จิตวิวัฒน์ : สหกรณ์ : มองกว้าง มองไกล ใจใหญ่ จิตงาม : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

ผมโชคดี มีโอกาสได้เข้ามาทำงานและรู้จักกับคนในวงการสหกรณ์ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลาย ได้เห็น ได้เรียนรู้ทั้งส่วนดีและส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจังของงานสหกรณ์ โดยเฉพาะคนในวงการสหกรณ์ ตั้งแต่สมาชิกสหกรณ์ พนักงานระดับปฏิบัติการ ระดับจัดการ คณะกรรมการดำเนินการ และคนในหน่วยเหนือที่กำกับดูแลสหกรณ์

ส่วนดีของงานสหกรณ์คือส่วนที่เป็นแก่นแกน/แนวคิดของสหกรณ์ ได้แก่ ปรัชญา หลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ ซึ่งผมรวมเรียกว่า “จิตวิญญาณสหกรณ์” เพื่อที่จะสื่อถึงสิ่งที่เป็น “มิติภายใน” ของสหกรณ์ หรือถ้าเทียบเคียงกับระบบคอมพิวเตอร์ก็เป็น “ระบบปฏิบัติการ (OS)” ภายในคอมพิวเตอร์

ส่วนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจังคือ “คน” ในขบวนการสหกรณ์ทั้งระบบ ในทุกระดับ

ที่สรุปเช่นนี้ มิได้หมายความว่าคนในขบวนการสหกรณ์ทั้งหมดไม่มีคนดีที่มีลักษณะ “มองกว้าง มองไกล ใจใหญ่ จิตงาม” ตามชื่อบทความ

Advertisement

มีครับ แต่ยังไม่มากพอ และในความเป็นจริง งานสหกรณ์ถูกบดและเบียดบังด้วยแนวคิดและแนวปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของระบบสหกรณ์ที่เน้นเรื่องของการช่วยเหลือ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ประเด็นสำคัญคือ คนที่ทำให้เกิดปัญหากับสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์คือคนส่วนน้อยที่มีอิทธิพลสูง และเป็นคนที่ “มองแคบ มองใกล้ ใจเล็ก จิตทราม” เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์สุขส่วนรวมของส่วนใหญ่

สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงานสหกรณ์ ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่มาเข้าร่วมประชุมใหญ่ สนใจแต่เรื่องเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น

สรุปสั้นๆ ก็คือ คนในขบวนการสหกรณ์ส่วนมากยังขาดความสนใจ ขาดความรู้ความเข้าใจ หรือขาด “จิตวิญญาณสหกรณ์” นั่นเอง โดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ และผู้กำกับดูแลสหกรณ์ ส่งผลให้เกิด พ.ร.บ.สหกรณ์ที่ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ เพราะไปมุ่งเน้นกลไกทางกฎหมาย มาตรฐานทางการเงิน และการบริหารจัดการตามแนวทางของสถาบันการเงินทั่วไปเป็นหลัก

ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่ากฎกระทรวงทั้ง 13 ฉบับที่จะออกมาภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่ จะตั้งอยู่บนฐานของการมีจิตวิญญาณสหกรณ์ ตามหลักการ อุดมการณ์สหกรณ์อย่างแท้จริง ขอเพียงอย่ามองสหกรณ์ อย่ากำกับ ควบคุม และดูแลสหกรณ์เหมือนธนาคาร และสถาบันการเงินปกติทั่วๆ ไป

บอกตรงๆ ไม่อยากเห็นคนทำงานสหกรณ์ในทุกระดับเป็นเช่นพนักงานตรวจตั๋วรถไฟ และหัวหน้าของเธอตามเรื่องแปลจากจีนที่เพื่อนผมส่งมาให้อ่านในไลน์กลุ่มต่อไปนี้ (ขออนุญาตและขอขอบคุณผู้เขียนและผู้แปลต้นฉบับครับ)

บนตู้โดยสารของรถไฟขบวนหนึ่ง พนักงานตรวจตั๋วสาวสวย กำลังคุยกับผู้โดยสารชายสูงอายุคนหนึ่ง “ตรวจตั๋วค่า” ชายชราล้วงกระเป๋าควานหาตั๋วอยู่ครู่ใหญ่ พบแล้วจึงส่งให้พนักงานสาว เธอรับตั๋วดู แล้วหรี่ตามองหน้าผู้เฒ่า “นี่มันตั๋วเด็กนะลุง” ผู้เฒ่ามีสีหน้าแดงขึ้นมาวูบหนึ่ง แล้วพูดออกไปด้วยเสียงแผ่วเบา “ผมเห็นว่าตั๋วเด็กกับตั๋วคนพิการ ราคาเดียวกัน เลยซื้อเป็นตั๋วเด็กครับ” พนักงานสาว มองผู้เฒ่าหัวจรดเท้า แล้วถามว่า “ลุงเป็นคนพิการหรือ?” ผู้เฒ่าตอบว่า “ครับ” พนักงานสาวพูดว่า “ลุงช่วยเอาบัตรคนพิการให้หนูดูหน่อยซิคะ” ผู้เฒ่าเริ่มกระวนกระวายขึ้นมาแล้ว “ผม… ผม…ผมไม่มีครับ ผมเลยขอซื้อเป็นตั๋วเด็กครับ” พนักงานสาว “ถ้าลุงไม่มีบัตรคนพิการ แล้วหนูจะรู้ได้ไงว่าลุงเป็นคนพิการล่ะ?” ผู้เฒ่าก้มลงดึงขากางเกงขึ้นมา ถอดรองเท้าออก มันเป็นฝ่าเท้าที่มีแค่ครึ่งเดียว เธอหรี่ตาดูฝ่าเท้าที่เหลือเพียงครึ่งเดียว แล้วพูดว่า “ถึงยังไงลุงก็ต้องแสดงบัตรคนพิการให้หนูดูก่อน” ผู้เฒ่าขมวดคิ้วด้วยสีหน้าที่ยุ่งยากใจ “ผมทำงานในโรงงานเอกชน พอเกิดเรื่องขึ้น เถ้าแก่ก็หนีหายไป ผมไม่มีเงินเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็เลยไม่มีสิทธิทำบัตรคนพิการครับ”

ขณะนั้นเป็นเวลาที่หัวหน้าขบวนรถไฟ เดินผ่านมาพอดี พอถามต้นสายปลายเหตุแล้ว ได้พูดเสียงเข้มว่า “ผมต้องการดูแค่บัตรคนพิการ ไม่ดูที่คน ต้องมีบัตรคนพิการถึงเรียกว่าคนพิการ และใช้สิทธิคนพิการได้ ตอนนี้คุณต้องซื้อตั๋วเพิ่มให้เป็นตั๋วผู้ใหญ่” ผู้เฒ่าถึงกับร้องไห้ออกมาแล้วพูดอ้อนวอนว่า “หลังจากฝ่าเท้าผมถูกเครื่องจักรตัดขาดไปแล้ว ผมก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้อีก พอไม่มีเงิน แม้ค่ารถกลับบ้านก็จนปัญญา ตั๋วเด็กใบนี้ ก็ล้วนเป็นเงินที่เพื่อนๆ ที่ทำงานช่วยกันเรี่ยไรให้มา ขอวิงวอนท่านทั้งสองกรุณาให้ผมใช้ตั๋วนี้โดยสารกลับบ้านเถอะนะครับ?” ผู้จัดการรถไฟยืนยันเสียงแข็งว่า “คุณต้องจ่ายเพิ่ม เพราะนี่เป็นระเบียบของการรถไฟ ยังไงผมก็ต้องทำตามระเบียบ ถ้าไม่จ่ายค่าตั๋วเพิ่ม สถานีหน้าเชิญคุณเตรียมลงจากรถได้”

ขณะนั้นตั่วเจ็ก ชายวัยกลางคนที่นั่งอยู่ตรงข้ามผู้เฒ่า ได้เอ่ยปากขึ้นมาด้วยเสียงเย็นชาว่า “คุณเป็นผู้ชายหรือเปล่า?” ผู้จัดการรถไฟขมวดคิ้วย่นเข้าหากันอย่างไม่สบอารมณ์ ตอบเสียงห้วนๆ ไปว่า “ถูกต้อง ผมเป็นผู้ชายครับคุณมีปัญหาอะไรหรือ?” ชายวัยกลางคนพูดว่า “ยังงั้นก็ช่วยเอาหนังสือรับรองยืนยันว่าคุณเป็นผู้ชายออกมาให้ทุกคนดูหน่อยซิ?” คำพูดของตั่วเจ็กทำให้ผู้โดยสารทุกคนถึงกับหัวเราะก๊ากออกมาอย่างขบขัน ผู้จัดการขบวนรถไฟโกรธจนหน้าเขียว “ผมเป็นผู้ชายทั้งแท่ง ยืนอยู่ตรงนี้แล้ว ทำไมต้องใช้ใบรับรองด้วย?” ตั่วเจ็กส่ายหัวแล้วพูดว่า “ผมก็เหมือนคุณนั่นแหละ อยากดูใบรับรอง ไม่อยากดูคน มีใบรับรองถึงเป็นผู้ชาย หากไม่มีก็ไม่ใช่ผู้ชาย” พนักงานตรวจตั๋วสาวรีบเถียงแทนผู้จัดการรถไฟ เธอพูดอย่างมั่นใจว่า “หนูไม่ใช่ผู้ชาย มีปัญหามาเคลียร์กับหนูได้เลย” ตั่วเจ็กชี้ที่หน้าเธอแล้วพูดเสียงเย็นชาว่า “เธอไม่ใช่คน” พนักงานสาวโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง “แกพูดอะไรให้เกียรติกันบ้าง ถ้าหนูไม่ใช่คน แล้วหนูเป็นอะไร?” ตั่วเจ็กหัวเราะอย่างเย็นชาแล้วพูดว่า “เธอเป็นคนหรือ? ไหน ขอดูใบรับรองความเป็นคนของเธอหน่อย?” ผู้โดยสารต่างหัวเราะเสียงดังออกมาอีกครั้ง พนักงานสาวอับอายจนหน้าแดงก่ำ รีบฉุดมือผู้จัดการเดินหายออกไปจากตู้นี้ทันที ตั่วเจ็กนั่งลงแล้วเริ่มพูดคุยกับผู้เฒ่าด้วยความเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของผู้เฒ่า ก่อนลงรถตั่วเจ็กยังให้เงินผู้เฒ่าไปอีก 1,000 หยวน ผู้เฒ่าปฏิเสธ แต่สุดท้ายก็รับไว้ และกล่าวขอบคุณตั่วเจ็กพร้อมๆ กับคำอวยพรตั่วเจ็ก และน้ำตาที่ไหลออกมานองหน้า…

ที่น่าสนใจก็คือหมายเหตุของผู้เขียนที่เขียนไว้ว่า “มนุษย์” ต่างกับสัตว์ทุกชนิดตรงที่มนุษย์มีความเมตตากรุณาอยู่ในจิตใจ เมื่อมนุษย์เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตกระกำลำบาก มนุษย์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ ก็มักจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ อาจจะช่วยได้เพียงคำพูดที่ปลอบประโลม หรืออาจจะด้วยปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะช่วยได้…มันเป็นความงดงามของสังคม และเป็นพื้นฐานของประเทศ ที่ใช้เป็นนโยบายพัฒนาชาติให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นต่อไป

อ่านเรื่องนี้แล้ว ท่านได้แง่คิดอะไรบ้าง?

เรามองโลกและตัดสินผู้อื่น ด้วยเกณฑ์และความจริงที่แตกต่างกันใช่หรือไม่? ฝ่ายหนึ่งยึดเกณฑ์ความจริงจากหลักฐานเอกสาร ถ้าไม่มีบัตรคนพิการ แม้เห็นเป็นที่ปรากฏต่อตาว่าเป็นคนพิการ ก็ไม่ถือว่าเป็นคนพิการ ไม่สนใจความจริงและบริบทอื่นใดทั้งสิ้น

สมาชิกสหกรณ์บางคน สหกรณ์บางแห่ง ชุมนุมสหกรณ์บางที่ อาจจะมีปัญหาในลักษณะเดียวกับผู้เฒ่าผู้พิการในเรื่องนี้ ถ้าในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ท่านจะทำเช่นเดียวกับพนักงานตรวจตั๋วและหัวหน้าของเธอ หรือทำแบบตั่วเจ็ก?

แต่ถ้าพบว่าผู้ทำผิดกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์ และ/หรือ พ.ร.บ.สหกรณ์ กระทำไปโดยมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ หรือจงใจกระทำ ท่านจะทำแบบไหน?

โดยหลักการ คนในขบวนการสหกรณ์ โดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ทุกระดับ ควรต้องเป็นคนที่มีจิตวิญญาณสหกรณ์ หรืออย่างน้อยก็รู้และเข้าใจหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ จึงจะนำพาสหกรณ์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดีงาม มีความยั่งยืน ใช่หรือไม่? ถ้าใช่ การพัฒนาคนในขบวนการสหกรณ์ให้เป็นผู้ที่ “มองกว้าง มองไกล ใจใหญ่ จิตงาม” เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักการ และอุดมการณ์ของสหกรณ์ ก็มีความสำคัญและจำเป็น

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image