สิทธิสตรีภายใต้การคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามกฎหมายใหม่ พ.ศ.2562 โดย สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ

แม้กฎหมายนานาประเทศจะบัญญัติให้สตรีมีความเสมอภาคเยี่ยงชาย และมีความเท่าเทียม แห่งสิทธิเหมือนบุรุษก็ตาม แต่ภายใต้ความเสมอภาคดังกล่าว ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า เพศสภาพแห่งชาย มีพละกำลังและความเข้มแข็งเหนือกว่าหญิงโดยธรรมชาติ

ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้สตรีมักตกเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจจากบุคคลในครอบครัวที่เป็นเพศชายจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก

นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งชื่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ออกมาแทนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งถูกยกเลิกไป

กฎหมายฉบับนี้ มีมาตรการเครื่องมือกลไกที่บัญญัติขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องคุ้มครองสตรีที่เป็นภริยาและคุ้มครองเด็กที่เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันหลายประการ ผู้เขียนขอหยิบยกเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นอาวุธทางปัญญาของหญิงในการใช้สิทธิต่อสู้ปกป้องตนเองในยามจำเป็นที่ต้องเผชิญภยันตราย ดังนี้

Advertisement

1.บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย

ได้แก่ บุคคลในครอบครัว ซึ่งหมายถึง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กิน หรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรบุญธรรม รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัย และอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ในข้อนี้รวมถึงคนเพศเดียวกันที่สมัครใจใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันด้วย

2.ขอบเขตความหมายความรุนแรงในครอบครัว

Advertisement

ความรุนแรงในครอบครัว หมายความว่า การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิด หรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียง ของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท และหากเป็นคนแปลกหน้ากระทำต่อกัน กฎหมายไม่ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้กระทำจะได้รับสิทธิตามกฎหมายนี้

3.ศาลเยาวชนและครอบครัวทุกท้องที่ทำหน้าที่ออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทันที

หากคราใดภริยาหรืออดีตภริยาไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ก็ตาม หรือบุตรผู้เยาว์ถูกชายผู้เป็นสามีหรืออดีตสามี หรือถูกบิดามารดาใช้ความรุนแรง ถือได้ว่าเป็นบุคคลในครอบครัวกระทำต่อกัน ฝ่ายหญิงหรือบุตรมีสิทธิ ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่ตนเองมีถิ่นที่อยู่ โดยไม่ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ที่โรงพักก่อน

4.บุคคลหรือองค์กรที่จะช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ในการร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในชั้นศาล หากภริยาหรือบุตรผู้เยาว์ถูกสามีหรือบิดามารดาใช้กำลังทำร้ายข่มเหงรังแก ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว หญิงนั้นหรือศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว หรือญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายจะกระทําการแทนก็ได้โดยมายื่นขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้โดยไม่ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ที่โรงพักก่อน

5.คำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวที่ช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่ละกรณีมีความเป็นรูปธรรมและช่วยเหลือได้จริง

ตัวอย่าง มาตรการกลไกที่ใช้คุ้มครองสวัสดิภาพภริยาและบุตร เช่น การห้ามผู้กระทำใช้ความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ ห้ามผู้กระทำความรุนแรงเข้าใกล้หรือเข้าไปในที่อยู่อาศัยของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือให้ออกไปจากที่อยู่อาศัยของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ห้ามผู้กระทำความรุนแรงก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ถูกกระทำด้วย ห้ามคุกคาม ติดตาม การสะกดรอย การถ่ายภาพ การโทรศัพท์ การส่งข้อความก่อความรำคาญด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือด้วยวิธีการอื่นใด อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

6.กฎหมายนี้ให้โอกาสผู้กระทำความผิดยอมความในคดีอาญาแผ่นดิน หากสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

ยกตัวอย่าง ชายผู้เป็นสามีหรืออดีตสามีใช้กำลังทำร้ายคู่สมรสหรืออดีตภริยาตน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายจนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ที่มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ หากฝ่ายชายสำนึกผิดยอมเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขทัศนคติและพฤติกรรมตนเองจนหายขาดไร้ความรุนแรงแล้ว ถ้าฝ่ายหญิงต้องการให้อภัยให้โอกาสชายผู้เป็นสามีหรือพ่อของลูกสักครั้ง กฎหมายก็อนุญาตให้ยอมความกันได้ในข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 295 หรือความผิดลหุโทษ เพราะถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนชีวิตหรือสายโลหิตเดียวกันกระทำต่อกัน

7.เหตุแห่งการลดหย่อนผ่อนโทษ เพื่อช่วยเหลือภริยาที่พลาดพลั้ง

หากวันใดวันหนึ่งฝ่ายหญิงผู้เป็นภริยาลงมือทำร้ายหรือพลั้งมือทำอันตรายชายผู้เป็นสามี จนบาดเจ็บล้มตายหายใจไม่ออก โดยขณะลงมือกระทำนั้นไม่มีเหตุที่ต้องป้องกันตัวหรือเหตุบันดาลโทสะตามกฎหมาย แต่มีมูลเหตุจูงใจมาจากฝ่ายหญิง เคยถูกฝ่ายชายผู้เป็นสามีหรืออดีตสามีข่มเหงรังแกตบตีทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอยู่ซ้ำๆ และต่อเนื่องจนฝ่ายหญิงเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและใจหรือที่เรียกว่า Battered woman syndrome มาตรา 36(3) ของกฎหมายฉบับนี้บัญญัติว่า “หากกระทำความรุนแรง ในครอบครัวที่เป็นคดีอาญาซึ่งผู้กระทำความผิดได้กระทำเนื่องจาก ตนเองถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือถูกกระทำโดยมิชอบซ้ำกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง และได้มีการยื่นคำแถลงเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาแล้ว ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” ข้อสำคัญคือหากเป็นคดีอาญาตามปกติก่อนมีกฎหมายฉบับนี้ ศาลที่ตัดสินคดีไม่อาจหยิบยกเอาการกระทำในอดีตของสามีหรือผู้ตายที่ได้ ข่มเหงทำร้ายฝ่ายหญิงมาเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษได้

8.ภริยาที่ถูกศาลลงโทษจำคุกและกำลังรับโทษอยู่ มีสิทธิร้องขอให้ศาลนำคดีมาไต่สวนใหม่ เพื่อลดโทษหากเข้าเหตุตามหลักการของกฎหมายใหม่

ข้อที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกฎหมายฉบับนี้คือ หากจำเลยที่เป็นหญิงถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกด้วยเหตุเพราะฆ่าหรือทำร้ายสามี และกำลังรับโทษอยู่ในวันที่กฎหมายใช้บังคับ (20 สิงหาคม 2562) มาตรา 47 บัญญัติว่า “ผู้ใดถูกพิพากษาลงโทษจำคุกและคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งต้องรับโทษโดยมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 36 (3) ถ้าผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษ หรืออยู่ในระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษาผู้นั้นเอง บุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคล ดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อขอให้ศาลดำเนินการไต่สวนและกำหนดโทษแก่ผู้นั้นเสียใหม่ได้” ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นคุณแก่หญิงนั้น

สุดท้ายผู้เขียนเห็นว่า การที่หญิงยินยอมแต่งงานกับชายไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชายเกิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของหญิงโดยนิตินัย ไม่ได้ทำให้ชายนั้นมีสิทธิตามธรรมชาติที่ล่วงละเมิดย่ำยีเนื้อตัวร่างกายจิตใจหรือชื่อเสียงของหญิงโดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ได้หมายความรวมถึงว่า หญิงนั้นจะตกเป็นภารยทรัพย์ ทุกเรื่องแก่ชายเป็นสามย
ทรัพย์ เหมือนดังทางภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กล่าวได้ว่า กฎหมายส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวใหม่ฉบับนี้ มีความทันสมัย เป็นสากล ปฏิบัติได้จริง

ที่สำคัญคือทำให้เกิดกลไกการทำงานช่วยเหลือคุ้มครองสตรีและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงได้อย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยยังคงเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองบุคคลในครอบครัวและสถาบันครอบครัวให้มีความปลอดภัย ไร้ความรุนแรง เข้มแข็ง

เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขร่มเย็น เปี่ยมด้วยสายใยความรักความเข้าใจกันและสามารถสร้างสรรค์สังคมชุมชนและประเทศชาติให้มั่นคงเป็นปึกแผ่นสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image