เดินหน้าชน : โรดแมป‘ท้องถิ่น’ : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

สถานการณ์ล่าสุดของการรอว่าจะมีการประกาศจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเมื่อไหร่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พูดเหมือนเฉลยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องรอความพร้อมจากด้านต่างๆ ก่อน

มท.1 บอกอีกว่า จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ ขอให้รอดูมติ ครม.จะดีกว่า

ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่มีขึ้นในปลายปีนี้ หรือยกยอดไปไว้ในปีหน้าไปเลย

ขณะที่บรรยากาศการจัดตัวผู้เล่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่จะประเดิมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ ก็โหมโรงกันมาได้สักพักใหญ่แล้ว นับแต่หลังเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา หลายจังหวัดเริ่มวางตัวแทนพรรคที่จะส่งชิงนายก อบจ.เป็นความคึกคักของนักการเมืองท้องถิ่นและสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่พร้อมประเดิมสนามกันแล้ว

Advertisement

นับเป็นเรื่องดีด้วยว่า เลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในคราวนี้ บรรดาพรรคการเมืองค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดกับการเลือกตั้งเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่ไม่พอใจต่อกติกาการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าเป็นการเอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีความพยายามจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญนี้ให้ได้ โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านต่างหันมาเฟ้นตัวผู้สมัครในระดับท้องถิ่น รวมถึงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเข้มข้น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นเปรียบเสมือนเป็นฐานที่ตั้งสำคัญ การได้ยึดครองเสียงในพื้นที่ท้องถิ่นจะมีพลังส่งผลถึงการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า

การพิถีพิถันกับสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ก็เหมือนการให้เกียรติและการเอาใจใส่ต่อพี่น้องประชาชนที่ยืนข้างสนับสนุนพรรคมาตลอด ประกอบกับหลังจากนี้ไม่มีใครบอกได้ว่ารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะรักษาเสถียรภาพความเป็นรัฐบาลได้นานแค่ไหน

ลองมาดูความคึกคักที่สนาม อบจ.ใน จ.สงขลา จัดเป็นศึกประดาบก็เลือดเดือดของพรรคฝ่ายรัฐบาลกันเอง เป็นที่รับทราบกันไปหมดแล้วว่า นิพนธ์ บุญญามณี ทิ้งเก้าอี้นายก อบจ.ไปก่อนหน้านี้ หลังนั่งมานานถึง 6 ปี เพื่อไปนั่งเป็น รมช.มหาดไทย ทางพรรคประชาธิปัตย์เตรียมส่ง พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สายตรงของนิพนธ์ เบียดกับ พ.อ.(พิเศษ) สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำกลุ่มด้ามขวานไทย ที่คาดว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่งลงสนาม

Advertisement

สนามนี้ทั้งฐานคะแนนเสียงและกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ยังเหมือนเดิมหมด จึงอยู่ที่ประชาชนแล้วว่าจะเป็นฝ่ายเลือกให้ใครเข้าวิน

อีกสนามที่น่าสนใจ คือ อบจ.เชียงใหม่ ที่มี บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้อยู่ ได้ออกมายืนยันผ่านนักข่าวแล้วว่า ไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงาของพรรคการเมืองจากกรุงเทพฯ แต่จะอยู่กับกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมที่ร่วมก่อตั้งขึ้นมา หลังมีข่าวว่าจะเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ เจ้าตัวปัดกระแสนี้อย่างสิ้นเชิง

ส่วนพรรคที่จะมาต่อกรกับเจ้าของพื้นที่ น่าจะมีอย่างน้อย 3 พรรคหลักๆ ทั้งเพื่อไทย อนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ ทั้งสามพรรคนี้หวังอาศัยคะแนนนิยมของพี่น้องประชาชนที่ชื่นชอบในตัวพรรคเป็นหลัก โดยตลอดที่ผ่านมา มีตัวผู้สมัครในพื้นที่หลายคนอยู่ในกระแสตกเป็นตัวเลือกของพรรคเหล่านี้อยู่เนืองๆ แต่สุดท้ายต้องรอการเคาะครั้งสุดท้ายอยู่ดี

เกริ่นมา 2 สนามเลือกตั้ง อบจ.ก็พอเห็นแล้วว่า การโหมโรงของสนามท้องถิ่นคึกคักกันแค่ไหน น่าเสียดายเหมือนกัน หากการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท เขียนผ่าน “มติชน” วันก่อน อยากให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนด Road map เลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมาได้แล้ว ไม่มีอะไรต้องปล่อยให้เนิ่นนานออกไปอีก เลือกตั้งใหญ่ก็ผ่านไปแล้ว กม.ท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 6 ฉบับก็มีผลบังคับใช้แล้ว ความเคลื่อนไหวของการเตรียมตัวเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นไปอย่างเข้มข้นในหลายพื้นที่

ไม่รู้เหมือนกันว่ามัวรออะไรอีก

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image