เดินหน้าชน : กึ่งศตวรรษ-กฟผ. โดย : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานคนใหม่ กล่าวในงานสัมมนา “Energy Disruption : พลังงานไทย ยุค..ดิสรัปชั่น” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ทุกฝ่ายต้องปรับตัว รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะก้าวสู่การพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทนที่กำลังเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิล

การเข้าสู่ตำแหน่ง รมว.พลังงานของ “สนธิรัตน์” เป็นห้วงเวลาที่ครบรอบ 50 ปีของ “กฟผ.”

ย้อนไปเมื่อ 1 พฤษภาคม 2512 รัฐบาลขณะนั้นรวมรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับจัดหาไฟฟ้า นั่นคือ “การลิกไนท์” (กลน.) “การไฟฟ้ายันฮี”
(กฟย.) และ “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ” (กฟ.อน.) มาผนึกเป็น “กฟผ.”

นับแต่ “กฟผ.” ถือกำเนิดมา ต้องผ่านปัญหาอุปสรรคมานานาประการ แต่ก็ฝ่าฟันมาได้ มิใช่โชคช่วย แต่ด้วยการเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนา ที่ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านไฟฟ้ามาจวบจนวันนี้

Advertisement

อย่างเช่นเหตุการณ์ใหญ่ที่ประเทศไทยไฟดับทั่วประเทศ หรือ “Blackout” เมื่อเวลา 07.45 น.วันที่ 18 มีนาคม 2521 กฟผ.ต้องใช้เวลาแก้ไขนานถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย เพราะจากนั้นมาได้มีมาตรการที่เข้มข้นจนไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

กฟผ.ยังมีภารกิจผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ จากแรกเดิมมีกำลังผลิต 907 เมกะวัตต์ ถึงปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ 14,566 เมกะวัตต์ หรือ 27% ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมองอนาคตให้ทะลุ เพื่อเตรียมพร้อมกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอทั้งต่อความต้องการใช้ของภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ

Advertisement

ขณะเดียวกัน อัตราค่าไฟต้องเหมาะสม ไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกิน และช่วยให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

กฟผ.ยังขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาระบบส่งและการจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้า เช่น รับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ “ลาว-ไทย-มาเลเซีย” หรือการเชื่อมสายส่งระหว่าง “ลาว-ไทย-พม่า” ตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

ช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน

เรื่องพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต กฟผ.ก็พัฒนาปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงที หากพลังงานหมุนเวียนหายไป

ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ และรูปแบบแบตเตอรี่

นอกจากนี้ กฟผ.ยังพัฒนาไปสู่การเป็น “โรงไฟฟ้าดิจิทัล” ที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ โดยควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทัล เริ่มนำร่องแล้วที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าจะนะ

อีกโครงการคือ โซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน (Hydro -Floating Solar Hybrid) นำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45
เมกะวัตต์ บนพื้นที่ผิวน้ำเนื้อที่ 450 ไร่ เป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2563 และเตรียมดำเนินเพิ่มเติมใน 9 เขื่อนหลักของ กฟผ. รวมกำลังผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018)

นั่นเป็นเพียงบางส่วนของภารกิจ กฟผ. ที่ส่งผลให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างปีงบประมาณ 2560 จำนวน 21,660 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 20,784 ล้านบาท และ 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จำนวน 18,924 ล้านบาท

กึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า “กฟผ.” มีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

หาก “รมว.พลังงาน” ช่วยหนุน-ส่งเสริม จะทำให้ กฟผ.เดินหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติและคนไทยอยู่อย่างมั่นใจและมั่นคงต่อไป “ในยุค..ดิสรัปชั่น”

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image