กสทช.กับการพัฒนาระบบสื่อสารไทย โดย ไพรัช วรปาณิ

เพื่อนๆ หลายคนแสดงความจำนงมาว่า…ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นคณะอนุกรรมการบูรณาการ ปรับปรุง และแก้ไขกฎหมาย “กสทช.” ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับระบบการสื่อสารโทรคมนาคมขององค์กรแห่งนี้มาก่อน จึงอยากจะให้เขียนเล่าถึงความเป็นมา ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนอำนาจ หน้าที่และบทบาทสำคัญของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีต่อการพัฒนาระบบการสื่อสารของไทย ตั้งแต่ดั้งเดิมในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งยังเป็นระบบ telegraph มาจนถึงการเป็นระบบใหม่ 4จี ในปัจจุบัน และกำลังจะก้าวสู่ 5จี ในอนาคต อันจะทำให้สามารถเห็นภาพวัตถุสามมิติบนจอภาพและสื่อสารอย่างรวดเร็วนั้น มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร? เพื่อเป็นวิทยาทานแก่แฟนๆ ผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย

ความสำคัญของการสื่อสารต่อการพัฒนาประเทศนั้นตระหนักได้จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2526 ความว่า…

“การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้ารวมทั้งการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกับการดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวางแล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอน มาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่มให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพของบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติมีโอกาสได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจสังคม และเสถียรภาพของ
บ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง”

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้า ทันสมัย สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรผ่านสื่อด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความทันสมัยขององค์กรและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติเป็นอย่างดี

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น องค์กร กสทช.ดังกล่าว โดยฝีมือของท่านเลขาธิการคนดัง “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ยังได้โชว์ฝีมือในการดำเนินการจัดการประมูล “คลื่นความถี่” ให้แก่ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมทั้งหลายในประเทศ เพื่อให้ได้รับคลื่นความถี่เพียงพอต่อความต้องการจนสามารถนำไปพัฒนาระบบโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์เป็น 4จี และ 5จี ในอนาคต เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยทั่วหน้า พร้อมกับการเสริมสร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐ จากเงินประมูลจำนวนมหาศาล เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศดังที่ได้รับเสียง “ปรบมือ” มาแล้ว

ความเป็นมาขององค์กร กสทช.เกิดจากการเข้ามาของเทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 โดย
เฟรียดรัช อัลเบรชต์ กราฟฟรัส ซู ออยเลนเบอร์กอัครราชทูตแห่งปรัสเซีย ได้นำ “ตะแล้ปแก๊ป” (Telegraph) มาถวายเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี ซึ่งถือเป็นโทรเลขเครื่องแรกที่เข้ามาในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อปี พ.ศ.2404

พ.ศ.2419 เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้ดำริให้มีคนส่งหนังสือแก่สมาชิกทุกเช้า โดยคิดค่าสมาชิกปีละสองบาทพร้อมกับให้คนส่งหนังสือแต่งเครื่องแบบสีน้ำเงิน และเมื่อส่งหนังสือถึงสมาชิกแล้วก็สามารถที่จะส่งจดหมายไปให้สมาชิกท่านอื่นๆ ได้แต่ต้องซื้อตั๋วแสตมป์ติดจดหมาย ถือเป็นการกำเนิดการไปรษณีย์ไทยเป็นครั้งแรก

Advertisement

พ.ศ.2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา “การไปรษณีย์” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรก ซึ่งต่อมากรมไปรษณีย์ได้รวมกับกรมโทรเลข เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2441

พ.ศ. 2471 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่กรมไปรษณีย์โทรเลข วัดเลียบ โดยใช้เครื่องกระจายเสียงขนาด 200 watts ซึ่งภายหลังได้เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรที่วังพญาไท ถือเป็นการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทย

พ.ศ.2497 โทรทัศน์ถือกำเนิดภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปีเดียวกันนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้แยกกองช่างโทรศัพท์จัดตั้งเป็น “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” (ทศท.) และแยกงานปฏิบัติการด้านบริการไปรษณีย์ออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดตั้งเป็น “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” (กสท) ในปี พ.ศ.2519

พ.ศ. 2543 ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อันเป็นกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 มีผลทำให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเปลี่ยนไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.

พ.ศ.2545 ตราพระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือสำนักงาน กทช. ต่อมาได้ให้การโทรเลขไทยยุติการให้บริการไปเมื่อ พ.ศ.2551

พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อันเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นให้เป็นไปตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลทำให้สำนักงาน กทช.เปลี่ยนแปลงมาเป็นสำนักงาน กสทช.ทันที และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554

ทั้งนี้ โดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 บัญญัติให้กรรมการ กสทช.มีอำนาจหน้าที่และภารกิจดังนี้คือ…

1.การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

2.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

3.กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่ผูกขาดและไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ กสทช.กำกับดูแล

4.กำหนดมาตรการให้มีการกระจายบริการด้านโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

5.คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลในการสื่อสาร และส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่

ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ กสทช.คือการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการทั้งในด้านความเป็นส่วนตัว เสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยประเภทของการร้องเรียนได้แก่…

การรบกวนคลื่นความถี่วิทยุ เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี จานสัญญาณดาวเทียม

ความไม่เหมาะสมของเนื้อหารายการในการจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ แจ้งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

การคิดอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมไม่ถูกต้อง คุณภาพสัญญาณไม่ดีไม่ปฏิบัติตามที่โฆษณาไว้

ตลอดจนการยัดเยียดบริการ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ให้บริการ ฯลฯ

นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ สำนักงาน กสทช.ยังมีสำนักงานส่วนภูมิภาคสำหรับรับคำร้องเรียนเสนอแนะจากประชาชนอีก 14 แห่งคือ

เขต 1 นนทบุรี, เขต 2 อุบลราชธานี, เขต 3 ลำปาง,เขต 4 สงขลา, เขต 5 จันทบุรี, เขต 6 ขอนแก่น, เขต 7นครราชสีมา, เขต 8 อุดรธานี, เขต 9 เชียงใหม่, เขต 10 พิษณุโลก, เขต 11 ภูเก็ต, เขต 12 นครศรีธรรมราช, เขต 13 ระนอง, และเขต 14 ชุมพร เป็นอาทิ

ความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญในปัจจุบัน คือองค์คณะกรรมการของ กสทช.ประกอบด้วย 6 อรหันต์ผู้เยี่ยมยุทธ์ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล “ลุงตู่” ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มภาคภูมิ กสทช. 6 ท่านดังกล่าวคือ

พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการ กสทช.

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์

ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะกับท่านกรรมการ (กสทช.) ทั้ง 6 ท่าน ในงานพิธีทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สำนักงาน กสทช.วันก่อน ปรากฏว่า ทุกท่านต่างแสดงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลว่าจะมุ่งมั่นแน่วแน่ร่วมใจกันทำงานเพื่อพัฒนากิจการโทรคมนาคมให้ก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยการลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยแนวทางการมุ่งเน้นให้ประชาชนได้ใช้บริการที่หลากหลายผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมอันทันสมัย เท่าเทียมทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม บนพื้นฐานการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างคุ้มค่า เพื่อเป็นโครงข่ายหลักในการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไปสู่สังคมภูมิปัญญาความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน กรรมการ กสทช.ด้านโทรคมนาคมท่านหนึ่งได้เน้นให้ฟังว่า ภารกิจหรือเป้าหมายที่คณะกรรมการเราทุกคนใน กสทช.ไม่เคยลืม ก็คือการให้ความสำคัญในยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้…

1.ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

2.ด้านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ

3.ด้านการใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ

4.ด้านการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง

5.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม

6.ด้านการเตรียมความพร้อมและการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับแผนให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยว่า การเน้นพัฒนาระบบงานในทุกด้านให้ทันยุคทันสมัยนั้น ย่อมเกิดผลดีต่อชาติบ้านเมืองโดยทางอ้อม จึงนับว่าเป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์สำคัญของคณะ กสทช.ยุคใหม่อันน่าชื่นชม

เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้เกิดประสิทธิภาพทัดเทียมกับอารยประเทศในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image