บทความ : จุดจบของบรรษัทเผด็จการ : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ไม่มีใครทำนายได้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงอย่างไร นับตั้งแต่ยุบสภา, แก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.กลายเป็น ส.ส.ประเภทสอง (ทำให้รัฐบาลต้องลาออกโดยมารยาท เพื่อให้ “สภา” ใหม่เลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล), ถูกรัฐประหาร, หรือรัฐประหารตนเองเพื่อกลับสู่ระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะรัฐบาลมีเสียง “ปริ่ม” น้ำ และไม่ใช่เพราะได้แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่าง “ลงตัว” แล้ว แต่เพราะอำนาจนำที่ผดุงรัฐบาลนี้ให้ดำรงอยู่ได้ แตกแยกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายมานานแล้ว ที่รวมตัวกันก็เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะกิจเท่านั้น ความต้องการของกลุ่มต่างๆ ย่อมสอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ประนีประนอมกันยาก บังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมก็ยากพอๆ กัน

การครองอำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่ที่ใหญ่โตและสลับซับซ้อนเช่นสังคมไทย ไม่อาจทำได้ด้วยกลุ่มอำนาจใดเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของกลุ่มอำนาจหลากหลายกลุ่ม ที่มีผลประโยชน์บางอย่างต้องตรงกันชั่วคราว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะประคองความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอำนาจรัฐให้ดำรงอยู่สืบไปได้อย่างไร

กลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ที่แตกแยกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายนั้น เป็นธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่ และด้วยเหตุดังนั้นความแตกแยกจึงเป็นฉากหลังของอำนาจรัฐในทุกสังคม ไม่ว่าจะได้อำนาจรัฐนั้นจากการรัฐประหารหรือจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเผชิญกับความแตกแยกดังกล่าวทั้งสิ้น

Advertisement

ว่าเฉพาะอำนาจรัฐที่มาจากการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร หรือรัฐบาลเผด็จการซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์มากเป็นพิเศษ เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่ไปคิดว่าระบอบเผด็จการไทยเป็นของสฤษดิ์, ถนอม-ประภาส, รสช., คปก., หรือ คสช., เพราะที่จริงแล้วประกอบด้วยคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในชื่อเหล่านี้ (แม้แต่ชื่อก็น่าสนใจ เพราะแปรเปลี่ยนจากชื่อบุคคลมาเป็นชื่อคณะ)

ยกตัวอย่างจาก คสช. แกนกลางหรือ ins-group ประกอบด้วยนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ใน “สาย” ของผู้นำการรัฐประหาร และถูกวางตัวให้เป็นกำลังในภารกิจ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เตรียมการไว้มา 3 ปีก่อนการยึดอำนาจ อีกมากของทหารในกองทัพไม่ได้รู้เห็นด้วย แต่ก็สนับสนุนการกระทำของผู้นำกองทัพ เพราะสอดคล้องกับอุดมการณ์ “ความสามัคคี” ในสำนวนของทหารไทย ความสนับสนุนนี้อาจคลายลงในภายหลังได้ เพราะความล้มเหลวของ คสช. หรือการกระทำที่ผิดคาดของผู้นำเอง

นักธุรกิจระดับใหญ่ซึ่งอาจให้การสนับสนุนด้านการเงินมาก่อนการยึดอำนาจ นับเป็นส่วนหนึ่งของ ins-group แต่นักธุรกิจอีกจำนวนมากไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย เพียงแต่อยากจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกบางกลุ่มในหมู่นักธุรกิจอาจอยู่ในฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพเลย เพราะเมื่อนักธุรกิจใน ins-group ได้เปรียบ ก็ต้องมีใครเสียเปรียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

ราชการพลเรือนแทบไม่ได้อยู่ใน ins-group เลย ที่ถูกดึงตัวเข้าไปร่วมงานภายหลัง ก็ไม่ใช่คนที่มีอิทธิพลต่อข้าราชการในกระทรวงหรือกรมกองนั้นๆ นัก เพราะหมดสมัยแล้วที่ระบบราชการไทยจะมีปลัดกระทรวงแบบ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งจะดีจะชั่ว จะเก่งหรือไม่เก่ง ก็ได้รับความนับถือจากข้าราชการกระทรวงศึกษาฯอย่างเต็มเปี่ยม และอาจเป็นเพราะช่องโหว่ของอำนาจเหนือระบบราชการพลเรือนนี้แหละ ที่ทำให้ คสช.อวยประโยชน์แก่ข้าราชการอย่างมาก

และดังที่ทราบกันอยู่แล้ว คสช. สร้างทีมเศรษฐกิจขึ้นจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของสมาชิกใน ins-group
โดยหา “นายหน้า” ฟอร์มทีมเศรษฐกิจขึ้น “วางจำหน่าย” เอง จะเรียกร้องศรัทธาในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์, นักธุรกิจ, และประชาชนทั่วไปเพียงพอแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความเปราะบางของสายสัมพันธ์ระหว่าง ins-group ของ คสช.กับคนในวงการวางแผนทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่อยู่ในวงการธุรกิจ, มหาวิทยาลัย และองค์กรเอกชน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา (และ ins-group) จึงต้องพึ่งพาอาศัยคนกลุ่มอื่นมาก เพราะแม้แต่คนในกองทัพเอง ก็ไม่ได้มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประยุทธ์หรือ ins-group อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว นี่คือเหตุผลที่หากไม่นับนโยบายใช้ความรุนแรงและอำนาจดิบในการควบคุมประชาชนแล้ว คสช.แทบไม่มีกำลังในการ “บังคับใช้” (enforce) นโยบายอะไรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพสักเรื่องเดียว

เปรียบเทียบกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสมัยของสฤษดิ์ ทำให้เขาควบคุมกองทัพได้อย่างทั่วถึงกว่ามาก ส่วนใหญ่ของนักธุรกิจในสมัยนั้นยินดีกับนโยบายเปิดการลงทุนเสรีของเขา เพราะได้ต่อสู้ผลักดันนโยบายนี้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว อีกทั้งกำลังทางทุนทรัพย์ของนักธุรกิจในช่วงนั้นยังเป็นรองทุนของรัฐอย่างเทียบกันไม่ได้ เทคโนแครตในระบบราชการยินดีที่สฤษดิ์ทลาย “เส้นสาย” เก่าของระบบราชการลง และเปิดให้ได้ไต่เต้าไปอย่างรวดเร็วใน “เส้นสาย” ใหม่ที่สฤษดิ์สร้างขึ้น

อำนาจรัฐที่ค่อนข้าง (ขอย้ำว่าเพียงแต่ “ค่อนข้าง” เท่านั้น) เป็นอันหนึ่งอันเดียวของสฤษดิ์ ไม่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆ กลุ่มอำนาจต่างๆ ที่เข้าร่วมกับสฤษดิ์ในช่วงนั้น มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าสฤษดิ์อย่างมาก แม้แต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก ความร่วมมือกับสฤษดิ์จึงให้ประโยชน์ได้มากกว่า

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า เผด็จการที่ไหนๆ ก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแท้จริงทั้งสิ้น ยิ่ง ins-group ของเผด็จการแคบเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ความรุนแรงมากเท่านั้น ทั้งปิโนเชต์และนายพลของปากีสถานยึดอำนาจนำไว้ได้ ท่ามกลางการต่อต้านอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนหลายกลุ่มหลายพวก รวมทั้งพรรคการเมืองด้วย จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้ความรุนแรงอย่างฉาวโฉ่ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ในแง่นี้ก็อาจอธิบายมาตรการเด็ดขาดรุนแรงที่ คสช.ใช้อย่างผิดประหลาดกว่าคณะรัฐประหารอื่นของไทยได้เช่นกัน

แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (หรือโซเวียต) ก็มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกเรื่อง แต่ผู้นำคอมมิวนิสต์มักเลือกหนทางประนีประนอมระหว่าง ins-group มากกว่าเผชิญหน้ากันอย่างเดียว เพื่อประคองการนำของพรรคให้มั่นคงต่อไป อันเป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

รัฐบาลปัจจุบันซึ่งสืบทอดอำนาจจาก คสช. จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะ “นำ” อะไรได้สักเรื่องเดียว เพราะก็สืบทอดอำนาจจาก ins-group ที่เล็กมาก ซ้ำยังจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งทั้งหลากหลาย และขาดพลังในทุกด้าน ยิ่งต้องใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ก็จำเป็นต้องผนวกเอานักการเมืองหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมในรัฐบาล จึงยิ่งทำให้หมดพลังในการยึดกุมอำนาจมากขึ้นไปอีก

คำแถลงนโยบายที่กว้างสุดขอบฟ้าซึ่งรัฐบาลเพิ่งแถลงในรัฐสภา หาอะไรที่เป็น “นโยบาย” ไม่ได้เลย เพราะเป็นเพียงหลักการกว้างๆ ของการบริหารที่รวมเอาความต้องการของทุกกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ไว้ด้วยกัน โดยไม่ตัดสินใจเลือกไปทางใดทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ประสานความต่างของความต้องการนั้นให้เป็นอะไรที่ชัดเจน จะว่าไปก็เหมาะสมดีแล้วแก่กลุ่มแกนนำที่ รักษาอำนาจนำของตนไว้ได้ด้วยวิธีเดียวคือ หยวนๆ ยอมๆ กับพรรคพวกซึ่งอาจตั้งเงื่อนไขอะไรก็ได้ (ไม่เฉพาะแต่พรรคร่วมรัฐบาล หากรวมถึงกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่ยืนอยู่เบื้องหลังอีกมากด้วย)

หลักการกว้างๆ ดังที่แถลงนี้ เปิดโอกาสให้รัฐบาลทำอะไรก็ได้ และเพราะขาดการนำอย่างแท้จริงจากแกนกลาง อะไรที่จะทำนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ จากการแข่งขันชิงไหวชิงพริบของกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์อันหลากหลายที่ร่วมและหนุนหลังรัฐบาลอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไร ก็มีโอกาสที่จะเกิดความ
ขัดแย้งกัน ซึ่งแกนกลางหรือ ins-group ไม่อาจแก้ไขหรือบรรเทาลงได้ ยิ่งทำอะไรยิ่งทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงเพราะความแตกแยกย่อมปะทุออกมา

ในทางตรงกันข้าม หลักการกว้างๆ เช่นนี้ก็เปิดโอกาสให้ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้เหมือนกัน แต่ในท่ามกลางสภาวะขัดสนต่างๆ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่เช่นนี้ ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องบทบาทของรัฐมากขึ้น การไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีที่สุดถ้ารู้อยู่แล้วว่าจะทำอะไรให้ดีไม่ได้ กลับจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เร่งเร้าให้ “เห็บกระโดด” จากกลุ่มแกนกลางซึ่งทั้งเล็กและไร้อำนาจ

จุดจบของ คสช.จำแลงกำลังจะมาถึง แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะจบอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image