คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน อาหารไทยกับปลายจวัก โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ร้านอาหารกำลังยึด “พื้นที่” ในห้างสรรพสินค้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้านค้าที่เป็นพื้นที่ขายของทั่วไปก็ลดน้อยลง เพราะผู้คนนิยมทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และซื้อของน้อยลง

ว่ากันว่า ในบรรดาอาหารทั้งหมด ความอร่อยของอาหารไทยกำลัง “ถูกปาก” ผู้คนเพิ่มมากขึ้นทุกที อาหารไทยจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ ผัดกะเพรา ที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศมามากมาย ได้สร้างชื่อเสียงและสร้างความประทับใจให้นานาชาติมาอย่างยาวนานแล้ว

เรื่องของอาหารไทยนี้เรามี “โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก” นานมาแล้ว เพื่อผลักดันให้ “อาหารไทย” ก้าวไกลสู่ระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนครบวงจรทั้งห่วงโซ่อาหาร คือ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งวัตถุดิบ ผลิตผลทางเกษตร เครื่องปรุง บุคลากร ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร การบรรจุหีบห่อ จนถึง การส่งถึงบ้าน ตามที่สั่งทางไลน์

โครงการครัวไทยสู่ครัวโลกที่ทำกันนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้อาหารไทยไปเป็นอาหารของโลก แต่ตั้งใจทำให้ประเทศไทยเป็น “ครัว” ของอาหารทุกชาติทั่วโลกด้วย เพราะบ้านเราอุดมสมบูรณ์ด้วยวัตถุดิบนานาชนิด และส่วนผสมสำหรับการปรุงอาหารต่างๆ รวมตลอดถึงเนื้อสัตว์ อาหารทะเล สมุนไพร ผัก ผลไม้

Advertisement

ทุกวันนี้ ชาวต่างชาติที่เป็นเชฟระดับ “มิชลินสตาร์” ได้ใช้ตะไคร้ พริกขี้หนู พริกไทยอ่อน น้ำปลา กะทิ มะกรูด และเครื่องปรุงต่างๆ ของเราเป็นส่วนประกอบในตำรับอาหารเลื่องชื่อต่างๆ ของเขา อาจบอกได้เลยว่าตอนนี้ “ส่วนผสม” ของอาหารไทยไม่ได้ทำแค่อาหารไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเข้าไปเป็นส่วนผสมของเมนูอาหารนานาชาติอื่นๆ ด้วย

จำได้ว่า “คุณชุมพล แจ้งไพร” เชฟอาหารไทยชื่อดังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “คนที่ทำอาหารไทยได้อร่อยและดีที่สุด ก็คือ คนไทย”

ดังนั้น แม้ว่าร้านอาหารไทยในต่างแดน ส่วนใหญ่จะมีเจ้าของและแม่ครัวที่ไม่ใช่คนไทย ก็จะทำอาหารไทยอร่อยสู้คนไทยไม่ได้ เมื่อเรานำอาหารเข้าปาก เราจะรู้เลยว่าไม่ใช่ฝีมือคนไทย (รสชาติอร่อยสู้คนไทยทำไม่ได้)

อาหารไทยในวันนี้ จึงไม่ได้มีแต่รสเผ็ดหรือจัดจ้านแซ่บหลายแต่เพียงอย่างเดียว หรือหวานเจี๊ยบอย่างเดียวเท่านั้น คนที่ชอบทำอาหารไทย (และทำได้อร่อยด้วย) จึงจะรู้ว่าคุณลักษณะที่แท้จริงของอาหารไทยเป็นอย่างไร เครื่องปรุงหรือส่วนผสมแต่ละอย่างจะใส่เข้าไปทำไม (ให้รสชาติอะไรบ้าง)

อาหารไทยยังเล่าถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นได้ด้วย เพราะเรามีทั้ง ขันโตกภาคเหนือ ตำแซ่บอีสาน ผัดหมี่โคราช ผัดสะตอภาคใต้ และของดีอีกมากมายในแต่ละภาค ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์ที่อร่อยและประทับใจแตกต่างกัน

ถึงวันนี้ เราก็มี “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” ตั้งอยู่ที่ “สถาบันอาหาร” (สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม) เชิงสะพานพระราม 8 บางยี่ขัน กทม. ใครได้ไปเยี่ยมชม ก็จะรัก “อาหารไทย” และ “ความเป็นไทย” มากขึ้นอีก

วันนี้ ถึงเข้าใจคำว่า “เสน่ห์ปลายจวัก” อย่างลึกซึ้ง ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image