การดมยาสลบในสัตว์เลี้ยง ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า โดย รศ.นสพ.ดร.นริศ เต็งชัยศรี

การวางยาสลบเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการดูแลรักษาสัตว์ป่วยทางสัตวแพทย์ เมื่อสัตว์เลี้ยงของท่านต้องได้รับการผ่าตัดรักษาหรือรับการขูดหินปูน สัตวแพทย์จะแนะนำการวางยาสลบแก่สัตวเลี้ยงของท่าน ในปัจจุบันพบว่าสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะได้รับการวางยาสลบอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เจ้าของสัตว์เป็นกังวลใจเสมอ

ถึงความความปลอดภัย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการวางยาสลบ โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก จนทำให้เจ้าของสัตว์ถึงกับนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว ในวันนี้หมอขอเล่าถึงการวางยาสลบในสัตว์เลี้ยงให้รู้จักกันมากขึ้น อีกทั้งแนะนำเจ้าของสัตว์ตัดสินใจร่วมกับสัตวแพทย์ในการเลือกใช้การดมยาสลบ สำหรับดูแลรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่รัก

เมื่อไหร่จึงต้องวางยาสลบ

การวางยาสลบสัตว์ถูกนำมาใช้ในหลายขั้นตอนของการดูแลรักษาสัตว์ ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยโรค การวางยาสลบทำให้สัตว์อยู่นิ่ง สามารถทำการตรวจด้วยกล้องส่องตรวจภายใน หรือตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการรักษาสัตว์ที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดมาก และการดิ้นรนของสัตว์ป่วยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน สัตว์ป่วยจะได้รับ

Advertisement

การวางยาสลบเช่นกัน ตั้งแต่การขูดหินปูน ถอนฟัน การรักษากระดูกหักด้วยแผ่นดามเหล็ก หรือการตัดเนื้องอก เป็นต้น

ประเภทของการวางยาสลบ

การวางยาสลบหรือการระงับความรู้สึกในทางสัตวแพทย์นิยมใช้ การวางยาสลบ (การระงับความรู้สึกทั่วตัว) มากกว่าการวางยาชาเฉพาะที่ (การระงับความรู้สึกเฉพาะที่) โดยเทคนิคในการการวางยาสลบนั้น ที่พบเห็นได้บ่อยมี 2 ประเภท คือ การวางยาสลบด้วยยาสลบรูปแบบฉีด เหมาะสำหรับการตรวจรักษา หรือผ่าตัด ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ โดยวงการสัตวแพทย์นิยมเลือกใช้โปรโพฟอล เช่นเดียวกับในคน แต่เนื่องจากยาสลบรูปแบบฉีดมีฤทธิ์ข้างเคียงเมื่อได้รับยาในปริมาณที่มาก คือกดการหายใจและทำให้ความดันโลหิตต่ำ การวางยาสลบด้วยเครื่องยาดมยาสลบจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เพราะสามารถคงภาวะการสลบได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งขั้นตอนการดมยาสลบ มีการสอดท่อช่วยหายใจจึงช่วยป้องกันการสำลักน้ำหรืออาหารเข้าสู่หลอดลม

Advertisement

ทำอย่างไรจึงลดความเสี่ยงจากการวางยาสลบ

ปัญหาแทรกซ้อนจากการวางยาสลบที่พบได้บ่อย คือ การไม่เตรียมตัวสัตว์ก่อนการวางยาสลบ สำหรับขั้นตอนแรกก่อนการวางยาสลบ คุณหมอจะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติและตรวจสุขภาพสัตว์ป่วย เพื่อดูความพร้อมของร่างกายสัตว์ หากสัตว์ของท่านมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติแพ้ยาควรแจ้งแก่สัตวแพทย์เพื่อวางแผนป้องกัน จากนั้นสัตวแพทย์ทำการตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ไต หัวใจ และปอด เป็นต้น และก่อนการวางยาสลบสัตวแพทย์จะแนะนำให้เจ้าของสัตว์ทำการงดน้ำและอาหารสัตว์ป่วยเป็นเวลานาน 8-12 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะว่าง ป้องกันปัญหาการสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลม ซึ่งทำให้สัตว์เสียชีวิตได้จากการอุดกั้นทางเดินหายใจ

การเลือกใช้ยาดมสลบ เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการวางยาสลบ และในปัจจุบันเครื่องดมยาสลบ มีการใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้นในคลินิกรักษาสัตว์ในประเทศไทย เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ เครื่องดมยาสลบเป็นช่องทางนำออกซิเจนเข้าสู่ตัวสัตว์ตลอดการวางยาสลบ ในกรณีที่สัตว์ป่วยมีปัญหาหยุดหายใจ สามารถใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยเหลือได้ทันทีจึงป้องกันภาวะขาดอากาศขณะสัตว์หมดสติ นอกจากนี้ พบว่ายาดมสลบออกฤทธิ์เร็วทำให้สามารถปรับระดับความลึกของการสลบแก่สัตว์ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากยาดมสลบถูกขับผ่านทางปอดโดยไม่ต้องถูกเปลี่ยนรูปที่ตับหรือขับออกทางปัสสาวะ จึงสามารถใช้ยาดมสลบได้ในสัตว์ป่วยโรคตับ หรือโรคไต การขับยาดมสลบออกทางลมหายใจส่งผลให้สัตว์ฟื้นตัวเร็วจากการดมยาสลบกว่าการใช้ยาสลบรูปแบบฉีด

ยาดมสลบที่นิยมใช้มีอะไรบ้าง

ชนิดของยาดมสลบที่ใช้คลินิกสัตวแพทย์ในประเทศไทย ได้แก่ ฮาโลเทน (halothane) ไอโซฟลูเรน (isoflurane) ซีโวฟลููเรน (sevoflurane) และเดสฟลูเรน (desflurane) ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ ฮาโลเทน ในทางคลินิกเพราะยาทำให้เกิดปัญหาตับอักเสบได้ในสุนัข และเป็นอันตรายต่อบุคลากรทางสัตวแพทย์ สำหรับไอโซฟลูเรนเป็นยาดมสลบที่นิยมใช้โดยทั่วไป มีความปลอดภัยสูง แต่ความเร็วในการปรับระดับความลึกของการสลบในสัตว์ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ซีโวฟลูเรนและเดสฟลูเรน เนื่องจากยาดมสลบในระดับความเข้มข้นสูงสามารถกดการหายใจและการทำงานของหัวใจได้ จึงแนะนำให้ทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างการวางยาสลบ

ขณะสัตว์สลบต้องตรวจอะไรบ้าง

เจ้าของสัตว์ควรสอบถามสัตวแพทย์ถึงขั้นตอนการวางยาสลบว่ามีการให้น้ำเกลือ และสอดท่อช่วยหายใจหรือไม่ อีกทั้งควรสอบถามถึงการมีบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องดมยาสลบและบันทึกสัญญาณชีพสัตว์ตลอดการวางยาสลบ

บุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการวางยาสลบและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จะรู้จักกันในนาม “วิสัญญีสัตวแพทย์” หรือ “หมอดมยาสัตว์” ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก โดยมีไม่ถึง 5% ของคลินิกรักษาสัตว์ สำหรับที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือที่ทันสมัย และมีวิสัญญีสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์ป่วยทุกตัว ที่เข้ารับการวางยาสลบภายในโรงพยาบาลสัตว์ โดยวิสัญญีสัตวแพทย์ทำการวางแผนการเลือกใช้ยาเตรียมการสลบ และยานำสลบสำหรับสัตว์ป่วยแต่ละตัว ภายหลังจากที่สัตว์ป่วยได้รับการดมยาสลบ จะมีการจดบันทึกการเปลี่ยนสัญญาณชีพต่อเนื่อง อย่างน้อยในทุกๆ 5 นาที โดยมีการประเมินด้านต่างๆ เช่น 1.ตรวจความลึกของการวางยาสลบ โดยการตรวจรีเฟล็กซ์ การตอบสนองของลูกตาและการตอบสนองต่อความเจ็บปวด 2.การทำงานของหัวใจ โดยการคลำตรวจชีพจร การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการวัดความดันโลหิต 3.ตรวจการทำงานระบบทางเดินหายใจ โดยการนับอัตราการหายใจ และดูกราฟแสดงความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจ (capnography) 4.ตรวจการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในเลือด ทำโดยการนำอุปกรณ์หนีบ (sensor) ที่ลิ้นสัตว์เพื่อวัดระดับความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบิน ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 95% ในขณะสลบ และ 5.อุณหภูมิร่างกายสัตว์มักจะลดต่ำลงเนื่องจากภาวะหลอดเลือดส่วนปลายขยายตัว คุณหมอรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายสัตว์ให้คงที่ตลอดการวางยาสลบด้วยเครื่องพ่นลมร้อน นอกจากนี้ ในกรณีที่การผ่าตัดก่อให้เกิดความเจ็บปวดมาก คุณหมอจะให้ยาลดปวดก่อนการผ่าตัด และประเมินความปวด เมื่อสัตว์ฟื้นจากยาสลบ ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการปวดรุนแรงจะมีการให้ยาลดปวดเพิ่มเติม ส่งผลให้การวางยาสลบและการฟื้นจากการสลบเป็นไปด้วยความนุ่มนวล

โดยสรุป เพื่อให้มั่นใจว่าการวางยาสลบในแต่ละครั้งมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เจ้าของสัตว์ควรขอให้สัตวแพทย์เลือกใช้การดมยาสลบสำหรับสัตว์เลี้ยงของท่านในทุกๆ ครั้ง ที่ต้องใช้การวางยาสลบในการตรวจรักษา ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ พบได้น้อยกว่ากรณีการใช้ยาสลบรูปแบบฉีด คลินิกสัตวแพทย์ในประเทศไทยต้องปรับตัวโดยนำเครื่องดมยาสลบมาใช้ในการผ่าตัดรักษาสัตว์ อีกทั้งควรมีบุคลากรผู้ชำนาญ ทำหน้าที่โดยเฝ้าระวังสัตว์ป่วยและสังเกตความผิดปกติ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตสัตว์ ดังที่พบได้ในข่าวในหลายๆ กรณี เพื่อให้สมกับความไว้ใจที่ได้จากเจ้าของสัตว์เลี้ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image