มติชนวิเคราะห์ : ประเด็น ‘ถวายสัตย์ฯ’ ปัญหา ของ ‘บิ๊กตู่’ ปัญหา ของ ‘รัฐบาล’

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามมาตรา 161 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ปรากฏเป็นกระแสข่าวออกมาแล้วว่า “ถวายสัตย์ฯไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ”

หากแต่ช่วงจังหวะเวลานั้น การเมืองยังคงตื่นเต้นกับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็ตื่นเต้นกับงานใหม่ ทุกๆ ฝ่ายยังคงอยากเห็นประเทศเดินหน้าบนวิถีทางประชาธิปไตย

กระทั่งเมื่อรัฐสภาบรรจุวาระ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ขึ้นหารือกับที่ประชุม

Advertisement

“เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏในคลิปว่า ถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ไม่ครบประโยคตามที่มาตรา 161 กำหนดไว้ จึงอยากถามว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ถือว่ามีผลสมบูรณ์หรือไม่”

ในวันนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่นั่งเป็นประธานที่ประชุมเปิดโอกาสให้นายปิยบุตรหารือ และย้ำว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ

ผู้ที่กล่าวต้องรับผิดชอบคำพูดที่กล่าวออกไป

Advertisement

หลังจากนายปิยบุตรหารือในรัฐสภา และเกิดข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ถวายสัตย์ฯครบถ้วนตามที่มาตรา 161 กำหนดเอาไว้หรือไม่

ข้อความตามมาตรา 161 ระบุว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ต่อมามีการนำเอาคลิปที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯมาตรวจสอบพบว่า พล.อ.ประยุทธ์มิได้เอ่ยถึงถ้วยคำที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

กลายเป็นปมปัญหาทางกฎหมายว่า เมื่อการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเช่นไร

การทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันถือว่ามีศักดิ์และสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่

ย้อนกลับไปดูปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาลเมื่อปรากฏข้อหารือเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ พบว่าในเบื้องต้นไม่มีคำชี้แจงที่ชัดแจ้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบคำถามสั้นๆ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ว่า “สักวันหนึ่งจะทราบเองว่าทำไมไม่ควรพูด”

พอวันที่ 5 สิงหาคม ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จ.นครนายก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้ง

“ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการในการถวายสัตย์ฯต่อหน้าพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ณ ตรงนั้นเสร็จไปแล้วว่าจะต้องทำอะไรในการดูแลประชาชน ข้อความต่างๆ ที่พูดไปแล้วถือว่าครอบคลุมทั้งหมด และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลประชาชนคนไทย

“ที่สำคัญที่สุดเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ พระองค์ทรงรับสั่งมาให้ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ตรงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทำเพื่อประชาชนทั้งเพื่อประเทศ

“คิดว่าเรื่องนี้ควรจบดีกว่า อย่าให้บานปลาย หลายคนในนั้นก็เป็นทหาร ขอร้องว่าเคยเป็นพี่น้องกันมา อย่าให้การเมืองมาทำให้ประเทศชาติปั่นป่วนไปทั้งหมด

“ถ้าจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ให้รอเลือกตั้งคราวหน้าก็แล้วกัน”

อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเปลี่ยนท่าที

วันที่ 6 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ถึงเรื่องดังกล่าวว่า กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน เรื่องดังกล่าวก็คงต้องว่ากันต่อไป

ต่อมา วันที่ 7 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ระหว่างไปตรวจราชการที่ อ.เมือง จ.ยะลา

พล.อ.ประยุทธ์ระบุเพียงสั้นๆ ว่า “เดี๋ยวคงเรียบร้อยนะ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผิด เขาดูกันที่เจตนา” ในวันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ยังบ่นให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า “ทานข้าวไม่ค่อยได้ บางทีทานไม่ค่อยลง มันหลายอย่าง คำนินทาก็มีเยอะ ก็ช่างมัน เอาความดีชนะ หวังว่าพวกเราคงเข้าใจกันบ้าง”

วันที่ 8 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์พูดบนเวทีชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

พูดต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ประมาณ 800 คน ที่เข้าฟัง

ตอนหนึ่งระบุถึงกรณีที่ฝ่ายค้านท้วงติงการนำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญว่า “ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

“เรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียว ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดู เขียนว่าอย่างไร คงยังจะมีรัฐบาลอยู่ ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว เรื่องใดก็ตามที่ยังบกพร่องอยู่ สิ่งใดก็ตามที่มีปัญหา ต้องขอโทษ แล้วก็รับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และคงไม่ตอบคำถามเรื่องนี้อีกแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวคำขอโทษ ถึง 3 ครั้งในครั้งนั้น

ลําดับการให้สัมภาษณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีต่อประเด็นการถวายสัตย์ฯจากเริ่มแรกที่มีข้อหารือในรัฐสภาจวบจนถึงการขอโทษคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแสข่าวลือสะพัดว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะลาออก

กลายเป็นคำถามที่ต้องการหาคนตอบ

กรณีข่าวลาออก ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก

เป็นคำตอบที่ชัดเจน

ขณะที่เรื่อง “การรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ในกรณีถวายสัตย์ฯ ยังไม่มีคำตอบ

กรณีการกระทำผิดกฎ ไม่ตรงข้อบังคับ เป็นปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ก้าวเข้าสู่แนวทางรัฐธรรมนูญปี 2560

การแถลงนโยบายรัฐบาล โดยไม่ยอมอ่านคำแถลง หรือการอ่านข้ามหน้า หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมนั้น เมื่อผิดพลาดก็มีการแก้ไข

เมื่อแก้ไขแล้วทุกอย่างก็ไร้ปัญหา

แต่กรณีถวายสัตย์ฯซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ไขอย่างไร

ดูเหมือนว่า เรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้คือปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เริ่มบานปลาย

จากปัญหาที่มีผลกระทบกับ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น เริ่มขยายไปมีปัญหาของรัฐบาล

และหากยังแก้ไขไม่ได้ ปัญหาอาจขยับขึ้นไปเป็นปัญหาของประเทศ

ทุกอย่างรอ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “ผู้ผูก” มาแก้ไขปัญหา และผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image