คือคำสัญญาที่มนุษย์ควรยึดเป็นคำสัตย์ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยซึ่งกำหนดไว้ในหมวด 4 มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (5)

รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็น “พลทหาร” ก่อนนอนและตื่นนอนต้องท่องคำปฏิญาณว่า

“ทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด จะละเลยเสียมิได้เป็นอันขาด” (ถ้าจำผิดตกหล่นขออภัย ด้วยเวลาผ่านมา 50 ปีแล้ว)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 13 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

Advertisement

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

หมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง มาตรา 115 ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

Advertisement

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

หมวด 10 ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 191 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”

องค์กรสุดท้ายแม้ไม่มีกำหนดในรัฐธรรมนูญ คือ “ลูกเสือ” ต้องมีคำปฏิญาณและทบทวนคำปฏิญาณทุกครั้งในวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม และวันถวายสัตย์ปฏิญาณวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตล้นเกล้าฯ รัฐกาลที่ 6 ด้วยคำปฏิญาณของลูกเสือว่า

“ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ”

คำปฏิญาณของผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญคือผู้ดำรงตำแหน่งหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

คำปฏิญาณจึงเป็นการ “ให้คำมั่นสัญญา” มีความสำคัญทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” คือข้อตกลงระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย กรณีนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญยิ่ง จึงไม่ควรละเลยหรือปล่อยปละไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image