาศัยดุลยภาพเชิงการต่อรองด้วยโทษทางอาญาต่อผู้กระทำผิดที่พยายามลดความเสียหายด้วยการชดใช้เยียวยา

Advertisement

สําหรับผมมีข้อเสนอสองประการดังนี้

ประการที่หนึ่ง การกำหนดรูปแบบของ “การกระทำโดยประมาท” ที่กฎหมายจะอภัยให้ไม่ได้ หากเรายอมรับว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นเรื่องการขาดเจตนากระทำความผิดทางอาญา แต่ก็ยังมีพฤติการณ์แห่งความประมาทในบางรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความไม่แยแสต่อความปลอดภัยของผู้อื่นบนท้องถนน เช่น กรณีเมาแล้วขับ การใช้ความเร็วเกินระดับปกติ การขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น หรือการแข่งรถไม่ว่าจะรูปแบบใดบนท้องถนน

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกำหนดให้พฤติการณ์ประมาท “อย่างร้ายแรง” ในกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้มีอัตราโทษสูงกว่ากรณีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัสตามปกติ แต่ต่ำกว่าการกระทำความผิดโดยเจตนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะกำหนดให้เป็นโทษที่รอการลงโทษไม่ได้

การกำหนดให้ชัดเจนว่าการกระทำโดยประมาทในรูปแบบใดนั้นเป็นกรณีที่กฎหมายและบ้านเมืองไม่อาจยกโทษให้ได้ ก็จะสามารถแยกการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่ขับมาดีๆ แล้วถนนลื่นแฉลบไปชนคนรอข้ามถนนเสียชีวิต กับกรณีที่ขี่บิ๊กไบค์มาด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชนคนที่ข้ามถนนบนทางม้าลายได้

ประการที่สอง กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียหายในทางแพ่ง ในเรื่องนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาอยู่แล้ว แต่ว่าจำนวนเงินที่เยียวยานั้นไม่ได้คำนวณจากฐานความเสียหายอันแท้จริงเช่นในการกำหนดค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งมีเพดานการจ่ายค่าตอบแทนนี้ในอัตราสูงสุดอยู่ที่ราวๆ สองแสนบาท ซึ่งเหมือนเป็น “ค่าทำขวัญ” จากรัฐ ในกรณีที่ไม่อาจปกป้องความปลอดภัยของผู้คนให้พ้นจากการกระทำความผิดทางอาญาได้เท่านั้น

แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะก้าวไปอีกขั้น ด้วยการกำหนดให้มีกลไกในการช่วยเหลือเยียวยาในทางแพ่งเพิ่มขึ้นให้ เพื่อให้สมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีที่ปรากฏว่าจำเลยไม่ชดใช้เยียวยาหรือจ่ายค่าเสียหายในเวลาที่สมควร เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ไปก่อนในเบื้องต้น จากนั้น “รัฐ” ในฐานะขององคาพยพผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ มีกลไกเครื่องมือต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายด้วยอำนาจรัฐ จะรับช่วงสิทธิในการ “บังคับคดี” ให้เอง

อันเป็นรูปแบบที่อาจจะ “คล้าย” กับกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่รัฐจะชดใช้ค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐไปก่อน จากนั้นจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตามกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้นต่อไป

ข้อเสนอนี้อาจจะดูไปไกล พร้อมกับคำถามว่า แล้วรัฐจำเป็นอะไรที่ต้องมารับผิดทางแพ่งแทนผู้กระทำความผิด และรัฐจะเอาเงินมาจากไหน

แต่ในความเป็นจริง รัฐจะต้องนำเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนไปใช้ “ทำอะไรสักอย่าง” อยู่แล้ว ขึ้นกับว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำเงินนั้นไปใช้ ซึ่งถ้าเราอยากรู้ว่ารัฐบาลใดมองเห็นเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญของรัฐประเทศลดหลั่นกันอย่างไร ก็พิจารณาได้จากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ก็ในเมื่อรัฐมีเงินพอที่จะซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงบินไปไหนต่อไหนได้ หรือมีเงินเอาไปใช้เพื่อการ “เอื้อความสะดวกสบายให้สมฐานะ” แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งแล้ว เราก็น่าจะมีเงินสักก้อนเพื่อการเยียวยาประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจากการกระทำละเมิดที่เกิดขึ้นจากความย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐได้เช่นกัน และถ้าพิจารณาต่อไปอีกว่า เงินนี้ก็ไม่ได้เป็นเงินที่จ่ายไปแล้วเสียเปล่าเหมือนเช่นการจ่ายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยกตัวอย่างไปเบื้องต้นด้วยแล้ว แต่เป็นเงินที่รัฐออกทดรองไปก่อน โดยจะเรียกคืนพร้อมดอกเบี้ยเอากับผู้กระทำละเมิดที่เกิดจากความประมาทอันไม่แยแสต่อความปลอดภัยของสาธารณะด้วยแล้ว

“มือไม้” และอำนาจรัฐน่าจะมีความสามารถในการบังคับคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนธรรมดาทั่วไปที่นอกจากจะโชคร้ายต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดแล้ว ยังต้องเดือดร้อนมารับภาระในการติดตามบังคับคดีเอาเองอีก

ทั้งนี้ อาจจะกำหนดโดยกฎหมายด้วยก็ได้ว่า ให้การบังคับคดีในกรณีที่รัฐเข้ามาชดใช้เยียวยาต่อผู้เสียหายแทนผู้ทำละเมิดนี้ ให้มีอายุความบังคับคดีที่ยาวเป็นพิเศษ รวมถึงไม่อาจเข้าสู่กระบวนการล้มละลายแบบที่มีกำหนดการปลดจากล้มละลายได้ ก็น่าจะทำให้รัฐสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปก่อนนั้นกลับคืนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

หากเรามีกระบวนการนี้ ในระยะแรก รัฐอาจจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการนี้ไปอย่างมหาศาล ซึ่งก็ต้องวางกติกากันในรายละเอียดว่าจะให้มีเงื่อนไขอย่างไรให้เป็นภาระต่อรัฐน้อยที่สุด

ถ้าต่อมาเราสามารถปลูกสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ในสังคมขึ้นมาได้ว่า การขับขี่รถยนต์หรือยานพาหนะด้วยความประมาทที่ร้ายแรงไม่แยแสต่อความปลอดภัยของผู้คนนั้น จะต้องได้รับโทษอาญาถึงจำคุกทุกกรณี จะคุกมากคุกน้อยก็ต้องติดคุก ยิ่งถ้าชนแล้วหนีหรือมีพฤติกรรมปกปิดความผิดก็จะคุกนาน ถ้าพยายามช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเสียหายบ้างก็จะเจอคุกน้อยหน่อย อาจจะไม่ถึงปี แต่ยังไงก็มีติดคุกแน่นอน และเมื่อพ้นโทษอาญามาแล้ว หากเป็นกรณีที่รัฐเข้าไปใช้สินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแทน ตัวเองก็ยังมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าเสียหายชดเชยจากสิ่งที่ตนได้ทำขึ้นคืนให้รัฐอยู่ ไปเป็นเวลาหลายสิบปี

ส่วนผู้เคราะห์ร้ายเป็นเหยื่อต่อความประมาทนั้น ก็ได้รับการชดใช้โดยรัฐ กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ต้องติดอยู่ในฝันร้ายอันยาวนาน ทั้งฝันร้ายจากอุบัติเหตุ และฝันร้ายจากกระบวนยุติธรรม

ในระยะยาว คดีความผิดที่เกิดจากความประมาทอันไม่สมควรนี้น่าจะลดลง และเป็นภาระต่อกองทุนนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ เท่าที่บรรทัดฐานใหม่ได้รับการปลูกฝังลงไปในสังคม

ลองหลับตาจินตนาการว่า หากเรามีกลไกเช่นนี้ ในคดี “แพรวา” แล้ว เธออาจจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำสักระยะเวลาหนึ่ง อาจจะปีหรือสองปีตามคำพิพากษาที่ปรานีแล้วในฐานะเป็นเยาวชนขณะกระทำความผิด จากนั้นเมื่อพ้นโทษจากเรือนจำมาแล้ว หลังจากนั้นต่อไป เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เธอหาได้ จะถูกรัฐหักคืนต่อหน้าต่อตา เพื่อคืนเข้าสู่กองทุนที่ได้ชดใช้แทนผู้เสียหายไปก่อนหน้านั้นแล้ว พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งจะเป็นอีกกี่สิบปีก็ไม่รู้

โดยกลไกนี้ ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องจดจำการกระทำอันเกิดจากความประมาทของตัวเองได้ตลอดเวลาเท่าที่ยังถูกรัฐเข้ามาหักเงินไปชดใช้ ไม่คิดว่าแบบนี้มันจะดีกว่าหรือ?

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image