รัฐมนตรีใหม่กับโจทย์หินที่ท้าทายในกระทรวงศึกษาธิการ โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

ได้อ่านนโยบายด้านการศึกษา 7 ข้อ ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ข้อ 1 การพัฒนาเด็กปฐมวัย ข้อ 2 พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ข้อ 3 พัฒนาอาชีวะ พัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ข้อ 4 ดึงดูดคนเก่งทั่วโลกมาทำงานกับคนไทยและส่งเสริมผู้มีความสามารถสูง ข้อ 5 วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ ข้อ 6 ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ข้อ 7 จัดระบบปริญญาชุมชนและหลักสูตรระยะสั้น

วิเคราะห์ดูแล้ว นโยบายทั้ง 7 ข้อ ตอบโจทย์ปัญหาทางการศึกษาของไทยที่หมักหมมมายาวนานพอสมควร ทั้งด้านคุณภาพ ด้านโอกาส และความเหลื่อมล้ำ

แต่โดยภาพรวมทั้ง 7 ข้อ พอมองออกวิธีคิดและทิศทางของการศึกษาไทยสอดคล้องกับความหวัง และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะนโยบายข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 และส่วนข้อ 7 นั้น น่าสนใจยิ่ง เพราะการศึกษายุคใหม่ไร้พรมแดน ใครอยากเรียน เรียน/ใครอยากฝึก ฝึก ใครอยากทำงาน ทำ/ใครอยากหยุดก็หยุดได้เลย

สถาบันที่สามารถตอบโจทย์ นโยบายข้อ 7 ได้ดี คือ “วิทยาลัยชุมชน /การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” ซึ่งมีบทบาทในการเติมเต็มและสอดคล้องกับการเรียนรู้ และการพัฒนาคนให้มีทักษะชีวิต ทักษะการแก้ปัญหาและทักษะการประกอบอาชีพ แต่ปัจจุบันปัญหาอยู่ที่การสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง การฝึกอย่างแข็งขันและรอบด้าน อันนี้รัฐจะต้องสนับสนุนอุปกรณ์และโรงฝึกงาน ถ้าทำได้ ก็จะตอบโจทย์นโยบาย ข้อ 7 ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ควรเพิ่มหลักสูตร วัสดุอุปกรณ์การฝึกให้กับวิทยาลัยชุมชน และการศึกษานอกระบบและ
การศึกษาตามอัธยาศัย

Advertisement

แต่การขับเคลื่อนทางการศึกษาของชาติเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคุณภาพของการศึกษา คือคุณภาพของคนในชาติ ปัญหาใหญ่คือ การบริหารจัดการตั้งแต่ นโยบายระดับกระทรวง ทบวง กรม ลงมาถึงระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ผ่านมาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เหมือนเก้าอี้ดนตรี ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันจนข้าราชการจำไม่ได้ บางรัฐมนตรีไม่ได้ประสีประสาอะไรกับการศึกษาเลย มาทำงานกับองค์กรที่มีคน 4-5 แสนคน เป็นดินแดน ลับ ลวง พราง มานับ 100 ปี

สุดท้ายรัฐมนตรีก็ไปไม่เป็น

ดูรัฐมนตรีชุดนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ มีหลักคิดดีๆ แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นความเขี้ยวของคนใน ศธ.ยัง ไม่ได้เริ่มงาน ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าตัวท่านรัฐมนตรีกินรวบหน่วยงานหลักๆ ไว้หมด มีทั้งคน เงิน และของ เพราะผู้บริหารระดับรัฐมนตรี มาจากต่างพรรค ต่างพวก นี่คือรอยร้าวที่เริ่มปริแตก เพราะปัญหาทางการศึกษาของไทยที่มองเห็นและยากที่จะแก้ไขได้หลายๆ ด้าน
แต่ปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไข คือ

Advertisement

1.การบริหารจัดการ คือ การบริหารจากส่วนกลางที่ชอบคิดเอง คิดจากข้างบนแล้วส่งลงไปข้างล่าง

ขาดการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำบางโครงการดี แต่ถ้าไม่ตรงตามที่ตัวเองคิดก็จะยกเลิก เช่น คูปองครูหลักของมันคือ ต้องการให้ครูได้พัฒนา ให้ครูมีคุณภาพ เพราะอย่าลืมว่า มีครูจำนวนไม่น้อยแทบจะไม่มีโอกาสเข้าฝึกอบรม ยกเว้นหน่วยเหนือบังคับ โรงเรียนใดได้ผู้บริหารที่สนใจ มุ่งคุณภาพครูก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอผู้บริหารขี้เหนียว ก็ยากที่ครูจะได้เข้าอบรมพัฒนา ประกอบกับบางหน่วย บางโรงเรียนมีครู 100-200 คน ก็ยากที่จะใช้เงินไปพัฒนาครู

นี่คือเหตุผลที่รัฐบาล ท่านนายกฯประยุทธ์ 1 ได้ขับเคลื่อนคูปองครู ปัญหาย่อมมีบ้าง แต่อยู่ที่วิธีการ ต้องแก้ไขกันไป แต่หลักการครูทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง ตอบโจทย์นโยบาย ข้อ 4 ฉะนั้น คูปองครูไม่ควรยกเลิกไป การบริหารจัดการในระดับภูมิภาค มีการปรับศึกษาภาค, ศึกษาธิการจังหวัด ทำให้ขั้นตอนการทำงานซับซ้อนยุ่งยากขึ้น ยิ่งถ้าบุคลากรไม่เข้าใจในบริบทของงาน เกี่ยงงอนซึ่งกันและกัน ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่อย่าลืมว่า การปฏิรูปโครงสร้างกับทางการศึกษาในระดับภูมิภาค ให้มีเขตพื้นที่มองภาพรวมแล้วมีส่วนดี มีการกระจายอำนาจ ผู้รับผิดชอบ ที่เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงปัญหา เข้าถึงชุมชน และสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

แต่ในมุมมืด การบริหารในระดับเขตพื้นที่ ถ้าผู้บริหารอ่อนแอ ไร้คุณธรรม ก็สร้างปัญหา เช่น กรณีนักเรียนผี การเรียกรับเงิน กรณีนักเรียนเข้าเรียน กรณีครูและบุคลากรขอย้าย กรณีการโยกย้ายผู้บริหาร จนมีอดีตเลขาฯ สพฐ.เคยกล่าวไว้ อัตราการย้ายผู้บริหารบางแห่งว่า ก.ม.ละ 1 ล้านบาท หรือกรณีโยกย้ายผู้บริหารที่ขาดคุณสมบัติผลัดกันชม เป็นต้น

นี่คือเหตุผลหนึ่ง จึงมีหน่วยงานใหม่ คือ ศึกษาภาค ศึกษาจังหวัด และกรรมการ กศจ. ปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงทุเลาลงในรอบ 3-5 ปี อาจจะถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ว่าได้ คือ สามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในกระทรวงศึกษาธิการได้ระดับหนึ่งทีเดียว

ต้องชื่นชมท่าน รมต.ธีระเกียรติ และรัฐมนตรี สุรเชษฐ์ อีกท่านด้วย

2.การคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่ง การคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ถือว่าทำได้ดี โปร่งใส สอดคล้องกับปัญหาและพื้นที่ เช่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน แต่ปัญหาว่าทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ครูที่ขี้เกียจมีสอนนักเรียน หนีไปเรียน ป.โท (จ่ายครบจบแน่) เอกบริหาร แต่ขาดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียน ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู และผู้บริหารขาดความมุ่งมั่นพัฒนาภาระหน้าที่ ขาดการเรียนรู้ถึงการจัดการสอน การจัดหลักสูตร การควบคุม ติดตาม ผู้ใต้บังคับบัญชา สุดท้ายคนเหล่านี้ เข้าสู่ตำแหน่งบริหาร จึงส่งผลหลายๆ ด้าน ให้คุณภาพทางการศึกษาของไทยโดยรวมตกต่ำที่สุด

จึงขอฝากท่าน รมต.ใหม่ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ควรปรับ ควรเน้นผู้บริหารที่เสียสละเพื่อชาติ เพื่อสถาบันของหลักของชาติ ทุ่มเท มุ่งมั่น เน้นคนที่มีประสบการณ์ เน้นคนที่ทำงานและอยู่ร่วมกับชุมชนได้ เน้นคนที่ทำอย่างไรไม่ให้ “โรงเรียนแปลกแยกจากชุมชน” เน้นคนที่สอนให้เด็กเป็นคนดี เสียสละเพื่อส่วนรวม คอยดูแลช่วยเหลือเพื่อน พร้อมปกป้องสถาบันหลักของชาติ

3.การบริหารหลักสูตร หลักสูตรทางการศึกษาของไทย ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงหลักสูตรในปัจจุบัน ซึ่งกำลังล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่เข้าสู่เทคโนโลยีนาโน ดิจิทัล และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จะทะลุทะลวงกระบวนการการเรียนรู้ทุกมิติ หลักสูตรไทยไม่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้คิด ได้พิสูจน์หาเหตุผล ไม่สอนให้เด็กรักการอ่าน ไม่สอนให้ผู้เรียนใช้เหตุผลเชิงประชาธิปไตย ไม่สอนให้ผู้เรียนรักและศรัทธาในชาติ ในประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่สอนให้รู้จักเอาตัวรอด ไม่สอนให้รู้จักรวมตัวกันทำงานร่วมกัน ไม่สอนให้มีอุดมการณ์ร่วมในการปกป้องชาติ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพที่พึงมี ไม่สอนให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ทางเลือกใหม่ ไม่สอนไม่ฝึกให้ทำงานร่วมกัน ไม่สอนไม่ฝึกให้มีวินัย สังคมครอบครัวอ่อนแอ สถาบันการศึกษาละเลย ส่งผลให้เด็กเมินเฉยกิจกรรมทางศาสนา สอนให้คนเห็นแก่ตัว แย่งกันเรียน โดยไม่คำนึงถึงคนที่อยู่ข้างหลัง

นี่คือโจทย์ใหญ่หลวงของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เห็นทีจะต้องปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษาครั้งใหญ่ กระแสโลกกำลังไล่ล่าเรา ถ้าเราไม่คิด ไม่เปลี่ยน นับวันเราจะแย่ ประเทศจะแย่ ดูเหมือนเราจัดการศึกษาให้คนไทย เด็กไทยโง่ หรือเลวร้าย โดยไม่รู้ตัว โลกใหม่แรงงานจะถูกแย่งจาก AI บางงาน บางธุรกิจใช้คนน้อย เช่น Uber Grab Go, Airbnb, YouTube, Facebook, Instagram, Microsoft บางธุรกิจจะล่มสลาย เช่น ทีวี โรงภาพยนตร์ ธุรกิจแผ่นซีดี ธนาคารต่างๆ และเชื่อว่าอีกไม่นาน ค่ายโทรศัพท์จะถูกปิดกิจการลง ลูกค้าจะหันไปใช้ WiFi ฟรี

คุณภาพทางการศึกษาคือ คุณภาพของคน และคนนี่แหละคือ ทรัพยากรที่สำคัญที่นำชาติไทยไปสู่ความ มั่งคั่ง และยั่งยืน

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การแปรนโยบายไปสู่กิจกรรมและปฏิบัติ ภายใต้การมีส่วนร่วม มุ่งเน้นไปที่คุณภาพของคน ถ้าคุณภาพของคน ด้านความรู้ ด้านการศึกษาแย่ ก็จะทำให้ประเทศของเราแย่ เข้าสู่วิกฤตความเหลื่อมล้ำ เช่น ด้านกฎหมาย คนทำงานไม่เป็น บริษัทยักษ์ใหญ่กินรวบ รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุน วิทยาลัยเกษตรกรรมให้เด็กฝึกอาชีพ ไม่ใช่ไปเปิดโปรแกรมการตลาด คอมพิวเตอร์ ซึ่งไร้ทิศทางและเป้าหมาย ส่งผลให้บางสถาบันร้าง ไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน

ปัญหาทางการศึกษาของเรา เพราะรัฐไม่สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย ข้าว ยาง อ้อย มันสำปะหลัง ให้เป็นพืชหลัก ที่มีราคาที่มั่นคงและยั่งยืน วิกฤตการบุกรุกที่สาธารณะ ทำลายป่า ขาดจิตสำนึกในหลักแห่งความถูกต้องและละอาย อย่างกรณีพรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นข่าว ใช้สถานที่ประชุมซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวน ถ้าเป็นจริง ก็แย่ ยิ่งกว่าแย่

แต่อย่าเพิ่งสรุป ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เราเข้าสู่วิกฤตที่ผลิตคนขาดความรับผิดชอบ และวินัย อย่างเช่นกรณี การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง จนยาเหล่านี้ลุกลาม ทำลาย ฆ่า ปู ปลา สัตว์น้ำน้อยใหญ่ ทำลายดินในประเทศไทย “ในน้ำไม่มีปลา ในนา ไม่มีข้าว” แม้แต่เสียงร้องของกบ เขียด ก็แทบจะไม่ได้ยิน

วิกฤตนี้ ทำให้ประเทศล้าหลัง แข่งขันไม่ได้ เป็นเบี้ยล่างแรงงาน แต่รัฐกลับไปส่งเสริมการท่องเที่ยว จนทรัพยากรถูกทำลาย ส่งผลให้ประชาชนทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชาติ วิกฤตดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ควรมองข้ามและละเลย ถ้าไม่รีบแก้ผ่านกระบวนการทางการศึกษา และหลักสูตรที่ทันสมัย ให้ตรงกับสภาพจริงของสังคมไทยโดยภาพรวม ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอ ทางด้านวิชาการและโภชนาการ ส่งผลให้คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็ง อันดับต้นๆ ของโลก เป็นโรคเบาหวาน ตั้งแต่อายุยังน้อย

รวมถึงความล้าหลังและด้อยคุณภาพในหลายๆ ด้าน ที่เราไม่ค่อยพูดถึง และยอมรับความจริง

คุณภาพทางการศึกษา อยู่ที่คุณภาพครู ถ้าไม่สามารถทำให้กระบวนการสอนของครู ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง จากสอนให้ท่อง สอนให้จำ เป็นสอนให้คิด ให้ลงมือทำจริงได้ ก็ยากที่จะสำเร็จ การผลิตและการพัฒนาครูที่นำสู่การมีครูสมรรถนะสูง เป็นครูยุคใหม่ที่สามารถออกแบบและจัดระบบการสร้างความรู้ สร้างวินัย กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์มุมมองของเด็กและครูควรเน้นการสอน เชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น ควบคู่กับหลักการทางวิชาการด้วยกระบวนการเรียนการสอนยุคใหม่

ครูควรจัดการเรียนการสอนโดยพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ผ่านระบบดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสร้างสรรค์ ที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน สร้างระบบวัดผลโรงเรียนและครูที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการพัฒนาครูต่อไปนี้จะเป็นไปเพื่อนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่พัฒนาครูเพื่อครู

อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ที่ต้องตอบให้เป็นรูปธรรม คือ การปลูกฝังและดำรงรักษาจิตวิญญาณความเป็นครู การแก้ปัญหาโดยใช้ หลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการทุจริตในวงการศึกษา อีกทั้งโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ควบคู่กันไป กับทิศทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ความเป็นอัจฉริยะ จุดเน้นของนโยบายแห่งยุคสมัย เพื่อตอบสนอง ทุนนิยมมากไปหรือไม่ ปล่อยให้กระบวนการบริโภคนิยม เข้ามามีบทบาทและทำลายคุณภาพของคน ส่งผลให้คน เป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ รวมถึงการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ เคารพในศักดิ์ศรี ความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม

นี่คือสิ่งที่ท้าทาย รัฐมนตรีคนใหม่ และอยากฝากท่านรัฐมนตรี คัดเลือกคนในกระทรวงมาร่วมกันผลักดันคุณภาพทางการศึกษา เพราะบุคลากรในกระทรวงที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมมีอยู่จำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image