หลักกฎหมาย ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องเข้าใจ : โดย คณิต ณ นคร

1.ข้อความนำ
บทความเรื่องนี้ผู้เขียนได้เขียนขึ้นต่อเนื่องจากการเขียน “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : อัยการ” และ “หลักวิชาชีพอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย” กรณีจึงอาจเรียกบทความเรื่องนี้ว่า “หลักวิชาชีพนักการเมือง”

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “หลักวิชาชีพ” แล้ว ในแวดวงของการศึกษากฎหมาย นักกฎหมายทั้งหลายก็จะนึกถึงลักษณะวิชาหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนกฎหมาย ลักษณะวิชานี้ คือ ลักษณะวิชาที่เรียกว่า “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” ซึ่งเป็นลักษณะวิชาที่เกี่ยวข้องกับ “ศีลธรรมหรือจริยธรรมของนักกฎหมาย”

และเมื่อพูดถึง “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ศีลธรรมหรือจริยธรรมของนักกฎหมาย” แล้ว ในการศึกษาลักษณะวิชาดังกล่าวนี้ก็จะมุ่งศึกษาถึง “หลักวิชาชีพตุลาการ”, “หลักวิชาชีพอัยการ” และ “หลักวิชาชีพทนายความ” เพราะผู้พิพากษาและตุลาการก็ดี พนักงานอัยการก็ดี และทนายความก็ดี เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” โดยตรง

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเกียรติจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแห่งแรก ให้จัดการเรียนการสอนลักษณะวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” ในส่วนของ “หลักวิชาชีพอัยการ” มานานหลายปีแล้ว

Advertisement

ลักษณะวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” นั้น เป็นลักษณะวิชาที่เกิดจากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปัจจุบันลักษณะวิชานี้ก็ได้มีการจัดการเรียนการสอนกันแทบจะทุกคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน

ในการเรียนการสอนลักษณะวิชานี้ของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนกล่าวกับนักศึกษาเสมอว่า

“กฎหมายไม่ใช่ตัวอักษรแต่กฎหมายมีศีลธรรมหรือจริยธรรมที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษร”

Advertisement

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “กฎหมายมีศีลธรรมหรือจริยธรรมในตัวเอง”

เมื่อ “กฎหมายมีศีลธรรมหรือจริยธรรมในตัวเอง” ดังนั้น สำหรับนักกฎหมายแล้วต้องถือว่ากฎหมายเป็น “หลักวิชาชีพกฎหมาย” ของนักกฎหมายทีเดียว

เหตุนี้ เมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เขียนจึงได้กล่าวกับนักศึกษา ดังต่อไปนี้

“กฎหมายนั้นเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ คำว่า ‘วิชาชีพ’ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Profession และคำว่า Profession นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงอธิบายว่า

‘ตามศัพท์หมายความว่า ปฏิญาณ เพราะฉะนั้น สภาพอันแท้จริงแห่งวิชาชีพก็คือ อาชีวปฏิญาณ คือ การปฏิญาณตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมซึ่งวางไว้เป็นบรรทัดฐาน’ และทรงกล่าวอีกว่า ‘ผู้ที่เลือกวิชาชีพได้แม้แต่ยังเยาว์อยู่ในวัยศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็จะต้องทำใจของตน อบรมใจของตน ตั้งอธิษฐานเป็นการปฏิญาณตน มอบตนไว้ให้แก่วิชาชีพที่จะประกอบ คือ หมายความว่าจะต้องถือวิชาชีพของตนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง ซึ่งตนมอบชีวิตส่วนหนึ่งไว้ให้ และชีวิตส่วนนั้นก็ควรจะนับถือว่าเป็นส่วนสำคัญ อาชีวปฏิญาณเป็นปัจจัยจรรโลงจิตใจของบุคคลตั้งแต่ก่อนเข้าประกอบวิชาชีพและตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพนั้น’

การศึกษากฎหมายให้สำเร็จการศึกษาคงไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก แต่เนื่องจากกฎหมายเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดีได้นั้น จักต้องมีคุณธรรมและจิตวิญญาณในการรับใช้สังคมส่วนรวมประกอบด้วย ‘คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์’ จึงมีภารกิจที่จักต้องพัฒนาท่านทั้งหลายให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความรู้ และจิตวิญญาณที่จะรับใช้สังคมส่วนรวมให้จงได้ เพื่อท่านทั้งหลายจักได้ประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม”

และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายและเป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในบ้านเมือง” ก็จะต้องทำความเข้าใจตามสมควรเกี่ยวกับกฎหมายโดยนัยทางศีลธรรมหรือจริยธรรม กล่าวคือ ต้องเข้าใจเรื่อง “Conflict of Interest” ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อจักได้ปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีศีลธรรมและจริยธรรมเช่นเดียวกับนักกฎหมาย

2.การสวมหมวกหลายใบของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
เมื่อปลายปี พ.ศ.2550 ผู้เขียนจึงได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “Conflict of Interest” ขึ้น ซึ่งคำว่า Conflict of Interest ในภาษาอังกฤษดังกล่าวนี้ ในสังคมเราส่วนใหญ่เราแปลกันว่า “ประโยชน์ทับซ้อน”

ในการเขียนเกี่ยวกับเรื่อง “Conflict of Interest” ครั้งที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนใช้ชื่อบทความเรื่องนี้เป็นภาษาไทยว่า “การสวมหมวกหลายใบ” ซึ่งเป็นบทความที่ผู้เขียนเห็นว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ของเราชอบที่จะให้ความสนใจและเข้าใจเนื้อหาให้ถูกต้อง

ในบทความดังกล่าวผู้เขียนได้กล่าวว่า คำว่า “Conflict of Interest” หรือ “ประโยชน์ทับซ้อน” นั้น “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ของเรา หรือแม้แต่นักกฎหมายบางคนก็ตาม จะมีความเข้าใจกันไปในทาง “ประโยชน์ทับซ้อนในทางทรัพย์สิน” เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ “ประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับตัวบุคคล” ซึ่งในทางหลักวิชาการทางกฎหมายแล้ว “ประโยชน์ทับซ้อน” ย่อมหมายรวมไปถึง “ประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับตัวบุคคล” ด้วย

ในบทความของเรื่อง “การสวมหมวกหลายใบ” ดังกล่าวมานั้น ผู้เขียนได้หยิบยกตัวอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการย่อมมีภารกิจที่จะต้องควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านนี้ เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐและในมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งอยู่ต่อไปด้วย โดยไม่ยอมลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ตนดำรงอยู่ กรณีจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหลายนั้นในขณะเดียวกันกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องห้ามตาม “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle)

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านดังกล่าวนี้ ท่านคงเห็นว่ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ใช่ธุรกิจ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ท่านยังเห็นต่อไปอีกว่า มหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ใช่ธุรกิจจึงไม่มี “ประโยชน์ทับซ้อน”

กรณีจึงทำให้ผู้เขียนได้พบความจริงข้อหนึ่งว่า คนในสังคมไทยเรานั้น มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะเป็นรัฐมนตรีกัน เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติตามความรู้สึกของตน โดยไม่เข้าใจหรือมิฉะนั้นก็พยายามที่จะไม่เข้าใจหลักกฎหมายที่เรียกว่า “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle)

ก่อนหน้านั้นก็มีนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่ง เมื่อได้ดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านก็ยังคงดำรงตำแหน่ง “กรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ต่อไป ซึ่งการเป็น “กรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ของท่านเกิดจากการที่ท่านได้รับการเลือกตั้งมาจากสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 มาตรา 6 บัญญัติความว่า

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของเนติบัณฑิตยสภา”

ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็น “สภานายกพิเศษ” และมีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของเนติบัณฑิตยสภาแล้ว กรณีก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ “กรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ตนมีหน้าที่ต้องกับดูแลกิจการของเนติบัณฑิตยสภา จะยังคงเป็น “กรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ที่ท่านได้รับเลือกจากสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาเข้ามาในขณะเดียวกัน

และเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล “เนติบัณฑิตยสภา” แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมท่านนี้ก็ไม่ลาออกจากการเป็น “กรรมการเนติบัณฑิตยสภา” ที่ตนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา กรณีจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) โดยแท้

ในบทความดังกล่าวผู้เขียนได้กล่าวว่า “ประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “Conflict of Interest” นั้น เป็นคุณธรรมหรือจริยธรรมของบุคคลในบริบทของ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) นั่นเอง

3.บทความเรื่อง “หลักการขัดกันของหน้าที่”
เกี่ยวกับ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) นั้น ผู้เขียนได้เขียนเป็นบทความก่อนหน้านั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ได้เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2524

ในการเขียนบทความซึ่งมีเนื้อหาเป็นไปตาม “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) เมื่อปี พ.ศ.2524 ของผู้เขียนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น ที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในขณะนั้นกรมอัยการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอัยการ

และต่อมาผู้เขียนก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) ขึ้นอีกในปี พ.ศ.2541 เป็นการเขียนโดยใช้ชื่อบทความว่า “ผู้บัญชาการทหารบกกับหลัก Incompatibility”

ในการเขียนบทความเมื่อปี พ.ศ.2541 นี้ ผู้เขียนได้เขียนยกย่อง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ท่านได้แสดงแบบอย่างที่ดีที่เกี่ยวกับ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) กล่าวคือ เมื่อท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ท่านก็ได้ลาออกจากการเป็น “สมาชิกวุฒิสภา”

บัดนี้ ปรากฏว่าได้มีผู้ส่งข่าวทาง Line ไปยังผู้เขียน และใน Line ที่ผู้เขียนได้รับนี้ ปรากฏว่า คุณสุทธิชัย หยุ่น ได้วิพากษ์วิจารณ์ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องหรือผิดจริยธรรมหรือศีลธรรมของนักกฎหมาย กรณีจึงทำให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับไปอ่านบทความทั้งหมดของผู้เขียนดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

4.เบื้องลึกของการเขียนเรื่องการสวมหมวกหลายใบในครั้งแรก
ในการเขียนบทความเรื่อง “การสวมหมวกหลายใบ” ในครั้งแรกนั้น ผู้เขียนใช้ชื่อบทความว่า “หลักธรรมของนักกฎหมาย” และได้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นการเขียนในขณะที่ผู้เขียนยังเป็นพนักงานอัยการชั้นผู้น้อยมากๆ เลยทีเดียว เพราะผู้เขียนเพิ่งกลับจากการศึกษากฎหมายต่อในต่างประเทศใหม่ๆ กล่าวคือ ผู้เขียนเพิ่งกลับมาเมื่อปี พ.ศ.2520

ข้อเขียนเรื่อง “การสวมหมวกหลายใบ” หรือ “หลักธรรมของนักกฎหมาย” เมื่อปี พ.ศ.2524 นั้น เนื้อหาก็เป็นไปตาม “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) นั่นเอง ในการเขียนบทความครั้งนั้นผู้เขียนใช้ชื่อว่า “หลักธรรมของนักกฎหมาย” ที่ต้องใช้ชื่อดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับชื่อของหนังสือที่กรมอัยการพิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทานกรมอัยการในปีนั้น ที่ได้ตั้งชื่อของหนังสือที่กรมอัยการพิมพ์แจกในงานนี้ว่า “ธรรมและกฎหมาย”

ในการเขียนบทความเรื่อง “หลักธรรมของนักกฎหมาย” ดังกล่าวมาของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวว่าเป็นการเขียนเพื่อที่ประสงค์จะให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานอัยการทั้งหลายในขณะนั้น ได้ทราบว่าผู้เขียนกำลังวิพากษ์วิจารณ์ใครโดยบทความเรื่องนี้

ในบทความเรื่อง “หลักธรรมของนักกฎหมาย” ดังกล่าวมานั้น ผู้เขียนได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์อธิบดีกรมอัยการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผู้เขียน ที่ท่านดำรงตำแหน่งทั้งอธิบดีกรมอัยการและในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นกรมอัยการเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ใน Line ที่ผู้เขียนได้รับนั้น ปรากฏว่าคุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งเป็นนักข่าวได้วิพากษ์วิจารณ์นักกฎหมายกันอย่างตรงไปตรงมาเลยทีเดียว คำวิพากษ์วิจารณ์ของ คุณสุทธิชัย หยุ่น ดังกล่าวใน Line นั้น ผู้เห็นพ้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่า

คณะกรรมการสรรหานั้นต้องเป็นการสรรหาผู้อื่นไม่ใช่สรรหาตัวเอง

เพราะหากคณะกรรมการสรรหาได้สรรหาตัวเองแล้ว กรณีก็ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดกับ “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) โดยแท้นั่นเอง

อนึ่ง ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวต่อไปอีกว่า ในฐานะนักวิชาการผู้เขียนต้องเขียนบทความหลายเรื่องหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับความคิดของคนในสังคมเราเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งนักกฎหมายผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในอาชีพตุลาการมาแล้ว

5.หลักวิชาชีพอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย
ต่อไปนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนต้องเขียนหรือต้องกล่าวหลายครั้งเช่นเดียวกัน คือ “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย”

ลักษณะวิชานี้เกี่ยวข้องกับ หลักวิชาชีพของผู้พิพากษาตุลาการ หลักวิชาชีพของพนักงานอัยการ และหลักวิชาชีพของทนายความ

สำหรับผู้เขียนเองได้เริ่มเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนลักษณะวิชานี้ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแห่งแรก โดยได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวกับ “หลักวิชาชีพของพนักงานอัยการ”

เกี่ยวกับเรื่อง “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” นั้น ผู้เขียนเห็นว่า “อาจารย์ผู้สอนกฎหมาย” ก็ชอบที่จะมี “หลักวิชาชีพ” ด้วย ดังนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ผู้เขียนจึงขยายเรื่อง “หลักวิชาชีพ” ออกไปสู่ “อาจารย์ผู้สอนกฎหมาย” ด้วย

ก่อนการขยายดังกล่าวผู้เขียนเคยเขียนบทความเรื่อง “ครูกฎหมาย” ขึ้น ซึ่งการเขียนเรื่อง “ครูกฎหมาย” นั้น สืบเนื่องมาจากว่า เมื่อภาคสองของปีการศึกษา 2525 ที่ผู้เขียนได้รับเกียรติจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้ทำการเรียนการสอนวิชา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเปรียบเทียบ” ในชั้นปริญญาโท โดยในการเรียนการสอนผู้เขียนได้กำหนดให้นิสิตทำรายงานในหัวข้อ “การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในคดีอาญา” เพราะผู้เขียนเห็นว่าการพิจารณาคดีของศาลในขณะนั้นออกจะหาขอบเขตค่อนข้างยาก

ในจำนวนรายงานของนิสิตจำนวนประมาณ 80 คน ที่ได้ส่งรายงานให้ผู้เขียนตรวจพิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 นั้น มีรายงานอยู่ฉบับหนึ่งที่นิสิตผู้เขียนรายงานได้เขียนคำนำในรายงานว่า

“……….ขณะที่ผู้เขียนกำลังทำรายงานฉบับนี้ได้มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในบ้านเมือง ครูบาอาจารย์หลายท่านทำให้ผู้เขียนท้อถอยในการศึกษา เพราะรู้สึกว่า การศึกษากฎหมายที่สูงขึ้นไม่อาจทำให้ความถูกต้องในจิตใจสูง ตามไปด้วย………”

ผู้เขียนใคร่ขอสรุปต่อไปอีกว่า

“กฎหมายและหลักกฎหมายของเรานั้น ดีไม่แพ้กฎหมายของประเทศใดในโลก แต่นักกฎหมายของเราเท่านั้นดูจะยังแย่อยู่ แม้จะไม่ทุกคนก็ตาม”

แม้ผู้เขียนจะได้เขียนบทความเรื่อง “ครูกฎหมาย” มาแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ผู้เขียนก็ได้เขียนบทความขึ้นอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ “ครูกฎหมาย” โดยใช้ชื่อว่า

“หลักวิชาชีพอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย”

เพราะ “ครูกฎหมาย” ก็คือ “อาจารย์ผู้สอนกฎหมาย”

6.หลักวิชาชีพนักกฎหมายกับ “นักบัญญัตินิยม”
เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้มีกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันราชภัฏที่ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้ว แต่ก็มีความผิดพลาดในการดำนินการ จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้

และเกี่ยวเนื่องกับกรณีนี้ ก็ได้มีนักกฎหมายท่านหนึ่งได้เขียนบทความตำหนินักกฎหมาย ในบ้านเมืองของเราว่าส่วนใหญ่เป็น “นักบัญญัตินิยม” จนทำให้กระบวนการในทางนิติบัญญัติเป็นปัญหา

และนักกฎหมายท่านนี้ได้เขียนบทความและเสนอให้มี “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับปรุงร่างกฎหมายให้ถูกต้องสมบูรณ์ พ.ศ. ….” ทั้งชักชวนนักนิติศาสตร์ทุกคนมาช่วยค้นคว้าความรู้และให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วย

จากคำชักชวนดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเยอรมันสมัย “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์”

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 1933 รัฐสภาแห่งอาณาจักรไรช์ได้ออก “กฎหมายเพื่อการขจัดปัดเป่าความจำเป็นของประชาชนและอาณาจักรไรช์” (Gesetz zur Behebung der Not von Volk und Reich) กฎหมายนี้เรียกกันทั่วไปว่า Ermchtigungsgesetz หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Enabling Act ซึ่งอาจแปลได้ว่า “กฎหมายมอบอำนาจเต็ม”

และผู้เขียนได้ก็ได้เขียนบทความเรื่อง “กฎหมายราชภัฏกับนักบัญญัตินิยม” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2547

ในบทความเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้สรุปว่า

“นักบัญญัตินิยม” ของไทยเรายังไม่ร้ายเท่า “นักกฎหมายนาซี”

ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาของไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะนิติศาสตร์ต่างๆ จึงต้องเป็น “ลูกหนี้ชั้นต้น” สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมเราที่ผ่านมาและในขณะนี้ เพราะนักกฎหมายเราบางคนและเป็นจำนวนไม่น้อยเป็น “นักบัญญัตินิยม” อย่างมากดังที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ต้องบ่นดังๆ ใน Line นั่นแหละ

บทสรุป
การที่ผู้เขียนต้องกล่าวถึงเรื่อง “การสวมหมวกหลายใบ” หรือต้องกล่าวถึงเรื่อง “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) อีกครั้งในบทความนี้ ก็เพราะว่าในการสรรหา “สมาชิกวุฒิสภา” ในครั้งนี้ ก็มีเรื่องของ “การสวมหมวกหลายใบ” หรือเรื่อง “หลักการขัดกันของหน้าที่” (Incompatible Principle) เกิดขึ้นอีกเช่นเคย เพราะนอกจากจะไม่มีการประกาศให้สาธารณทราบว่าใครเป็น “กรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” จนเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก่อนที่จะทราบกันในเวลาต่อมาว่าใครเป็น “กรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” กันบ้าง และผลก็ปรากฏต่อมาอีกว่า “กรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” บางคนก็ได้รับการสรรหาให้เป็น “สมาชิกวุฒิสภา” ด้วย

กรณีจึงทำให้ คุณสุทธิชัย หยุ่น ถึงกับ “เป็นงง” กับนักกฎหมายของไทยเราที่ได้กระทำไปเช่นนั้น คือ แทนที่จะสรรหาผู้อื่นแต่ได้สรรหาตนเองด้วย

คณิต ณ นคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image