ที่เห็นและเป็นไป : จุดเปลี่ยน ‘ความมั่นคง’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

การเมืองเข้มข้นขึ้นด้วยกระแสของอารมณ์ผู้คนอยู่กับความเบื่อหน่ายที่จะให้เวลารัฐบาลใหม่ การตรวจสอบและโจมตีเริ่มต้นด้วยความรู้สึกทนมา 5 ปีไม่มีอะไรดีขึ้น

รัฐบาลที่ความมั่นคงอยู่กับการเขียนกติกาโครงสร้างอำนาจให้เอื้อ ในแบบที่อธิบายได้ดีด้วยคำ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และวางบุคลากรที่ไว้วางใจต่อความจงรักในกลไกที่กติกาให้อำนาจไว้

เป็นความมั่นคงในระดับปฏิบัติการ ในอำนาจอธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์แลกเปลี่ยน

ความภักดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากศรัทธาที่มีต่อกันอย่างแท้จริง แต่ผูกมัดกันไว้ด้วยการอวยประโยชน์ให้

Advertisement

เป็นความมั่นคงที่ไม่ต่างกับการเลี้ยง “มือปืนรับจ้าง” ไว้คุ้มกันตัวเอง และข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้าม

ทว่าความมั่นคงกลับไม่สะท้อนอยู่ในมุมของความร่วมมือร่วมใจ

พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค หรือกระทั่งในแต่ละกลุ่มในพรรคเดียวกัน ต่างวางระยะห่างต่อกันและกัน แสดงออกถึงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การร่วมหอลงโรง ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมล้มเหลวหรือสำเร็จด้วยกัน

Advertisement

เป็นแค่เข้ามามีส่วนร่วมในผลประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งจากอำนาจรัฐ ในลักษณะที่รู้ในใจของกันและกันว่าแค่ “ชั่วคราว” ทำอย่างไรให้ได้สมใจที่สุดก่อนจะจบเกมเท่านั้น

ความมั่นคงที่อาศัยกติกาที่เอื้อให้มากกว่าปัจจัยอื่นเช่นนี้

มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความเชื่อถือในคณะผู้ตีความและใช้กฎหมายไว้

การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่่อถือดังกล่าว อาจเป็นไปได้ที่จะบังคับเอาด้วยกำลัง และกลวิธีสร้างความกลัว

แค่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ความเคยชินแบบนั้นถูกตั้งคำถามว่ายังใช้ได้ผลหรือไม่

ด้วยสังคมที่ทุกคนมีช่องทางที่จะสื่อสารสู่สารธารณะได้อย่างอิสระ การควบคุมความคิดเห็นให้อยู่ในเพียงแนวที่อยากจะให้เป็นนั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อมีเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้น หากจะใช้กฎหมายมาสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจ แม้จะเป็นกฎหมายที่เขียนให้เอื้อต่อตัวเองมากมายแค่ไหน ต่อให้แค่ใช้วิธีตีความตามตัวบท โดยไม่ต้องสนใจว่าจะสร้างความเป็นธรรมได้หรือไม่ อันเป็นหลักที่ผู้มีจิตวิญญาณของนักกฎหมายอย่างแท้จริงพึงมี

ก็ต้องเป็นการตีความที่ฟังแล้วมีเหตุผล ไม่ใช่การบิด ตะแบงให้ขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว

เพราะการกระทำเช่นนั้นในสังคมที่เครื่องมือการสื่อสารสู่สาธารณะอยู่ในมือของทุกคน สามารถทำได้อย่างง่ายดาย และตลอดเวลาโดยเสรี

จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การเบี่ยงเบนจะไม่ถูกตอบโต้ และผู้บิดเบือนจะไม่ถูกประณาม

แม้สังคมจะแตกแยกและเลือกข้างแค่ไหน แต่ถึงที่สุด ในคนส่วนใหญ่ จิตสำนึกที่จะนำสู่การยึดถือความถูกต้องย่อมมีพลังมากกว่าอคติเพียวๆ

หากการตอบโต้ และเหตุผลในการประณามนั้นหนักแน่นทำให้เกิดความเชื่อถือได้ในกระแสประชาชน

การตอบโต้คำอธิบายที่เบี่ยงเบน และประณามผู้บิดเบือนจะเป็นกระแสของความเชื่อถือมากกว่า

ผลส่วนหนึ่งแน่นอนว่า ผู้บิดเบือนจะเสียผู้เสียคนในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป

แต่ที่จะชัดเจนกว่านั้นคือ “ความมั่นคง” ที่คิดว่า “กติกาที่ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” จะค้ำจุนไว้ได้ จะเกิดอาการคลอนแคลน

คลอน ด้วยความเสื่อมในศรัทธา

แคลน ด้วยการเกิดขึ้นของความรู้สึกชวนสังเวช

และเมื่อความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ความมั่นคง” ที่อุตส่าห์เขียนกติกาให้ค้ำให้ยันไว้อย่างแข็งขัน ย่อมมีโอกาสจะพังคลืน

เนื่องจากว่าในที่สุดแล้ว ความเป็นประเทศ ความเป็นชาติที่หมายถึง “การหลอมรวมผู้คนให้พร้อมจะอยู่ร่วมกัน” นั้น ความมั่นคงคือการสร้างความรู้สึกว่า “มีความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน”

โดยคำว่า “ความเป็นธรรม” นั้นไม่ใช่ “เป็นไปตามตัวบทของกติกา”

แต่คือ “ความเป็นธรรม” ที่สัมผัสได้ด้วยจิตสำนึกแบบ “วิญญูชน” อันหมายถึงผู้ด้วยเหตุผล มีจิตใจที่มุ่งเอารัดเอาเปรียบ กดข่มผู้อื่น

รัฐบาลที่อธิบายกฎหมายด้วย “ความเป็นธรรม” ด้วยเหตุผลที่ “วิญญูชน” ยอมรับไม่ได้

ในยุคสมัยที่การปิดกั้นความรู้ความคิดเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

“ความมั่นคง” ที่คิดว่ามีอยู่นั้น แท้จริงแค่ละเมอไป

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image