พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เมืองแบ่งปัน (The Sharing City)

เมืองแบ่งปัน (Sharing City) นั้นเป็นทั้งตัวอย่างเมือง เป็นแนวคิด เป็นขบวนการเคลื่อนไหว เป็นหลักบริหารจัดการเมือง และเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างรัฐบาลเมืองและพลเมือง เรื่องนี้เริ่มมีการพูดถึงในบ้านเราเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ฮิตติดปากติดใจเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับเมืองน่าอยู่ เมืองสีเขียว เมืองอัจฉริยะ เมืองเดินได้ หรือเมืองที่พร้อมฟื้นสภาพเมื่อเจอภัยพิบัติ

ในโลกนี้มีหลายเมืองที่ประกาศเรื่องเมืองแบ่งปันเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่เป็นที่รู้จักมากหน่อยก็คือ มหานครโซล ของเกาหลีใต้ มหานครอัมสเตอร์ดัม ที่เหลืออาจจะมีกลุ่มพันธมิตรเมืองแบ่งปันในยุโรปหกเมืองหลัก คือ ลอนดอน ลิสบอน มิลาน บอร์โดซ์ วอร์ซอ และเบอกัส และอีกมากมายหลายเมือง

การทำความเข้าใจเรื่องเมืองแบ่งปันอย่างคร่าวๆ นั้น อาจจะแบ่งออกได้เป็นสามมิติใหญ่ที่เกี่ยวพันกัน

หนึ่ง เรื่องของพัฒนาการของเมืองแบ่งปันในทางประวัติศาสตร์

Advertisement

สอง ตัวอย่างโครงการในเมือง (ซึ่งเรื่องที่สองมักจะเป็นเรื่องที่มักถูกตัดตอนมาพูดในฐานะจินตนาการสำเร็จรูปของการออกแบบเมือง ที่ไม่ได้เข้าใจพัฒนาการของเมืองที่ไปพบเจอ และไม่เข้าใจแนวคิดเบื้องหลังที่มากกว่าเพาเวอร์พอยต์การนำเสนอในงานสัมมนา)

สาม แนวคิดเบื้องหลังอันเป็นที่มาของการสร้างเมืองแบ่งปันก่อนเข้าสู่การออกแบบ หรือการนำเข้าแนวคิดดังกล่าว

อาจกล่าวอย่างรวบรัดที่สุดได้ว่า แนวคิดเรื่องเมืองแบ่งปันนั้น เป็นแนวคิดที่มากไปกว่าการเอาพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ เพราะเรื่องนั้นมีมานานแล้ว แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองแบ่งปันแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด

Advertisement

และเมืองแบ่งปันนั้นไม่ใช่เรื่องของการกล่าวอ้างว่า เมืองแบ่งปันคือผลลัพธ์ของการสร้างเมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่เน้นไปที่การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการบริหารเมืองและจัดการเมือง โดยภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจที่พูดกันอย่างสวยหรูว่าเป็นเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน (sharing economy) หรือยุคที่มีแต่กูรูด้าน disruption เต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อขายแพคเกจสำเร็จรูปการปรับตัวใหม่ๆ

แก่นแกนของเรื่องเมืองแบ่งปันในยุคใหม่นี้อาจจะมีรายละเอียดมากมาย แต่หัวใจสำคัญของเรื่องอยู่ที่การต่อกรกับแนวคิดพิมพ์นิยมในการพัฒนาเมือง (คือลอกกันไปจากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่งโดยไม่คิดอะไรมาก) ในนามของเมืองอัจฉริยะและเศรษฐกิจแบ่งปันในแบบที่ไม่ได้เป็นมิตรกับพลเมือง แต่เป็นมิตรกับรัฐและเอกชนมากกว่า

การสร้างเมืองแห่งการแบ่งปันนั้นมุ่งหมายที่จะออกแบบเมือง บริหารจัดการเมือง สร้างสำนึกพลเมือง และสร้างเครือข่ายการร่วมมือกันของพลเมืองให้เกิดเป็นองคาพยพใหม่ ที่เรียกกันว่า urban common คือการรู้สึกของความเป็นสาธารณะใหม่ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ร่วมมือกัน และแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันในเชิงรูปธรรม ไม่ใช่แค่ประชาชนเป็นเจ้าของเมืองและเรียกร้องให้เกิดแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเฉยๆ

เป้าหมายของการสร้างเมืองแบ่งปันนั้นก็เพราะพลเมืองนั้นต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านใหญ่ในเมืองจากเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า extractive platform หรือ platform economy ซึ่งเรามักจะสับสนและแปลคำเหล่านี้ว่าเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน

ทั้งที่จริงแล้ว platform economy นี้มันคือรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ผู้เล่นจริงมีไม่กี่ราย ที่สามารถสร้างระบบหรือ platform ที่ทำงานในแบบตัวกลางที่ “บีบในนามของการเชิญชวน” ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภท สื่อโซเชียลที่สร้างเครือข่าย ที่คนเอารูปและเนื้อหาใส่ลงไป หรือเข้าไปร่วมเป็นคนซื้อและขายการให้บริการส่งสินค้า ขายอาหาร รับส่งคน หรือธุรกิจประเภทค้นหาข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสร้างโอกาสในการหารายได้เพิ่ม เช่น ขับรถส่งสินค้า หรือขายสินค้าต่างๆ

แม้ว่าในทางหนึ่งเราจะรู้สึกสะดวกสบายกับการได้มาซึ่งข้อมูลและแบ่งปันสิ่งที่เรารู้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้กำหนดกติกาและเปลี่ยนกติกาเอง เก็บค่าบริการจากผู้ขายหรือผู้ที่เข้าร่วมบางส่วน แถมยังเอาข้อมูลของเราไปขายต่อโดยที่เราอาจไม่ได้รู้ตัว

platform economy นี้จึงเป็นรูปแบบของธุรกิจและเศรษฐกิจที่มีลักษณะของการรีดเร้น (extract) เอาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของเราไปได้ง่าย และไม่ได้มีความโปร่งใสว่าเอาข้อมูลของเราไปทำอะไรบ้าง และในอีกด้านหนึ่ง ก็รีดเร้นกำลังแรงงาน (exploitative) ของเราออกไปจากเวลาพักผ่อนภายใต้ตรรกะของการจำต้องแลกเปลี่ยนบางสิ่งที่มีค่าของเราภายใต้ข้อจำกัดในการดำรงชีวิต เพราะเราก็ได้ค่าจ้างน้อยเกินไปเป็นต้น

เมืองแบ่งปันจึงเป็นแนวคิดที่ต้องการที่จะทำให้เมืองนั้นเป็นของทุกคน ในความหมายของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพยายามทำให้ platform economy นั้นให้ทั้งประโยชน์และลดโอกาสที่จะเป็นโทษกับผู้คนในเมือง โดยคำนึงถึงพลเมืองเป็นหลักด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำเป็นเบื้องต้นแล้วเชื่อว่าสักวันผลแห่งการเติบโตจะไหลล้นลงสู่ผู้คนที่เหลือหรือที่เสียเปรียบทีหลัง

เป้าหมายของการพัฒนาเมืองแบ่งปันจึงมองว่า คำว่าแบ่งปันไม่ใช่แค่มีพื้นที่กายภาพมาแบ่งปัน เอาของมาแบ่งกัน นั่งรถคันเดียวกัน เอารถบ้านมาส่งของตอนว่าง หรือคิดค้นการบริการใหม่ๆ ในเมืองประเภทมีจักรยานให้ใช้ มีที่เติมไฟฟ้าให้รถพลังงานไฟฟ้าไม่ใช้น้ำมัน

แต่ยังต้องหมายถึงการสร้างประสบการณ์จริงของการผลิตและการเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตที่เกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับเครือข่ายทางสังคมหรือมิติทางสังคมที่มีอยู่ (socially-embeded production) อาทิ การสร้างระบบแลกเปลี่ยนใหม่ ที่ไม่ต้องเป็นแบบซื้อขายผ่านคนกลาง หรือมีลักษณะเปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบลูกค้ากับผู้ขายมาเป็นการแลกใช้กัน หรือใช้ร่วมกันที่ส่วนกลาง (จักรยานของเมือง หรือห้องสมุดเมือง ไม่ใช่ทุกคนซื้อหนังสือแล้วอ่านเองในบ้าน)

นอกจากนี้ เมืองแบ่งปันยังหมายถึงการทำให้การมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยต่อชุมชนเมืองนั้นมีความหมายมากกว่าแค่ลงคะแนนหรือใส่ข้อมูลลงไปใน platform อาทิ การพิทักษ์สิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้คนในเครือข่ายเมืองอัจริยะและธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม หรือสามารถแบ่งปันข้อมูลเพื่อประเมินการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่น หรือธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสร้างข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจแบบแบ่งปันและเมืองอัจฉริยะแบบพิมพ์นิยม

ประวัติของการเคลื่อนไหวในเรื่องของเมืองแบ่งปันนั้นเขายอมรับกันว่ามหานครโซลนั้นเป็นต้นแบบของเมืองแบ่งปันในระดับโลก โดยแนวคิดเมืองแบ่งปันนั้นถูกนำเสนอโดยนายกเทศมนตรีโซลเมื่อ ค.ศ.2012 เพราะเห็นถึงข้อจำกัดในการเติบโตของโซลในศตวรรษต่อไป

ประเด็นท้าทายของโซลก็คือธุรกิจประเภทเศรษฐกิจแบ่งปันนั้นเริ่มมีบทบาทในเมืองมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของโซลนั้นอยู่รอดและคงทนต่อความผันผวนของเศรษฐกิจแบ่งปันแบบ platform และ disruption โดยทำให้เมืองรักษาไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (คือไม่เหลื่อมล้ำมากและไม่มีความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างผู้คน) และต้องยั่งยืน-น่าอยู่ด้วย

หรือให้อธิบายง่ายๆ ว่า จะทำอย่างไรให้พลเมืองของโซลนั้นมีชีวิตที่ดีได้และมีความเป็นชุมชนท่ามกลางความผันผวนและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งนั้นเสียเปรียบจากระบบเศรษฐกิจแบ่งปันและเมืองอัจริยะแบบพิมพ์นิยม ส่งเสริมการคิดค้นใหม่ๆ ที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้คน รวมทั้งรูปแบบความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันแบ่งปันกัน ไม่ใช่แก่งแย่งกัน รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง

แนวคิดจากโซลนั้นถูกนำไปพัฒนาและเผยแพร่โดยกลุ่มรณรงค์ในสหรัฐ (Shareable) และได้จัดทำรายงานส่งเสริมนโยบายที่จะสร้างเมืองแบ่งปัน และการสร้างกลุ่มก้อนของพลเมืองในเมืองในรูปแบบใหม่ (urban common) นับจากปี 2013 เกิดความสนใจจากที่ประชุมเทศบาลเมืองขนาดกลางในสหรัฐอเมริกา โดยภาพรวมคือ การพยายามค้นหาการวัดผลกระทบที่จะเกิดในเมืองในรูปแบบใหม่ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของพลเมืองในการเข้าร่วมเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องสร้างกฎระเบียบในการปกป้องพลเมืองจากเศรษฐกิจดังกล่าว รวมไปถึงการที่จะนำเอาสิ่งที่ครอบครองโดยรัฐนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน นอกจากนั้น ก็มีการรณรงค์โดยภาคประชาสังคมให้มหานครอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองแบ่งปันแห่งแรกของยุโรป

ความสำเร็จของอัมสเตอร์ดัมนั้นเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2015 จนกลายเป็นเมืองแบ่งปันต้นแบบในยุโรป เมื่อเครือข่ายของพลเมืองที่เผยแพร่แนวคิดต่างๆ นั้นสามารถผลักดันเรื่องเมืองแบ่งปันจนเป็นผลสำเร็จ และแนวคิดเมืองแบ่งปันที่เริ่มจากเครือข่ายประชาสังคมก็ได้รับการยอมรับจากเทศบาลเมือง โดยมีมุมมองว่าจะไม่มองเรื่องของเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันแค่ว่าจะอนุญาตให้มีหรือไม่ให้มี แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพลเมือง ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจแบ่งปันในระดับท้องถิ่นและการริเริ่มธุรกิจรายย่อยใหม่ๆ และจะปกป้องพลเมืองจากผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หนึ่งในโครงการสำคัญก็คือการสร้างบัตรให้บริการที่ทำให้คนที่ด้อยโอกาสและคนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงการให้บริการต่างๆ ของเมืองที่เชื่อมโยงกันได้ และมีราคาที่ถูกลง และการสร้างกฎระเบียบกับการปล่อยบ้านและห้องให้เช่าของธุรกิจแบ่งปันรายใหญ่ (เก็บภาษีที่บริษัท และจำกัดวันเช่าต่อปี)

นับจากปี 2015 แนวคิดเรื่องเมืองแบ่งปันก็กลายเป็นแนวคิดและรูปแบบการปฏิบัติที่ขยายไปในหลายทวีป ทำให้เกิดพันธมิตรเครือข่ายเมืองทั้งจากขบวนการประชาชน และเครือข่ายรัฐบาลระดับเมือง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่การนำเอาโครงการต่างๆ ไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ หรือมีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทางปฏิบัติกัน แต่ยังมีการนัดประชุมสัมมนารายปีในระดับโลกด้วย

การประชุมระดับโลกที่สำคัญในเรื่องของเมืองแบ่งปันคือ Sharing Cities Summit ซึ่งจัดขึ้นทุกปีนับจากปี 2016 เป็นต้นมา โดยครั้งล่าสุดจัดที่บาร์เซโลนาของสเปน (ครั้งแรกที่อัมสเตอร์ดัม ครั้งที่สองที่นิวยอร์ก) โดยในครั้งนี้มีการร่างคำประกาศในเรื่องเมืองแบ่งปันที่ยึดหลักการสำคัญ 10 ประการ

1.การทำความเข้าใจความหลากหลายของรูปแบบ (platform) ในการให้บริการของเศรษฐกิจแบ่งปันใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายสาธารณะให้ตรงกับพลวัตของเศรษฐกิจใหม่

2.ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากงานใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ โดยไม่เปราะบางหรือเกิดภาระใหม่ๆ จากโอกาสเหล่านี้

3.ผลักดันให้เกิดสภาพการทำงานที่เป็นธรรมและได้รับ/เข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาพึงได้

4.สร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าสู่ระบบใหม่ได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่โดยไม่มีการเอาเปรียบและกีดกันด้วยอคติต่างๆ

5.ปกป้องส่วนรวม/สาธารณะโดนสร้างมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง ควบคู่ไปกับกลไกการบริหารและการสร้างองค์กรและแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้เกิดการปกป้องได้จริง

6.มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการแบ่งปันและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการแสวงหากำไรสูงสุดแบบมีต้นทุนสูงที่ผลักต้นทุนนั้นให้คนอื่นรับผิดชอบโดยเฉพาะพลเมือง

7.ปกป้องสิทธิของพลเมืองในด้านดิจิทัลและข้อมูล

8.ให้ความสำคัญกับเมืองในแง่ที่ว่ารูปแบบธุรกิจใหม่ที่อิงกับข้อมูลดิจิทัลจะต้องไม่ทำลายการดำรงอยู่ของเมืองและระบบการตรวจสอบ และให้มีการวางกฎเกณฑ์ในระดับเมือง

9.ส่งเสริมธุรกิจรายย่อยของคนในท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งระบบการตรวจสอบการทำธุรกิจ และคุ้มครองผู้บริโภค

10.ปกป้องสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดชีวิตและเปลี่ยนแปลงเมือง (Right to the City) และส่งเสริมการสร้างกลุ่มก้อนของพลเมืองในรูปแบบใหม่ที่รู้สึกเป็นเจ้าของเมืองและใช้ชีวิตแบ่งปันกันในเมือง (Urban Common) ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ พื้นที่สาธารณะ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงที่พักอาศัยในเมือง คือ สามารถมีปัญญาอยู่ได้ในระดับที่ได้มาตรฐาน

สิ่งสำคัญที่พยายามอธิบายก็คือในการทำความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองนั้น จะต้องพยายามเข้าใจแนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังโครงการขนาดใหญ่ของเมือง และโครงการเปลี่ยนเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการปกป้องและเสริมอำนาจของพลเมืองท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจใหม่ และการใช้อำนาจของรัฐบาล รวมทั้งการจัดตั้ง City Lab หรือศูนย์วิจัยเมืองเพื่อเก็บข้อมูลและส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ

ในบ้านเราการทำความเข้าใจเรื่องเมืองแบ่งปันนั้นยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น แม้ว่าจะเริ่มขึ้นแล้วในหลายๆ ส่วนผ่านโครงการที่น่าสนใจมากมาย แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นจากการศึกษาสิ่งที่พัฒนาไปแล้วในต่างประเทศ และสร้างเนื้อหาแบบของบ้านเราเพิ่มเติมขึ้นไปอีก

รัฐบาลท้องถิ่นในระดับเล็กแบบ อบต. และเทศบาล อาจจะมีโอกาสคิดอะไรเพิ่มขึ้นได้อีกมาก แม้ว่าอาจจะไม่ต้องใช้ระบบไฮเทคเป็นฐาน แต่ในกรุงเทพฯนั้นแม้ว่าอาจจะพร้อมด้วยงบประมาณและทันสมัย แต่พื้นฐานการบริหารจัดการเขตที่อ่อนแอล้าหลังที่ผู้อำนวยการเขตไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและขาดการตรวจสอบจากประชาชน รวมทั้งการยุบสภาเขตจากการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการแบ่งปันได้น้อยลง ทำให้พื้นฐานความเข้าใจความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำ และความตึงเครียดในท้องถิ่นมีมากขึ้น ผมก็ยังไม่ค่อยเห็นว่าเอกชนและรัฐจะถูกกำกับหรือเจรจาต่อรองกับพลเมืองในเขตได้มากน้อยแค่ไหน

ก็ได้แต่หวังว่าการผลักดันการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งที่จะถึงนี้ประเด็นเรื่องเมืองแบ่งปันน่าจะถูกนำมาอภิปรายเพิ่มเติมไปจากการสร้างภาพเป็นยาสารพัดโรคของเมืองอัจฉริยะและเศรษฐกิจแบ่งปันแบบพิมพ์นิยมที่เชื่อว่าเทคโนโลยีราคาแพงและเศรษฐกิจแบบ platform เท่ากับความเจริญของเมืองนั่นแหละครับ

หมายเหตุศึกษาเพิ่มเติมได้จาก sharingcitiesalliance.com และ labgov.city

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image