สุจิตต์ วงษ์เทศ : หลวงพ่อขี้หอม สำนวนลาว ถิ่นกำเนิดอยู่ภูพาน บ้านผือ (อุดรธานี)

(ซ้าย) รูปหล่อพระครูโพนสะเม็ก (ขวา) บริเวณวัดที่จำปาสัก ที่เชื่อกันว่าบรรจุอัฐิของ “หลวงพ่อขี้หอม”

หลวงพ่อขี้หอม ชาวอีสานและลาวเรียก “ยาคูขี้หอม” บางทียกย่องเลียนแบบทางการว่า พระครูโพนสะเม็ก หรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
เป็นพระสงฆ์ผู้นำชุมชนและการเมืองสองฝั่งโขง ผมเคยรวบรวมเรื่องราวของท่านซึ่งมีผู้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้มาก มาพิมพ์รวมด้วยกันเป็นเล่มเมื่อหลายปีมาแล้ว (หลวงพ่อขี้หอมฯ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544)

มีเรื่องหนึ่งโดยนักค้นคว้าลาว จะคัดมาแบ่งปันทั้งหมด จะได้เทียบเคียงกับนักค้นคว้าไทย ดังต่อไปนี้

พระครูโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอม

จันท์ อินทุพิลาส เขียน (ชาย โพธิสิตา แปลจากต้นฉบับภาษาลาว)

พระครูโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอม เป็นพระมหาเถระ ผู้มีชีวิตอยู่ในราชอาณาจักรลาว เมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว เป็นผู้มีชื่อเสียงรู้จักกันดีทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงของอาณาจักรลาว ตั้งแต่เหนือจรดใต้
เพราะความที่ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพของประชาชนอย่างสูง จึงทำให้ประวัติของท่านผู้นี้เกือบจะกลายเป็นบุคคลในเทพนิยายไป เพราะบางตอนในประวัติเล่ากันไปในทำนองอภินิหาร
แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้นี้ก็เป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินลาว ที่นับว่าละเอียดพอสมควร และสมบูรณ์กว่าพระเถระองค์อื่นในสมัยเดียวกันนั้นตั้งหลายสิบองค์ เป็นธรรมดาคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของคนหลายถิ่นหลายแดน คนย่อมจะกล่าวถึงผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง และเป็นธรรมดาของคนในประวัติศาสตร์อันยาวนานย่อมจะต้องมีทั้งเปลือกและกระพี้ห่อหุ้มแก่นแท้อยู่ภายในหนาแน่น
เราผู้อ่านประวัติจะต้องใช้วิจารณญาณ ความพินิจพิเคราะห์ให้ดี อย่าเพิ่งด่วนเชื่อ และอย่าเพิ่งด่วนไม่เชื่อ

Advertisement

พระครูโพนสะเม็ก เป็นพระสงฆ์ผู้ทรงความดี เป็นที่รักและเคารพนับถือของประชาชนอย่างยิ่ง จนถึงกับว่ากันว่า แม้แต่อุจจาระของท่านก็ไม่เหม็น คนจึงถวายเนมิตกนามท่านว่า “หลวงพ่อขี้หอม”
ท่านมีประวัติเกี่ยวข้องอยู่กับคนชั้นเจ้าชั้นจอมตั้งแต่อยู่นครเวียงจันทน์ หรือกรุงศรีสัตนา คนหุต จนถึงตอนไปอยู่นครจำปากนาคบุรี หรือนครจำปาสัก และในที่สุดท่านได้มีส่วนจัดตั้งราชวงศ์ฝ่ายใต้ และอาณาจักรจำปาสักอันเป็นอาณาจักรที่ 3 ในดินแดนล้านช้างด้วย

พระครูโพนสะเม็ก ชื่อนี้เรียกตามพงศาวดารฉบับกระทรวงศึกษาธิการลาว แต่ในหนังสือพงศาวดารภาคที่ 70 เรื่องนครจำปาสัก ฉบับภาษาไทย เรียกว่า พระครูโพนสะเม็ด ในที่นี้จะไม่ขอกล่าววิจารณ์ว่าชื่อใดผิดชื่อใดถูก จะขอใช้คำว่าพระครูโพนสะเม็ก ในการเขียนประวัติของท่านตลอดเรื่อง

ชาติภูมิ คือสถานบ้านเกิดเมืองนอนเดิมแท้ของท่านอยู่ที่ใด และท่านเป็นคนลาวแท้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสงสัย
ในหนังสือเถรประวัติของพระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมกล่าวว่า
พระครูโพนสะเม็ก เกิดเมื่อปีมะแม พ.ศ.2174 (ค.ศ.1631) เกิดที่บ้านกะลึม เมืองพาน อยู่เชิงภูพาน ที่ประดิษฐานพระบาทบัวบก อยู่ในเขตเมืองผือ แขวงอุดรธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ในเรื่องเมืองจำปาสักที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น กล่าวไว้ว่าท่านมาจากบ้านกะลึม เมืองพานเหมือนกัน แต่ไม่ได้บอกชัดว่าบ้านนั้นอยู่ที่ใด และท่านบอกว่า ท่าน (ยังเป็นสามเณร) เป็นลูกศิษย์ของพระครูลึมบอง
ฟังดูตามชื่อบ้านและชื่ออาจารย์ของท่านแล้ว รู้สึกว่าจะกระเดียดไปทางภาษาเขมร (มีความหมาย) เกี่ยวกับภาษาเขมรหรืออะไรนี่แหละ ส่วนชื่อของท่านว่าโพนสะเม็กนั้น เป็นชื่อ (ที่เรียกกันตาม) ที่อยู่หรือชื่อจริงๆ ของท่านหรือว่าท่านมีชื่อจริงๆ อยู่อีกต่างหาก ยังสงสัย

ถ้าคำว่า กะลึมและลึมบอง เป็นภาษาเขมร
พระครูโพนสะเม็กก็อาจจะเป็นคนเขมร ไม่ใช่คนลาว จะเป็นคนเขมรบ้านกะลึมที่อยู่แถวเมืองอุดร หรือเป็นคนเขมรขึ้นมาจากดินแดนเขมรกัมพูชาแท้ๆ ก็อาจเป็นได้ เพราะเวลาท่านพาญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาลงไปทางใต้ ท่านจึงกล้าเข้าไปในดินแดนเขมรอย่างอาจหาญ จนถึงถูกไล่จึงถอยกลับ ถ้าท่านเป็นคนลาวคงจะไม่กล้าหาญถึงปานนั้น แต่เพราะท่านอาจคิดว่าเป็นบ้านเดิมของท่านจึงทำไปอย่างนั้นก็เป็นได้

ต่อไปนี้จะเล่าประวัติของพระครูโพนสะเม็ก ตามข้อความในพงศาวดารลาว และตามข้อความในเรื่องเมืองจำปาสัก อาจจะมีความเห็นของผู้เขียนแทรกเข้ามาบ้าง เป็นบางตอน :
เมื่อ จ.ศ.1005 ปีมะแม (พ.ศ.2186/ค.ศ.1643) มีพระครูยอดแก้วอยู่นครเวียงจันทน์ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช คืนหนึ่งจำวัดหลับไป ก็เกิดนิมิตความฝันว่า มีช้างพลายใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามาในอาราม ทำลายพระวิหาร แล้วขึ้นไปบนกุฏิเอางาแทงหอไตรพังทลายลง และจับเอาหนังสือคัมภีร์ต่างๆ กลืนกินเป็นอาหารหมดทั้งตู้
พอรุ่งแจ้งตกใจตื่นขึ้น พระครูยอดแก้วก็เล่านิมิตนั้นให้สงฆ์ทั้งปวงฟัง แล้วพากันไปบิณฑบาต พอตะวันสายพระสงฆ์ก็กลับจากบิณฑบาต เห็นสามเณรรูปหนึ่ง อายุราว 13-14 ปี มานั่งอยู่ในอาราม พระสงฆ์ทั้งปวงจึงถามสามเณรว่ามาจากไหน

สามเณรบอกว่ามาจากกะลึม เมืองพาน เป็นลูกศิษย์ของพระครูลึมบอง มาเสาะหาสำนักศึกษาเล่าเรียน
พระสงฆ์ทั้งปวงจึงไปไหว้เล่าความนั้นแด่พระครูยอดแก้ว พระครูยอดแก้วให้พาสามเณรนั้นขึ้นไปบนกุฏิ แล้วให้อยู่ด้วย ทั้งให้การอุปถัมภ์เป็นอย่างดี
ต่อมาพระครูยอดแก้วก็ให้สามเณรนั้นเรียนสวดมนต์จนเกิดพระปาติโมกข์ สามเณรก็เรียนได้ลึกซึ้งชำนิชำนาญ พระครูยอดแก้วก็ให้สามเณรนั้นท่องบ่นจำขึ้นใจได้หมด ต่อจากนั้นก็ให้เรียนพระไตรปิฎก ตั้งแต่พระธรรมบทชั้นต้นชั้นปลาย ไม่ว่าจะเรียนคัมภีร์อะไร ตลอดจนเอาคัมภีร์ในตู้ที่อยู่ในหอไตรมาให้เรียน สามเณรนั้นก็เรียนรู้จนจบหมด ไม่มีใครจะสู้ได้สักคน
ชื่อเสียงนี้เล่าลือไปถึงองค์พระเจ้ามหาชีวิต
พระองค์ก็มีพระราชหฤทัยเลื่อมใส ทรงสถาปนาให้เป็น “ซาจัว” (สามเณรผู้ทรงความรู้)

นับแต่นั้นมาก็เลื่องลือไปทั่วอาณาเขตประเทศล้านช้าง
เมื่อซาจัวนั้นอายุได้ 21 ปี พอที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ พระเจ้ามหาชีวิตจึงนิมนต์ซาจัวให้บวชเป็นพระภิกษุ ซาจัวจึงไหว้พระครูยอดแก้วว่าถ้าจะบวชให้ตนแล้ว ขอให้นิมนต์พระสงฆ์นั่งหัตถบาสได้ 500 รูป ให้ทำสิมน้ำ (อุทกสีมา) จึงจะบวช พระครูยอดแก้วก็ให้ไปถวายพระพรให้สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตทรงทราบตามถ้อยคำของซาจัว
เมื่อสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตทรงทราบดังนั้น ก็ตรัสสั่งให้เสนาข้าราชการ จัดหาเรือใหญ่มาผูกติดกันเข้าทำเป็นสิมน้ำ เมื่อถึงวันกำหนดก็แห่นาคซาจัวไปยังสิมน้ำ พระอุปัชฌาย์ พระอนุกรรมวาจา กับพระสงฆ์หัตถบาส 500 รูป ก็พร้อมกันทำอุปสมบทยกซาจัวขึ้นเป็นพระภิกษุ ขอนิสัยเสร็จแล้วพระอนุกรรมวาจากำลังจะให้อนุศาสน์ (คำสอนพระใหม่) แพที่ทำเป็นอุทกสีมาก็จมลงพอดี พระสงฆ์ทั้งปวงก็พากันว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ไตรจีวรเปียกหมดทุกรูป
แต่ภิกษุที่บวชใหม่นั้นไม่เปียก สบงจีวรยังแห้งอยู่ดังเดิม
สงฆ์ทั้งปวงเห็นแล้วก็พากันอัศจรรย์ใจ
สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตก็ทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง

เมื่อบวชได้เพียง 1 พรรษา สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตก็ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารครบถ้วนพร้อมด้วยคณะสงฆ์ ทรงตั้งพระภิกษุนั้นให้เป็นพระครู ให้อยู่วัดโพนสะเม็ก (ในเรื่องนครจำปาสักว่าวัดโพนสะเม็ก) คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อท่านตามวัดที่อยู่ว่า พระครูโพนสะเม็ก ตั้งแต่นั้นสืบมา

ในหนังสือเรื่องนครจำปาสักนั้นได้กล่าวว่า พระครูโพนสะเม็กได้รักษาสิกขาวินัยอย่างเคร่งครัดสมบูรณ์ ปฏิบัติธรรมจนได้สำเร็จถึงขั้นอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ประการ ประกอบไปด้วยญาณ จะพูดจะจาสิ่งใดก็ศักดิ์สิทธิ์ เพราะบุญบารมีดังใจนึก คนทั้งปวงก็นิยมนับถืออย่างสูง ต่างก็พากันสรรเสริญบุญของพระครูโพนสะเม็ก สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตก็ทรงรับเป็นองค์อุปัฏฐาก
สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ได้เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ.2233 (ค.ศ.1690) 1 โดยไม่มีพระราชโอรสสืบราชบัลลังก์ ทรงมีพระราชโอรสอยู่องค์เดียวก็ทำความผิดจนถึงพระองค์เองตรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสีย แต่มีพระราชนัดดาที่เกิดจากพระราชโอรสองค์นั้นอยู่ 2 พระองค์ คือ เจ้ากิ่งกิสราชกุมาร กับเจ้าอินทะโสม แต่ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่ ส่วนพระราชนัดดาอีกพระองค์หนึ่งประสูติจากเจ้านางสุมังคลา ราชธิดาของพระองค์ มีพระนามว่าเจ้าองค์หล่อ และยังทรงพระเยาว์เช่นกัน เจ้านายองค์อื่นๆ ก็คงมีอยู่ แต่อาจจะอยู่ในลักษณะว่า “มีชื่อไม่ปรากฏ มียศไม่เรืองนาม”

เหตุนั้น เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เวลานั้น คือพระยาเมืองจันทน์ 2 จึงยึดอำนาจในราชบัลลังก์ได้โดยง่าย แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินในปีนั้นเอง
เมื่อพระยาเมืองจันทน์ตั้งตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงบังคับเอาเจ้านางสุมังคลา ซึ่งขณะนั้นเป็นหม้าย กำลังมีท้องได้ประมาณ 6-7 เดือนให้เป็นมเหสีของตนอีก แต่เจ้านางก็ไม่ยอม พระยาเมืองจันทน์จึงไม่พอใจ และคิดจะกำจัดเจ้านางสุมังคลาพร้อมกับเจ้าองค์หล่อ ผู้อาจจะเป็นเสี้ยนหนามราชบัลลังก์ของตนนั้นเสีย

เสนาอำมาตย์ผู้เป็นฝ่ายเดียวกับเจ้านางรู้ตัว จึงพากันลักพาเอาเจ้าองค์หล่อโอรสของเจ้านางหนีไปหลบอยู่ที่เมืองพานภูชน 3 ฝ่ายเจ้านางสุมังคลาได้เข้าไปขออาศัยอยู่กับพระครูโพนสะเม็ก
พระยาเมืองจันทน์เห็นคนไปนับถือพระครูโพนสะเม็กมากมาย ก็กลัวว่าจะเป็นศัตรูกับราชบัลลังก์ในภายหน้า จึงคิดจะกำจัดพระครูโพนสะเม็กนั้นเสียอีก แต่พระครูโพนสะเม็กก็รู้ตัวเสียก่อน จึงพาญาติโยมจำนวน 3,000 คน 4 พร้อมทั้งเจ้านางสุมังคลา 5 หนีจากเวียงจันทน์ล่องลงไปตามแม่น้ำโขง จนถึงบ้านงิ้วพันลำสมสนุก จึงพักอยู่ที่นั่น ส่วนเจ้านางสุมังคลานั้นท่านได้ให้คนพาหนีไปหลบราชภัยอยู่ที่ภูสะง้อหอคำ (ว่ากันว่าอยู่ในเขตแขวงบริคัมซัย)

ขอแทรกความเห็นของข้าพเจ้าไว้ตรงนี้ว่า การที่พระครูโพนสะเม็กพาคนจำนวนถึง 3,000 หนีลงไปทางใต้จากเวียงจันทน์นั้น นับว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่อันหนึ่งคงจะได้ยินไปเข้าหูพระยาเมืองจันทน์ แต่เหตุใดพระยาเมืองจันทน์จึงไม่แต่งทัพไปนำราษฎรเหล่านั้นกลับคืน หรือทำลายเสีย หรือว่าจะเป็นความประสงค์ของพระยาเมืองจันทน์เองที่อยากให้พระครูโพนสะเม็กหนีไปให้ไกลหูไกลตา
เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิด

ข้าพเจ้าขอเดาว่า เมื่อพระครูโพนสะเม็กรู้ตัวว่าราชภัยจะมาถึง ท่านคงจะปล่อยข่าวไปว่าท่านจะลงไปปฏิสังขรณ์และไหว้พระธาตุพนม แล้วก็ออกเดินทางไปพร้อมกับลูกศิษย์เพียงไม่กี่คน ส่วนญาติโยมนั้นคงจะมีนัดแนะให้ค่อยๆ ทยอยไปทีละเล็กทีละน้อย อย่าให้ผิดปกติ โดยบอกที่หมายปลายทางให้รู้ว่าให้ไปพร้อมกันอยู่บ้านงิ้วพันลำสมสนุก ส่วนเจ้านางสุมังคลานั้น พระครูโพนสะเม็กคงจะให้ความอารักขาและพาหนีไปหลบอยู่ภูสะง้อหอคำเป็นพิเศษ ดังนี้ก็เป็นได้
เมื่อพระยาเมืองจันทน์เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองได้ ๖ เดือน เสนาอำมาตย์ผู้ยึดเอาเจ้าองค์หล่อหนีไปซ่อนไว้ก็ยกกองทัพมาตีนครเวียงจันทน์ และจับพระยาเมืองจันทน์ได้แล้วประหารชีวิต เสร็จแล้วเชิญเจ้าองค์หล่อขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน

ขอย้อนถึงพระครูโพนสะเม็ก ซึ่งบางทีคนก็เรียกว่าพระครูยอดแก้ว เมื่อเดินทางจากนครเวียงจันทน์ลงไปทางใต้นั้น ไปถึงที่ใดก็มีแต่คนรัก การเดินทางสะดวก การอยู่กินก็สบาย พวกญาติโยมประชาชนจึงพากันเรียกท่านด้วยความรักว่า “หลวงพ่อขี้หอม”

ฝ่ายเจ้านางสุมังคลาผู้ไปหลบภัยอยู่ภูสะง้อหอคำ ได้ประสูติโอรสอีกองค์หนึ่ง ณ ที่นั้น พระครูโพนสะเม็กถวายพระนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ภายลุน และได้เชิญเอาเจ้านางสุมังคลาพร้อมทั้งโอรสมาพักอยู่บ้านงิ้วพันลำสมสนุก ส่วนตัวท่านเองได้ไปปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเป็นเวลา 3 ปี จึงเสร็จตามประสงค์ จากนั้นก็พาญาติโยมล่องลงไปทางใต้เรื่อยๆ
ในหนังสือเรื่องนครจำปาสักนั้น ได้เล่าว่า

“เมื่อยกไปแห่งใด ก็มีญาติโยมยกตามไปแห่งละ 2-3 ครอบครัว แล้วพระครูโพนสะเม็กก็ลงไปกรุงอินทปัตมหานคร ครอบครัวที่เมื่อล่าช้าแรงตามลงไปไม่ได้ ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่เรียงรายกันไป จึงเรียกว่าลาวเดิมบ้านบารายมาจนทุกวันนี้

พระครูโพนสะเม็กกับครอบครัวญาติโยมศิษยานุศิษย์เดินทางลงไปจนถึงทางตุยจังวะ สุดแดน ซึ่งบัดนี้เรียกว่า จโรยจังวา (แปลว่าแหลม) พระครูโพนสะเม็กเห็นท้องถิ่นจโรยจังวาเป็นชัยภูมิกว้างขวางและมีภูเขาใหญ่น้อย จึงพักญาติโยม ครอบครัวศิษยานุศิษย์ไว้ตรงนั้น แล้วสร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่งบนภูนั้น
ในวันที่จะสร้างเสร็จก็มีหญิงเขมรคนหนึ่งชื่อเปญ ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำใหญ่ แม่เฒ่าเปญเห็นพระบรมธาตุล่องไหลมาเหนือผิวน้ำ มีพระรัศมีสีแสงงดงาม แม่เฒ่าเปญเห็นประหลาดจึงเอาขันน้ำรองรับขึ้นไปถวายพระครูโพนสะเม็ก พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าเป็นพระบรมธาตุแน่แท้แล้วก็ขอบิณฑบาตเอาจากแม่เฒ่าเปญ แล้วก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์
ท่านเห็นว่าภูเขานั้นภาษาเขมรเรียกว่าพนม จึงเอาชื่อแม่เฒ่าเปญผู้ให้พระบรมสารีริกธาตุมาประกอบกันเข้าให้ชื่อพระเจดีย์ว่า พระเจดีย์พนมเปญ

ครั้นภายหลังมาเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีย้ายเมืองจากเมืองปะทายเพชร ลงไปสร้างเมืองขึ้นที่ถิ่นนั้นเป็นเมืองหลวงจึงขนานนามเมืองว่า ‘พนมเปญ’ มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อพระครูโพนสะเม็กสร้างพระเจดีย์เสร็จแล้ว จึงหล่อพระพุทธปฏิมาองค์หนึ่ง เสร็จตั้งแต่พระเศียรลงมาถึงพระกรเบื้องขวายังไม่เสร็จสมบูรณ์ เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีแจ้งว่าพระครูโพนสะเม็กพาครอบครัวญาติโยมลาวเข้ามาอยู่ในเขตแดน จึงแต่งให้พระยาพระเขมรไปตรวจบัญชีครอบครัว พระยาพระเขมรจะเรียกร้องเอาเงินคนละ 8 บาท พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าญาติโยมจะเดือดร้อน จึงพาครอบครัวญาติโยมหนีขึ้นไปตามลำน้ำโขง”

เรื่องที่ว่าพระครูโพนสะเม็กสร้างพระเจดีย์แล้วตั้งชื่อว่า พระธาตุพนมเปญ จนเมื่อเขมรมาตั้งเมืองหลวงลงที่นั่น ก็ตั้งชื่อเมืองตามชื่อพระธาตุว่ากรุงพนมเปญนั้น เรื่องนี้จะเป็นความจริงเพียงใดคงจะต้องตรวจสอบดูกับประวัติศาสตร์ของเขมร และต้องตรวจดูพระธาตุองค์นั้นทางในโบราณคดี พวกเราควรจะอ่านประวัติศาสตร์ของเขมรตอนนั้นดู
พงศาวดารเรื่องเมืองนครจำปาสัก ได้กล่าวต่อไปอีกว่า

“…เมื่อไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเมืองสมบูรณ์ในบัดนี้ พระครูโพนสะเม็กจึงพาญาติโยมตั้งพักอาศัยอยู่ที่นั่น ท่านชวนญาติโยมสร้างวิหารไว้หลังหนึ่ง
ครั้นเจ้ากรุงกัมพูชายินดีได้ทรงทราบว่าพระครูโพนสะเม็กยกไปยังไม่พ้นเขตแดน จึงทรงแต่งตั้งให้พระยาพระเขมรยกทัพตามไล่ พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าญาติโยมจะเป็นอันตราย จึงตั้งอธิษฐานว่า เดชะบารมีธรรมที่ได้บำเพ็ญมาแต่ข้างหลังจงช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นอันตราย ขอเทพยดาเจ้าจงอภิบาลคุ้มครอง ด้วยอำนาจกุศลบันดาลให้พระยาพระเขมรไม่ได้คิดจะทำอันตราย พระครูโพนสะเม็กก็พาครอบครัวญาติโยมเดินทางต่อไปได้โดยสะดวก
พระยาพระเขมรก็เลิกทัพกลับไปสู่กรุงกัมพูชาธิบดี”

“ฝ่ายพระครูโพนสะเม็กไม่มีที่พักอาศัย จึงตั้งอธิษฐานเสี่ยงเดชะกุศลธรรม ดินก็ผุดขึ้นมาเป็นดอน ณ ที่นั้น เกิดหาดทราย ชาวบ้านเรียกว่า หาดพระครู มาจนทุกวันนี้ พระครูโพนสะเม็กพาญาติโยมหยุดพักอยู่ในตอนนั้น พร้อมกับหล่อพระพุทธปฏิมาตั้งแต่บ่าพาดพระกรเบื้องซ้าย ถึงหน้าตัก หัตถบาส ตลอดถึงพระแท่น เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงให้ศิษย์ไปเชิญเอาพระพุทธรูปที่หล่อไว้ยังไม่แล้วเสร็จที่เจดีย์พนมเปญขึ้นมาสวมต่อเข้าให้เสร็จสมบูรณ์ ดอนนั้นคนจึงเรียกว่าดอนพาด ดอนทราย มาจนทุกวันนี้
จากนั้นพระครูโพนสะเม็กจึงพาญาติโยมแห่พระขึ้นมาถึงหางโค ปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออก เห็นภูมิสถานตรงนั้นเหมาะสม เห็นว่าต่อไปภายหน้าคงจะได้เป็นเมือง จึงพาญาติโยมสร้างวิหารลงไว้ตรงที่นั้น แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระแสนมาประดิษฐานไว้ในวิหารนั้น แล้วก่อพระเจดีย์ไว้ที่บาจงองค์หนึ่ง พระครูโพนสะเม็กจึงให้ศิษย์ผู้หนึ่ง กับทั้งครอบครัวเป็นผู้อยู่อุปัฏฐากพระแสน อยู่ ณ ที่นั้น”
เรื่องเกี่ยวกับนครจำปาสักนี้มีกล่าวไว้ในตำนานเมืองนครจำปาสัก ฉบับของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ เจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาสักว่า

“…เมื่อพระครูโพนสะเม็กกับครอบครัวยกอพยพมาจากเมืองเขมรมาตั้งอยู่ที่เชียงแตงเป็นสถานที่แรกนั้น ได้เรี่ยไรทองแดงทองเหลืองจากญาติโยมได้น้ำหนัก 360 ชั่้งเศษ หล่อเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เนื้อหนาดีขัดจนขึ้นเงางามถวายพระนามว่า ‘พระแสน’ เพราะคิดน้ำหนักได้มากกว่าแสนเฟื้อง ตั้งไว้ในวัด ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระครูโพนสะเม็กในเมืองเชียงแตง
พระแสนจึงอยู่ที่เมืองเชียงแตงมาจนถึงแผ่นดินปัจจุบัน (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เป็นเจ้าแผ่นดินคู่กับรัชกาลที่ 4) ทรงสืบทราบ ทรงมีพระราชประสงค์เสด็จลงมากราบทูลให้มีคำสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญอาราธนาลงมา (มาที่ไหนไม่บอก-ผู้แปล) เมื่อปีมะแม นักษัตรเอกศกศักราช 1221 (พ.ศ.2302) ตรงกับปี ค.ศ.1859
เมื่อเชิญเสด็จพระแสนมาถึงแล้วก็พระราชทานไปในพระบวรราชวัง พระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสสั่งให้อัญเชิญไปสร้างแท่นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงษ์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ (ฝั่งธนบุรี) อยู่จนทุกวันนี้”

ส่วนที่กล่าวว่า ก่อเจดีย์ไว้องค์หนึ่งนั้น ไม่ทราบว่าเป็นที่ใด

มีข้อความในบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามานครเวียงจันทน์ เมื่อปี ค.ศ.1641 ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ที่เมืองสามบาบู (SAMBABOUR) พวกพ่อค้าได้เปลี่ยนเรือเพื่อผ่านแก่งที่ยากลำบาก ก่อนจะถึงแก่งพวกพ่อค้าฮอลันดาได้หยุดพักที่บ้านบัดจอง (BACTJONG หรือ BACHONG) ซึ่งเป็นบ้านที่มีวัดโบราณเก่าแก่ของเขมรอยู่ใกล้กับเชียงแตงใหม่”
ที่ว่าก่อเจดีย์ไว้ที่เมืองบาจง จะเป็นที่เดียวกับที่บันทึกของพ่อค้าฮอลันดากล่าวไว้นี้หรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย

จะขอนำเอาข้อความในพงศาวดารเรื่องเมืองนครจำปาสักมากล่าวไว้ต่อไปอีกพอสมควร เพราะเห็นมีข้อความกล่าวไว้ละเอียดพิสดารกว่าที่เห็นในแห่งอื่น
เมื่อเวลาผ่านไปนานศิษย์คนนั้นมีลูกชายคนหนึ่งชื่อเซียงแปง เมื่อพ่อถึงแก่กรรมแล้วเซียงแปงก็รักษาครอบครัวอยู่ ณ ที่นั้นสืบต่อมา และพระครูโพนสะเม็กก็พาศิษย์ทั้งปวงเดินทางขึ้นตามลำน้ำโขง ถึงดอนลีผี จึงสร้างพระเจดีย์ด้วยหินไว้องค์หนึ่ง สูง 4 ศอก สร้างพระวิหารไว้หลังหนึ่ง แล้วก็เดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำโขงต่อไปถึงดอนใหญ่แห่งหนึ่ง จึงพักอยู่ ณ ที่นั้น
พระครูโพนสะเม็กนั่งบริกรรมดูเห็นว่า ตอนนั้นนานไปข้างหน้าจะได้เป็นเมือง จึงสร้างพระเจดีย์ไว้อีกองค์หนึ่ง บนยอดเจดีย์นั้นจารึกอักษรขอมไว้ว่า

“ศักราชได้ 1070 ปี (จุลศักราช วันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ (พ.ศ.2251/ค.ศ.1708) พระครูโพนสะเม็กมีศรัทธาสร้างเจดีย์ไว้นครโขงให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยดาและคนทั้งหลาย”
แล้วหล่อระฆังใหญ่ไว้ใบหนึ่ง ปากกว้างสองศอก เสร็จแล้วประชุมลูกหลานลาวเดิมมอบไว้ให้เป็นข้าพระมหาธาตุเจดีย์ดอนโขงตราบเท่า 5,000 วรรษา มอบให้จารย์หวดอยู่รักษาอาณาเขตเมืองโขง
ต่อจากนั้นพระครูโพนสะเม็กก็ขึ้นมาหัวดอนชัย เห็นว่าหากตั้งหลักอยู่ที่นั่นคงจะมีชัย แต่ดอนนั้นเล็กไม่พอที่จะเป็นเมืองได้ จึงให้เรียกว่าดอนชัยตราบเท่าทุกวันนี้
จากนั้นพระครูโพนสะเม็กก็เดินทางต่อมาถึงดอนแดง และพักอยู่ที่นั้น ให้ลูกศิษย์ 16 คนนุ่งขาวห่มขาวรับศีล แล้วไปเที่ยวนอนเอานิมิตอยู่กลางดอนแห่งหนึ่งกับที่หัวดอนอีกแห่งหนึ่ง ผ้าขาว 16 คนมาถึงกลางดอน พักนอนพร้อมกัน อธิษฐานเสร็จแล้วเทพเจ้าก็ลงมาให้นิมิตว่า ที่แห่งนี้จะเป็นศรีนคร แต่จะมีปรปักษ์มาเบียดเบียนในศาสนา เมื่อได้นิมิตนั้นแล้ว ผ้าขาว 16 คนก็ขึ้นไปนอนที่หัวดอนพร้อมกัน ตั้งสัตยาธิษฐาน ณ ที่นั้น เทพเจ้าก็ลงมาให้นิมิตว่าเห็นปุถุชนทั้งปวง มีใจกล้าหาญหยาบช้า ก่อการวิวาทเป็นปรปักษ์แก่กันอยู่
เมื่อได้นิมิตจากทั้งสองแห่งแล้ว ผ้าขาวทั้ง 16 คนก็เข้าไปเล่าความให้พระครูโพนสะเม็กฟัง
พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ กษัตริย์องค์ใดมาครอบครองสมบัติในนครนี้สองพี่น้องก็จะไม่ถูกต้องปรองดองกัน ประชาราษฎร์ก็จะเป็นปรปักษ์ ฉ้อลักเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

“ฝ่ายว่าเมืองนครกาละจำปากนาคบูรีศรี
นางเพาถึงแก่กรรม นางแพงผู้เป็นธิดากับท้าวพระยาก็ทำฌาปนกิจ เสร็จแล้วนางแพง ผู้ธิดากับพระยาคำหยาด พระยาสองราช จึงจัดราชการบ้านเมืองสืบมา
เมื่อได้ทราบกิตติศัพท์ว่า พระครูโพนสะเม็กมาพักอยู่ที่ดอนแดง มีคนนับถือมาก นางแพงผู้เป็นแม่เมืองก็มีจิตเลื่อมใส ปรึกษากับท้าวพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า เราจะอาราธนาพระครูโพนสะเม็กมาจะได้บำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญถาวรสืบไปเบื้องหน้า ท้าวพระยาทั้งปวงก็เห็นดีด้วย นางแพงจึงให้พระยาคำหยาด พระยาสองราช ไปอาราธนาพระครูโพนสะเม็ก
พระครูโพนสะเม็กก็พาศิษย์ข้ามน้ำโขงมาหยุดพักอยู่ฝั่งตะวันตกที่ห้วยสระหัว นางแพงจึงสร้างกุฏิและเสนาสนะถวายให้จำพรรษาอยู่ที่วัดสระหัว คนทั้งหลายจึงเรียกวัดนั้นว่าวัดหลวง
นางแพงกับท้าวพระยาทั้งปวงจึงมอบพุทธจักร อาณาจักร ถวายพระครูโพนสะเม็ก ทำนุบำรุงสมณพราหมณาจารย์ ท้าวพระยาอาณาประชาราษฎร์ในเมืองนครกาละจำปากนาคบูรีศรี”
ใน (จุล) ศักราช 1071 ปีฉลู (พ.ศ.2252/ค.ศ.1709) พระครูโพนสะเม็กได้ชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหน้าตัก 19 นิ้ว เสร็จแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในวิหารวัดบางซ้าย พระพุทธรูปองค์นั้นยังอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ครั้นเวลาผ่านไปนาน ประชาชนทั้งหลายก็เกิดเป็นโจรผู้ร้ายลักฉกจกห่อเอาเครื่องของมีค่า ทั้งของสมณะ และทรัพย์สิ่งของของประชาราษฎร์ทั้งหลายทั้งปวง ทำให้เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายที่ พระครูโพนสะเม็กจะชำระความครั้นจะลงอาญาก็กลัวผิดวินัยสิกขาบท ครั้นจะอยู่เฉยเสียไม่ปราบปรามให้หมดไป สมณพราหมณาจารย์และราษฎรก็จะได้รับความเดือดร้อนร้ายแรงยิ่งขึ้น จึงพิจารณาเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าเวียงจันทน์จะปกครองราษฎรต่อไปได้ จึงมอบให้จารย์แก้ว จารย์เสียงช้าง กับท้าวเฝียไพร่พล ไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำสมสนุก ลงมาเมืองนครกาละจำปากนาคบูรีศรี

ขอแทรกความเห็นตรงนี้ว่า
หลวงพ่อขี้หอมถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นราชปุโรหิต หรือเป็นราชครูอยู่หลายปีก็ตาม ท่านก็คงจะมั่นคงในสมณเพศและพระวินัยอย่างแข็งแรง เพราะถ้าท่านเป็นคนมักมากในอำนาจราชศักดิ์ คงจะสึกออกมาประกาศตนเป็นกษัตริย์ก็คงทำได้ เพราะราษฎรก็เป็นใจอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระ คือเป็นเจ้าแผ่นดินในเพศพระอย่างองค์ทะไล ลามะของทิเบตก็ได้ แต่ท่านก็ไม่คิดถึงอำนาจราชศักดิ์ดังกล่าว เมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นสมณะจะจัดราชการบ้านเมืองไปไม่ตลอด เพราะขัดกับวินัยของสงฆ์หลายประการ จึงหาทางออกโดยแต่งตั้งให้คนไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์มาปกครองบ้านเมืองแทนตน
ครั้นถึงปี พ.ศ.2257/ค.ศ.1714 (ในเรื่องนครจำปาสักว่า จ.ศ.1075 ตรงกับ พ.ศ.2256) เมื่อพระมารดาของเจ้าหน่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว พระครูโพนสะเม็กจึงให้ตั้งโรงพิธีเพื่อทำราชาภิเษก
ครั้นถึงวันอันเป็นมหาพิชัยฤกษ์ ก็อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์เสด็จมาสู่โรงราชพิธีสรงน้ำมุรธาภิเษก ท้าวพระยาทั้งปวงจึงถวายพระนามว่า “พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” เป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณี

พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯก็สร้างเสริมบ้านเมืองให้แข็งแรงขึ้นที่ริมฝั่งศรีสุมัง แล้วเปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “นครจำปาสักนาคบุรีศรี” ส่วนนางแพงนั้นพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯก็ทรงรับเข้าไว้ในวัง ทรงเลี้ยงร่ำทำนุบำรุงเคารพเป็นอันดี แล้วทรงจัดแจงราชการบ้านเมือง ตั้งเจ้านาย ท้าวพระยา เสนาบดี และตำแหน่งอื่นๆ ตามสมควรแก่ราชการ อย่างเดียวกับในกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์
เรื่องราวที่เป็นไปดังที่กล่าวมานี้ แสดงว่าอำนาจอิทธิพลของพระเจ้าศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ คงจะครอบคลุมไปไม่ถึง หรือถ้าไปถึงก็อ่อนเต็มที
ที่เป็นดังนี้ก็คงเพราะว่ามัวแต่แย่งชิงบัลลังก์กันอยู่ อำนาจบริหารฝ่ายการเมืองก็อ่อนลง หาผู้จะบังคับบัญชาทำสถานการณ์บ้านเมืองให้สงบอย่างแท้จริงไม่มี อำนาจฝ่ายทหารก็คงจะถูกควบคุมอยู่เฉพาะในกลุ่มใครกลุ่มมัน ความเข้มแข็งของกองทัพส่วนกลางก็อ่อนแอ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหนื่อยกาย หน่ายใจ เอาตนหลบหลีกราชภัยเสียจนอำนาจศูนย์กลางของนครหลวงที่เคยมียิ่งใหญ่ไพศาล แต่ปางสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชโน้นต้องแตกทลายลง ไม่แพร่หลายครอบคลุมไปทั่วรัฐสีมาอาณาเขต

เป็นเหตุให้พระครูโพนสะเม็ก ผู้เป็นสมณะที่ถูกพระยาเมืองจันทน์ ผู้ได้อำนาจในราชบัลลังก์ในนครเวียงจันทน์ปองร้ายต้องหาอุบายเอาตนหลบหลีกราชภัยล่องไหลไปตามเส้นทางของแม่น้ำโขง พร้อมกับเจ้านายบางองค์และประชาราษฎร์จำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนั้นคงจะมีข้าราชการที่มียศศักดิ์และทรงสติปัญญารวมอยู่ด้วยไม่น้อย ได้โอกาสและชัยภูมิอันเหมาะจึงประกาศตนเป็นราชอาณาจักรเอกราชขึ้นอีกเขตประเทศหนึ่ง ในดินแดนถิ่นใต้ของอาณาจักรล้านช้างได้อย่างสะดวกสบาย
ความเป็นเอกภาพของแผ่นดินลาวสมัยนั้นก็แตกทลายลง
ต่อจากนั้น พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯได้ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง สำเร็จแล้วจึงอาราธนาพระครูโพนสะเม็กกับพระสงฆ์บริวารมาอยู่ที่อารามใหม่นั้น เรียกชื่อว่าวัดหลวงใหม่ ส่วนวัดเดิมนั้นเรียกว่าวัดหลวงเก่ามาแต่นั้น
เข้าใจว่าพระครูโพนสะเม็กนั้น คงจะได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชแห่งอาณาจักรจำปาสัก จึงมีชื่อที่คนทั้งหลายเรียกกันว่า พระครูยอดแก้ว แต่คนมักจะเรียกตามชื่อวัดของท่านว่า พระครูโพนสะเม็ก
บางทีอาจจะได้ตำแหน่งพระครูยอดแก้วไปตั้งแต่อยู่นครเวียงจันทน์ก็เป็นได้

ส่วนคำว่าหลวงพ่อขี้หอมนั้น คนเรียกด้วยความเคารพรัก

ลุถึง พ.ศ.2263/ค.ศ.1720 (จ.ศ.1082) ปีชวด พระครูยอดแก้วโพนสะเม็กก็อาพาธลงด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในวันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนเจ็ด อายุได้ 90 ปี
พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯพร้อมกับเสนาอำมาตย์ข้าราชการ และประชาราษฎร์ ก็แต่งตั้งการทำบุญให้ทานมีการละเล่นสนุกสนานสมโภชศพอยู่เดือนหนึ่ง จึงพากันถวายเพลิงศพของท่านเสร็จสิ้นแล้ว
พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯจึงให้สร้างอารามขึ้นในที่เผาศพนั้นวัดหนึ่งและก่อพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งบรรจุอังคารของท่านไว้ในอารามนั้น เรียกวัดนั้นว่า วัดธาตุ มาจนทุกวันนี้
ส่วนอัฐิอีกส่วนหนึ่งพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯได้ให้ข้าราชการชั้นพระยาอัญเชิญมาสร้างเจดีย์น้อยประดิษฐานไว้ข้างพระธาตุพนม ตามคำปรารถนาของท่าน
ตามประวัติว่า พระครูยอดแก้วโพนสะเม็กมีความเลื่อมใสในพระธาตุพนมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อท่านได้ไปอยู่เป็นหลักแหล่งที่จำปาสักแล้ว ถ้ามีโอกาสก็มักจะขึ้นมาไหว้และบูรณะซ่อมแซมพระธาตุและบริเวณพระธาตุนั้นทุกปี เมื่อจวนจะมรณภาพก็ยังได้สั่งให้เอาอัฐิธาตุของท่านไปบรรจุไว้ข้างพระธาตุพนมส่วนหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นดินแดนแถบนั้นเป็นของลาวโดยเด็ดขาด และพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯก็ได้ทรงปฏิบัติให้ความปรารถนาของท่านสำเร็จลง
เรียกว่าธาตุหลวงพ่อขี้หอมจนถึงบัดนี้
เมื่อปี พ.ศ.2513/ค.ศ.1970 พระเทพรัตนโมลี (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้จัดการหล่อรูปของพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอมด้วยทองไว้ที่วัดพระธาตุพนม นัยว่าหล่อตามนิมิตของผู้นั่งสมาธิที่มีกำลังจิตบอกลักษณะรูปร่างของท่านให้
เถรประวัติของท่านหลวงพ่อขี้หอมก็จบลงเพียงเท่านี้

หมายเหตุท้ายเรื่อง
1.เรื่องนครจำปาสักกล่าวว่า “จุลศักราช 1090 ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย” ในความเป็นมาของลาว โดยอู่คำ พมวงสา ว่าพระเจ้าสุริยวงศา เสด็จสวรรคต ปี พ.ศ.2237
2.เรื่องนครจำปาสักว่า “พระยาเมืองแสน”
3.หนังสือนครจำปาสักกล่าวว่า “พรรคพวกของเจ้านางสุมังคลา เอาเจ้าองค์หล่อไปอยู่เมืองญวน (แกว) ญวนก็รับเจ้าองค์หล่อไว้ แล้วให้ชื่อว่าเจ้าองค์เวียด”
หนังสือความเป็นมาของลาวกล่าวว่า “อำมาตย์ที่เป็นพวกของเจ้าองค์หล่อจึงพาเจ้าองค์หล่อไปเมืองพานภูชุมประเทศเวียดนาม”
4.ในหนังสือเรื่องนครจำปาสัก บอกจำนวนคนว่ามี 3,333 คน
5.ในพงศาวดารเรื่องเมืองจำปาสัก ถือว่าเจ้านางสุมังคลาเป็นมเหสีของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แต่พงศาวดารฉบับกระทรวงศึกษาธิการลาว ถือว่าเจ้านางสุมังคลาเป็นราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image