สะพานแห่งกาลเวลา : งานวิจัย‘บีซีไอ’ของเฟซบุ๊ก : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตอนที่ผมหยิบเรื่อง อีลอน มัสก์ กับงานวิจัยเพื่อหาทางสื่อสารโดยตรงระหว่างสัญญาณคลื่นไฟฟ้าในสมองของคนเรากับคอมพิวเตอร์ เพื่อแปลงสัญญาณเหล่านั้นออกมาเป็นคำพูดมาเล่าสู่กันฟังเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนนั้น

ผมไม่รู้มาก่อนว่า เฟซบุ๊ก ก็เกี่ยวข้องอยู่กับงานวิจัยคล้ายคลึงกันอยู่ด้วย

เพิ่งมารู้เอาทีหลังว่า เฟซบุ๊ก คือผู้บริจาคหลัก จ่ายเงินก้อนโตสนับสนุนห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ภายใต้การนำของ เอ็ดดี ชาง ประสาทศัลยแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

นี่ไม่เพียงแสดงว่าเรื่องการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันนั้นไม่เพียงได้รับความสนใจ แต่สนใจมากๆ ถึงขนาดมีคนลงทุนใช้เงินจริงๆ ไปมากมายเพื่อให้เรื่องนี้รุดหน้า

Advertisement

แต่เป้าหมายของทั้งมัสก์และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ดูจะแตกต่างกันคนละทิศคนละทาง

เป้าหมายถึงที่สุดของ อีลอน มัสก์ ดูเหมือนจะอยู่ที่การหา “ตัวกลาง” บางสิ่งบางอย่าง ที่จะทำให้สมอง ความรู้สึกนึกคิดของคนเรา “เข้าถึง” สมองกลในอนาคตและควบคุมมันได้

ไม่ปล่อยให้หลุดออกนอกลู่นอกทาง กลายเป็น “จักรกลสังหาร” มนุษยชาติ

Advertisement

ส่วนเป้าหมายของเฟซบุ๊กนั้น บอกได้ง่ายมาก ก็เพื่อเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กพัฒนาสิ่งนี้เพื่อให้มันเป็นพัฒนาการอีกขั้นของเฟซบุ๊กในอนาคต

ในยุคที่ คีย์บอร์ด เมาส์ หรือหน้าจอสัมผัส ไม่มีประโยชน์ให้คงอยู่ในระบบแวดล้อมของคอมพิวเตอร์อีกต่อไป

พูดง่ายๆ ก็คือ เฟซบุ๊ก ต้องการให้มนุษย์สามารถ “โพสต์ความคิด” ในสมอง ให้กลายเป็นตัวอักษรบนหน้าแฟนเพจได้เลยโดยตรง ไม่ต้องผ่านการพิมพ์ การจิ้ม หรืออื่นใดอีก ไม่ต้องแม้แต่จะพูดออกมาด้วยซ้ำไป

เขาเรียกระบบนี้ว่า “เบรน-คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เฟซ” หรือ “บีซีไอ”

สิ่งที่ทั้งสองต้องการตรงกันก็คือ ระบบใดระบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือน “โมเดมของสมอง” ที่สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้แบบไร้สาย

แต่สิ่งที่ คุณหมอเอ็ดดี ชาง กับทีมวิจัยของอีลอน มัสก์ ทำได้ตอนนี้ยังห่างไกลจากจุดนั้น แม้ว่าจะยืนยันว่าสามารถอ่านสิ่งที่อยู่ในสมองของคนได้บ้างแล้วก็ตาม

เพราะยังคงต้องเจาะกะโหลกเพื่อติดตั้งอิเล็กโทรดกับสมองของคนเราอยู่ต่อไป

ในรายงานของนายแพทย์ชางกับทีม ระบุว่า พวกเขาสามารถอ่านกิจกรรมของสมองได้ด้วยความแม่นยำสูงถึง 76 เปอร์เซ็นต์

กิจกรรมที่ว่าคือ กิจกรรมของสมองในส่วนที่ใช้สั่งงาน ริมฝีปาก, ลิ้น, ขากรรไกร และกล่องเสียง ซึ่งช่วยให้เราเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดนั่นเอง

พัฒนาการนี้ก็ทำให้เกิด “ผลพลอยได้” ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยประเภทที่พูดไม่ได้ ขยับร่างกายใดๆ ไม่ได้ แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายของเฟซบุ๊กอยู่มากโข

แม้เฟซบุ๊กจะชื่นชมยินดีกับสิ่งนี้และบอกว่า เป็นก้าวสำคัญก้าวใหญ่ ไปสู่เป้าหมายของการใช้ “ความคิด” โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กให้ได้ในเวลาจริงหรือเรียลไทม์ ที่อัตราความเร็ว 100 คำต่อนาที โดยที่มีคำศัพท์รวมอยู่ในนั้น 1,000 คำเป็นอย่างน้อย และให้มีค่าความผิดพลาดได้ไม่เกิน 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า ความสำเร็จของเฟซบุ๊กดูไม่ห่างไกลจากของอีลอน มัสก์เท่าใดนัก เพราะยังคงเป็นเหมือนอุปกรณ์รับคำสั่งเสียงทั่วๆ ไป ไม่ใช่เครื่องแปลงความคิดออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรอย่างที่ต้องการ

เหมือนกับที่เราออกคำสั่ง (เสียง) กับสิริ หรืออื่นๆ ให้ทำตามที่เราต้องการเท่านั้นเอง

ถึงที่สุดแล้ว การอ่านสัญญาณ “คำพูด” กับ “ความคิด” แตกต่างกันและซับซ้อนกว่ากันเยอะมาก

เช่น เราอาจพูดว่า “ไลค์” ได้ แต่ในใจในความคิดเรา “ไลค์” จริงๆ หรือเปล่า? ไม่มีใครรู้

แถมไม่แน่ใจนักว่าจะมีใครสักกี่คนที่อยากอัพเดตสเตตัสเฟซบุ๊กของตัวเองทุกๆ นาที จากทุกที่ ทุกหนทุกแห่งกัน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image