คีย์การ์ด แอ๊กเซส

แฟ้มภาพ

ระบบแตะบัตรผ่านประตูแล้วไม้กั้นกระเด้งดึ๋ง โห้ย เท่ซะไม่มี

คำว่าระบบแตะบัตร เรากำลังพูดถึง “ระบบคีย์การ์ด แอ๊กเซส” (Key Card Access) ค่ะ ใช้กันเกร่อทั่วไปในโครงการจัดสรร ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม

ถ้าหากว่ากลับไปตรวจดูที่บ้านแล้วยังไม่มีระบบนี้ใช้ สันนิษฐานได้ว่าเป็นโครงการเก่ามากถึงมากที่สุด หรือเป็นโครงการไม่แพง เพราะระบบคีย์การ์ดในอดีตคงจะมีราคาโขอยู่พอสมควร

แน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่างในรายละเอียดกันอยู่บ้าง กรณีเป็นหมู่บ้านจัดสรร จุดที่จะแตะคีย์การ์ดส่วนใหญ่มีเพียง 1 จุด คือบริเวณประตูทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ถ้าเป็นหมู่บ้านไซซ์กลางๆ 100-200 หลัง มักจะมีประตูเข้า-ออกทางเดียวอยู่หน้าหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่ หรือทำเลดีจัดมีทางเข้า-ออก 2-3 ประตู ก็ไม่ยาก แค่ตามไปติดตั้งระบบอ่านสัญญาณคีย์การ์ดเพิ่ม

Advertisement

ทั้งนี้ทั้งนั้น คีย์การ์ด แอ๊กเซส มักจะมอบไว้ให้กับผู้ที่มีรถยนต์ขับ ซึ่งรถทั้งคันเป็นของชิ้นใหญ่เบ้อเริ่ม การใช้คีย์การ์ดทำให้สะดวกทั้งเจ้าของบ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย

ในการสกรีนหรือคัดกรองเบื้องต้นว่า รถยนต์ที่กำลังแล่นเข้าหมู่บ้านคันนั้นเป็นสมาชิกในหมู่บ้านหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ เขาก็ไม่มีคีย์การ์ด วิธีปฏิบัติคือจะต้องหยุดรถ แลกบัตรประจำตัว ทางพนักงาน รปภ.จะให้ “บัตรอ่อน” หรือบัตรกระดาษมา 1 ใบ

และแน่นอนว่าพนักงาน รปภ.ต้องให้ความสนใจรถยนต์คันที่ไม่ใช่เจ้าของบ้านเป็นกรณีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแขกหรือผู้มาติดต่อธุระปะปัง โดยเจ้าของบ้านต้องแจ้งให้ รปภ.ทราบว่า คนไหนอยากพบ คนไหนไม่อยากพบ คนไหนไม่ให้เข้า คนไหนเข้ามาได้

Advertisement

ตอนขาออกคนที่ไม่มีคีย์การ์ดต้องให้เจ้าของบ้านประทับตราหมู่บ้าน (ปกติจะปั๊มบ้านเลขที่) บางหมู่บ้านถ้าเจ้ายศเจ้าอย่างก็อาจจะต้องมีลายเซ็นกำกับมาด้วย ซึ่งบัตรอ่อนที่มีตราประทับเท่านั้นจึงจะแลกบัตรประจำตัวกลับคืนมาได้ แต่ถ้าหากไม่มีตราประทับจำเป็นต้องถูกกักรถไว้ตรวจสอบ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นคีย์การ์ด แอ๊กเซส สำหรับคอนโดมิเนียม ประโยชน์ใช้สอยดูจะมากมายก่ายกอง เพราะจุดที่ต้องใช้แตะบัตรผ่านมีอย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป จุดแรกประตูหน้าล็อบบี้ประจำตึก เรียกว่าห้องโถงประจำตึกก็ได้ เช่น คอนโดฯโครงการไหนมี 3 ตึก ก็จะมี 3 ล็อบบี้ เป็นต้น

แตะบัตรผ่านล็อบบี้แล้ว เดินเข้ามาข้างใน ยังค่ะยังไม่จบ เพราะเดินเข้าลิฟต์ไปแล้วจะมีหมายเลขบอกชั้นที่ต้องการไป ยกตัวอย่างวิมานรูหนู (ห้องขนาด 32 ตร.ม.) โครงการหนึ่งย่านประชาชื่น มี 19 ชั้น แต่ชั้นอยู่อาศัยเริ่มที่ชั้น 4-19 ดังนั้น เลขชั้นหรือ floor ที่จะไปเริ่มตั้งแต่ชั้น 4-5-6…ถึงชั้น 19

แถมอีกนิดนึง ชั้น 13 มันก็มีปกติของเขานั่นแหละ แต่บังเอิญว่าการอยู่ในคอนโดฯดูเหมือนเป็นธรรมเนียมฝรั่ง ปัญหามีอยู่ว่าฝรั่งนับถือเรื่องไสยศาสตร์กับเขาเหมือนกัน เขาบอกว่าเลข 13 เป็นเลขไม่ดี เลขโชคร้าย ดังนั้น การอยู่บนตึกสูงแม้เป็นชั้น 13 จะไม่เขียนตัวเลขชั้น 13 แต่จะเลี่ยงไปเลี่ยงมา เช่น ชั้น 12, ชั้น 12 A, ชั้น 14, ชั้น 15 เป็นต้น

วกกลับเข้าเรื่องนะคะ คีย์การ์ดในคอนโดฯแตะที่ประตูหน้าล็อบบี้ 1 จุด หลังจากนั้นต้องมาแตะเลือกชั้นในลิฟต์อีกเป็นจุดที่ 2 ข้อสังเกต คือ ระบบเซตมาให้สามารถแตะบัตรไปชั้นที่ตัวเองอยู่ กับชั้นที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง (มีสระว่ายน้ำ สโมสร ฟิตเนส เซาน่า ฯลฯ) เท่านั้น เช่นอยู่ชั้น 11 ไม่สามารถกดไปชั้น 7 ได้ เรียกว่าบัตรใครบัตรมัน ชั้นใครชั้นมัน ห้องใครห้องมัน ตัดปัญหาเรื่องมั่วนิ่มไปได้เลย

ยังมีอีกกรณีหนึ่งสำหรับคอนโดฯ สิ่งที่พบคือส่วนใหญ่มักมีคีย์การ์ดให้ 2 แบบ ตัวอย่างเช่น คีย์การ์ดสีน้ำตาลสำหรับผู้อยู่อาศัย ใช้เวลาแตะบัตรผ่านประตูล็อบบี้กับใช้ในลิฟต์ อีกใบอาจจะสีเขียว (ความจริงสีอะไรก็ได้ เพียงแต่ใช้คนละสีเพื่อให้รู้ความแตกต่างเท่านั้นเอง) ใบนี้ถือว่าเอ็กซ์ตร้าขึ้นมาเพราะใช้สำหรับแตะบัตรผ่านอาคารจอดรถหรือที่จอดรถ

เรื่องนี้เป็นความจำเป็นและถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการพักอาศัยในคอนโดฯ เคยชวนคุยไปหลายครั้งแล้วว่ามีประเด็นการแย่งที่จอดรถอยู่เนืองๆ เพราะกฎหมายก่อสร้างกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เพียงต้องมีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนห้องชุดในโครงการเดียวกัน

ดังนั้น วิธีบริหารจัดการในคอนโดฯเขาก็เลยเซตมาเลยว่า เจ้าของห้องชุดที่ไม่มีรถก็ถือคีย์การ์ดแค่แบบเดียว ค่าใช้จ่ายบวกรวมอยู่ในค่าส่วนกลางรายเดือนอยู่แล้ว แต่สำหรับเจ้าของห้องชุดที่มีรถยนต์ หลายๆ คอนโดฯเขาเลือกใช้วิธีภาคบังคับด้วยการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มต่างหาก อาจจะเดือนละ 300 บาท ปีละ 3,600 บาท แล้วแต่ตกลงกัน (ถ้านานๆ มาครั้ง มีค่าจอดรถแยกต่างหาก ราคาแพงกว่ากันเยอะเลย เช่น จอดค้างคืนคิดค่าจอดคืนละ 100 บาท เป็นต้น)

นั่นคือ เจ้าของห้องชุดที่มีรถยนต์ขับจะถูกบังคับให้จ่ายค่าคีย์การ์ดที่จอดรถเพิ่ม (ในที่นี้คือการ์ดสีเขียวนั่นเอง)

ความอเนกประสงค์ของคีย์การ์ดยังมีมากกว่านี้อีก ปัจจุบันทำเลของคอนโดฯยิ่งนาน

ยิ่งแหล่ม อยู่ใกล้ห้าง ใกล้ตลาดนัด ใกล้โรงพยาบาล ใกล้คิวรถตู้ ฯลฯ สามารถเดินเข้า-ออกทางประตูด้านหลังหรือด้านข้างได้ วิธีการก็เพียงแต่ตามไปติดตั้งกล่องรับสัญญาณคีย์การ์ดเพิ่มอีก 1 จุดที่ประตู เป็นการสกรีนคนนอกไม่ให้เข้ามาใช้ประตูคอนโดฯเป็นประตูสาธารณะ

คำถามคือ ระบบแตะบัตรหรือคีย์การ์ดเป็นมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวก (facility) หรือเป็นมาตรการที่ทำออกมาเพื่อรักษาความปลอดภัย (Security) กันแน่

เรื่องนี้สอบถามกูรูแล้วท่านยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าเป็นอุปกรณ์ติดตั้งเพื่อมาตรการรักษาความปลอดภัย เพราะการใช้คีย์การ์ดเท่ากับเพิ่มขั้นตอนในการเข้าใช้ตัวอาคาร ผู้ใช้ถูกบังคับให้มีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ทุกคนก็น่าจะชอบเพราะอย่างน้อยก็อุ่นใจว่าคนที่มีคีย์การ์ดคือสมาชิกภายในโครงการเดียวกัน

ก่อนจบแถมให้อีกนิด ทำการบ้านมูลค่าลงทุนคีย์การ์ดมาให้ Keycard Access Control ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นระบบกับบัตรที่ใช้ โดยระบบหมู่บ้านลงทุนเริ่มต้น 3-4 แสนบาท ตัวบัตรราคาใบละ 300-400 บาท ส่วนคอนโดฯเป็นระบบขนาดใหญ่ ผู้ใช้เยอะกว่า ลงทุนระบบอย่างเดียว 1-3 ล้านบาท ตัวการ์ดมีตั้งแต่ต้นทุนใบละ 50-300 บาท

สำหรับหมู่บ้านหรือชุมชนที่เริ่มสนใจคีย์การ์ด แอ๊กเซส คิดว่าเป็นทางเลือกที่ต้นทุนพอรับได้ แลกกับความสบายใจค่ะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image