รู้ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ : โดย พระไพศาล วิสาโล

เวลาเจอแดดร้อน หลายคนก็จะรู้สึกทุกข์ แต่ถ้าถามว่าอะไรที่กำลังทุกข์อยู่ตอนนี้ หลายคนตอบว่าทุกข์กาย โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับอากาศร้อน แต่ถามว่านอกจากทุกข์กายแล้วมีอะไรทุกข์อีกไหม หลายคนตอบไม่ได้ ที่จริงมันมีอีกตัวหนึ่งที่ทุกข์และเป็นตัวการสำคัญด้วยคือ ทุกข์ใจ น้อยคนที่จะทุกข์แค่กาย มันทุกข์ใจด้วย

ทำนองเดียวกันเวลาโดนเข็มทิ่ม หนามแทง อะไรเจ็บ กายเจ็บ นิ้วเจ็บใช่ไหม ที่จริงมีอีกอย่างหนึ่งที่เจ็บไปด้วย คือใจเจ็บ เวลานั่งนานๆ ปวดเมื่อย ทุกข์ไหม ทุกข์ อะไรทุกข์ กายมันทุกข์เพราะนั่งนาน บางทีก็ปวดแข้งปวดขา ปวดหลัง ถามว่ากายแค่นั้นเหรอที่ทุกข์ กายเท่านั้นเหรอที่ปวด ไม่ใช่หรอก ใจก็ปวดด้วย ไม่ใช่แค่ทุกข์กาย ใจก็ทุกข์ด้วย

ความทุกข์ไม่ได้เกิดที่กายเท่านั้น แต่เกิดกับใจด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่สังเกต ไม่รู้ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ทุกข์ใจนั้นบีบคั้นกว่าหรือหนักกว่าความทุกข์กายด้วยซ้ำ สังเกตเห็นไหม ความทุกข์ใจมันแสดงอาการออกมาด้วยการบ่นว่า “ทำไมหน้าวอย่างนี้” หรือ “ร้อนโว้ย” บางทีก็โวยวาย คร่ำครวญ แสดงอาการผลักไส ไม่ชอบ เพราะไม่ชอบนี่แหละที่ทำให้ใจทุกข์ ตัวนี้สร้างความทุกข์ให้กับเรายิ่งกว่าความทุกข์กายเสียอีก แต่เราไม่สังเกต ไม่รู้ ใจทุกข์แต่ไม่รู้ว่าใจทุกข์ เป็นอย่างนี้กันเยอะ ไม่รู้ทุกข์ แต่ว่ามันเป็นทุกข์

ใจมันทุกข์ แต่เราไม่รู้ว่าใจทุกข์ แต่ถึงไม่รู้ว่าใจทุกข์ ใจมันก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละ มันต่างกันมากนะ “รู้ทุกข์” กับ “เป็นทุกข์” เป็นทุกข์เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ทุกข์เมื่อนั้นแหละ เพราะว่าใจเข้าไปในความทุกข์แล้ว ถ้าเข้าไปก็ไม่เห็น เราเข้าไปในบ้านเราก็ไม่เห็นตัวบ้าน เราเข้าไปในทุกข์เราก็ไม่เห็นทุกข์ เราก็ไม่รู้ทุกข์หรือตัวทุกข์

Advertisement

ในทำนองเดียวกันเราไม่รู้จักโลกดีพอ จนกว่าเราจะออกมาจากโลก หรือมาอยู่นอกโลก อย่างที่นักบินอวกาศเขาถ่ายรูปโลกมาให้เราเห็นครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผู้คนตื่นตะลึงกันทั้งโลกเลย นี่คือโลกของเราหรือนี่ ไม่เคยรู้เลยว่าโลกของเรารูปร่างหน้าตาแบบนี้ รู้ว่าโลกกลม แต่ไม่เคยรู้ว่าโลกนี้สวยงามมาก ลอยโดดเด่นอยู่กลางอวกาศ คนเรารู้จักโลก เห็นโลกชัดขึ้นก็ตอนที่ออกมาอยู่นอกโลก เราอยู่กับโลกใบนี้มาตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งในยามตื่นยามหลับ ไม่เคยมีวินาทีไหนที่ไม่ได้อยู่ในโลกนี้หรือว่าออกจากโลกนี้เลย แต่ก็ไม่เคยรู้จักโลกจริงๆ เลยจนกว่าจะออกมา ออกมาแล้วเห็นจึงรู้จักชัดขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น เราจะไม่รู้จักทุกข์ จนกว่าจะออกจากทุกข์ แม้ชั่วขณะก็ยังดี

เราจะไม่รู้จักความทุกข์ใจจนกว่าจะออกมาเห็นความทุกข์ใจ เห็นด้วยอะไร เห็นด้วยสติ แต่ถ้าเป็นทุกข์ อยู่กับทุกข์ ก็จะไม่มีวันรู้ทุกข์เลย เหมือนกับที่เขาพูดเป็นสำนวนว่า “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นอาจม” หนอนอยู่กับอาจม แต่ไม่เห็นอาจม และจะให้ออกจากอาจม มันก็ไม่ยอม เพราะมันคิดว่าอาจมดีที่สุด นั่นเป็นเพราะมันก็ไม่รู้จักอาจมจริงๆ

ฉะนั้น การรู้ทุกข์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนก็รู้ว่าอริยสัจ 4 ที่พระพุทธเจ้าตรัสได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนมากกว่านั้น ทรงสอนว่าควรเกี่ยวข้องกับอริยสัจแต่ละข้อๆ อย่างไร ทรงใช้คำว่ากิจญาณก็คือความรู้เกี่ยวกับกิจหรือข้อปฏิบัติที่พึงมีต่ออริยสัจแต่ละข้อ เช่น ทุกข์ กิจที่พึงทำคือรู้หรือ รู้ทั่ว บางท่านใช้คำว่า กำหนดรู้ แต่บางคนเข้าใจว่ากำหนดรู้คือเพ่ง เลยเข้าไปในทุกข์หนักขึ้น

ที่จริงคำว่ากำหนดรู้ มาจากคำว่า ปริญญา ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่า รู้ทั่ว รู้อย่างแรกก็คือ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ตัวว่าทุกข์ หรือรู้ว่ามีทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดกับใจก็รู้ว่าใจทุกข์ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก รู้แต่กายทุกข์มากกว่า ทั้งที่ความทุกข์ของใจนั้นเข้มข้นและหนักกว่าความทุกข์ของกายเสียอีก

ความทุกข์ใจเกิดจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือความไม่ชอบ ความโกรธ ความเกลียด ความชัง การผลักไส ผลักไสอะไรก็ทุกข์ทันที เช่นเมื่อเจอเสียงดัง หรืออย่าว่าแต่เสียงดังเลย เสียงเบาๆ แถมไม่ใช่เสียงคุย แต่เป็นเสียงเพลง แต่ถ้าไม่ชอบเสียแล้ว แม้ได้ยินแค่ประเดี๋ยวเดียว หรือได้ยินแค่แผ่วเบา ใจก็ทุกข์ทันที เวลาได้ยินเสียงเพลง หรือเสียงคนคุยกัน กายไม่ทุกข์หรอก เพราะเสียงไม่ได้ดังเอ็ดตะโรระคายโสตประสาท แต่ใจมันทุกข์ ถึงตรงนี้ค่อยรู้ว่า ข้างในมันหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ แต่บางคนก็ไม่รู้ เพราะเข้าไปในความหงุดหงิด ความโกรธไปแล้ว โกรธแต่ไม่รู้ว่าโกรธ จึงเป็นผู้โกรธ

ตอนที่กำลังโกรธใจมันเป็นทุกข์ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ว่าโกรธ ทั้งๆ ที่ใจมันโกรธเข้าไปเต็มเปาเลย หรือว่าหงุดหงิดเข้าไปเต็มที่เลย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะใจมันผลักไส ไม่ชอบ แต่พอปรับใจให้เป็นกลางๆ ความทุกข์ใจก็จะหาย หรือพอปรับใจให้เป็นบวก เช่น เกิดความรู้สึกดีกับเสียงเพลงนั้น รู้สึกดีกับเสียงพูดคุยนั้น ลูกกำลังพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน แม่ก็คิดในใจว่า ลูกกำลังมีความสุข แม้ลูกส่งเสียงดัง แม่ก็ไม่เป็นทุกข์ กลับมีความสุขไปด้วย แต่ถ้าเรามองว่าเขากำลังส่งเสียงรบกวน พอคิดแบบนี้ปุ๊บใจมันผลักไสทันทีก็เลยเป็นทุกข์

เวลาใจมันบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย หรือผลักไส แค่เราเห็นอาการดังกล่าวหรือเห็นว่าใจมันทุกข์ ก็ช่วยได้เยอะแล้ว เพราะว่าใจจะค่อยๆ กลับคืนสู่ความปกติ เพราะการเห็นอาการดังกล่าว จะช่วยให้ใจมีสติ เกิดความรู้สึกตัว ทำให้หลุดจากความทุกข์ จิตกลับมาเป็นปกติ

ที่จริงถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดอีกหน่อยก็จะพบว่า คนที่รู้สึกทุกข์กาย เอาเข้าจริงๆ เขาไม่ได้รู้ทุกข์หรอก แต่ว่าเป็นผู้ทุกข์ต่างหาก ไม่ได้รู้ทุกข์กาย แต่ไปยึดทุกข์กายว่าเป็นตัวกูของกู ไม่ใช่รู้แบบรู้ซื่อๆ ถ้ารู้ซื่อๆ ก็แค่เห็นเฉยๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกซื่อๆ แต่ใจเข้าไปยึดความทุกข์กาย จับหรือตรึงติดตรึงอยู่กับความทุกข์กาย ความทุกข์กายก็เลยกลายเป็นความทุกข์ของใจไปด้วย

จิตไปจับหรือยึดความทุกข์กาย แทนที่จะดูเฉยๆ เปรียบเหมือนกับว่า แทนที่จะเห็นหนาม เรากลับเข้าไปเหยียบหนาม หรือกำหนามเอาไว้ทั้งที่เห็นหนามอยู่ หนามแหลมก็จริงแต่ว่าถ้าเราแค่ดูเฉยๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรใช่ไหม ปัญหาคือเราเผลอไปกำหนามเอาไว้ ถ่านร้อนๆ แดงๆ ก็เช่นกัน ถ้าดูเฉยๆ ก็ไม่เป็นอะไร แต่พอไปกำมันเข้า เราปวดเลยใช่ไหม

เวลามีทุกข์กายก็เช่นกัน ใจมันไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ แต่เข้าไปจับ เข้าไปยึดหรือแบกความทุกข์นั้น เรียกอีกอย่างคือ คือไม่ได้ดูเวทนา แต่เข้าไปยึดเวทนา เข้าไปเป็นเวทนา พูดง่ายๆ คือไม่ได้เห็น แต่เข้าไปเป็น ไม่ได้รู้หรือเห็นความทุกข์ของกาย แต่เข้าไปยึดความทุกข์ของกาย แล้วเกิดความรู้สึกว่ากูทุกข์ขึ้นมา คำว่ากูทุกข์นี่แหละที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีกูทุกข์ กูหนาว กูร้อน ใจก็ไม่ทุกข์หรอก ทุกครั้งที่มีกูเกิดขึ้นก็เตรียมทุกข์ใจได้เลย

“กู” เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเพราะความหลง หลงปรุงตัวกูขึ้นมา เวลากายสัมผัสกับความหนาวแล้วเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา หากไม่มีสติ จิตก็ปรุงแต่งตัวกูขึ้นมา เป็นผู้หนาว พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวว่า “ความร่ำไรรำพันย่อมเกิดขึ้นกับผู้หลง” ผู้หลงในที่นี้คือผู้ที่ปรุงตัวกูขึ้นมา พอมีตัวกูขึ้นมาก็รู้สึกว่ากูเจ็บ กูหนาว เลยตีโพยตีพาย เรียกว่าความร่ำไรรำพันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่หลงหรือไม่เป็นผู้หลงมันก็ไม่เกิดความร่ำไรรำพัน คือเมื่อกายทุกข์ก็รู้ว่ากายทุกข์ แต่ว่าไม่มีกูทุกข์

ฝึกใจให้รู้ทุกข์ มีสติรู้ทุกข์ รวมทั้งรู้วิธีวางทุกข์ จนถึงขั้นพิจารณาทุกข์ คือเรียนทุกข์ หาประโยชน์จากทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจสัจธรรมของความทุกข์ เห็นกระทั่งว่ารากเหง้าของความทุกข์คืออะไร คือตัวสมุทัย มันมีอะไรให้เราฝึก และเรียนรู้จากทุกข์มากมาย ไม่ว่าทุกข์กาย ทุกข์ใจ อยู่ที่ว่าเราจะเรียนหรือเปล่า ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์กล่าวว่า “ทุกอย่างในโลกนี้ แม้แต่เลวที่สุด ถ้ามองเป็น ก็เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้ความรู้ ได้ความจริง”

ความทุกข์นี่แหละ ถ้ารู้หรือเห็นมันบ่อยๆ จนกระทั่งรู้จักดี มันจะช่วยให้จิตเกิดปัญญาจนหลุดจากทุกข์ได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณกล่าวว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” พอเห็นมันบ่อยๆ ก็จะรู้จักธรรมชาติของมันอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งรู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรควรยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่าง เมื่อรู้เช่นนี้ก็วางทุกสิ่ง เมื่อวางทุกสิ่งก็หมดทุกข์

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image