ไทย พบ พม่า : ออง ซาน ซูจี ผู้นำล่องหนกับยักษ์จินนี่ (1) โดย : ลลิตา หาญวงษ์

(ภาพ Reauters)

นับตั้งแต่ออง ซาน ซูจีได้รับการปล่อยตัวจากการถูกควบคุมตัวในบ้านพักยาวนานรวม 15 ปี ในปลายปี 2010 หลายคนยกให้เหตุการณ์นั้นเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการปฏิรูปการเมืองในพม่า เกือบ 9 ปีมานี้ แม้พม่าจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD เข้ามาบริหาร แต่ท่าทีของพรรคและของซูจีที่มีต่อวิกฤตทางสังคมกลับก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะการบริหารนโยบายผิดพลาด แต่เป็นเพราะเธอเลือกที่จะเงียบ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และบางครั้งก็ทำเป็นลืมๆ ไปว่ามีปัญหาบ้างที่พม่ากำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นบทความเชิงวิพากษ์ที่เรียกร้องให้ซูจีออกโรงปกป้องชาวโรฮีนจา หรือชาวบ้านที่เผชิญกับการรุกคืบของนายทุนเหมืองทองแดงอยู่บ่อยครั้ง น้ำเสียงของการวิพากษ์นั้นเต็มไปด้วยการตัดพ้อและความผิดหวัง ที่ผู้นำพม่าไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างที่ควรจะเป็น ผู้เขียนจำได้ว่าในปี 2013 โรเจอร์
มิตตัน (Roger Mitton) เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ The Myanmar Times ในชื่อ “Oh Daw Suu, where art thou?” (โอ้ว่าออง ซาน ซูจี ท่านอยู่หนใด?-ผู้เขียนเคยแปลบทความนี้เป็นภาษาไทยลงประชาไท) เพื่อทวงถามว่าเหตุใดซูจีจึงไม่ออกโรงประณามการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านที่เหมืองทองแดงเลตปะด่อง ที่เป็นแหล่งร่วมทุนระหว่างบริษัทจากจีนและกองทัพพม่า

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีอีกหลายบทความที่ตั้งข้อสังเกตว่าออง ซาน ซูจีอยู่ที่ใดยามเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองหรือสังคมขึ้นในพม่า ล่าสุด เบน โรดส์ (Ben Rhodes) เขียนบทความในลักษณะเดียวกันลงใน The Atlantic ในชื่อ What Happened to Aung San Suu Kyi? (เกิดอะไรขึ้นกับออง ซาน ซูจี?) เพื่อวิจารณ์ท่าทีของซูจีที่มีต่อวิกฤตการณ์โรฮีนจา โรดส์เคยทำงานให้กับประธานาธิบดีโอบามา และมีโอกาสได้เข้าพบซูจีหลายครั้ง ข้อสังเกตและ “กอสซิป” ของเขาน่าสนใจไม่น้อย โรดส์เล่าว่าครั้งหนึ่งซูจีเคยเล่าให้เขาฟังว่าเธอชื่นชมและชื่นชอบแนวทางการทำงานของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ หรือ “หญิงเหล็ก” นายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างปี 1979-1990 ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความกดดันระบบการเมืองที่มีชายเป็นใหญ่ได้นานถึง 11 ปี โรดส์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าออง ซาน ซูจีในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ (state counselor) ไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจที่แท้จริง พม่าในยุคปฏิรูปเป็นแหล่งเงินแหล่งทุนของบริษัทข้ามชาติจากจีนและชาติตะวันตก ด้วยเหตุนี้กองทัพจึงจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงในทุกอณูของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมพม่าเพิ่มขึ้น และก็แนบเนียบขึ้นด้วย

โรดส์มองว่าการปล่อยตัวซูจีในปี 2010 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ได้มาจากการกดดันของนานาชาติแต่อย่างใด แต่เป็นแผนการ หรือ “โรดแมป” ที่กองทัพจัดวางไว้อย่างละเมียดละไม ซูจีแทบไม่เคยอยู่บ้านบนถนนมหาวิทยาลัย ติดทะเลสาบอินยา ในย่างกุ้ง

แต่เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เนปยีดอ เมืองหลวงแห่งใหม่ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ วัฒนธรรมการเมืองในพม่าเองยังไม่เอื้อให้ซูจีกลับเป็นเป็นฮีโร่ประชาธิปไตยได้อีกแล้ว ซูจีมีที่ปรึกษาไม่กี่คนที่เธอไว้วางใจ และสำหรับคนในพรรค NLD เธอเปรียบเสมือนนางพญาปลวก ที่ปลวกงานอื่นๆ ต้องพึ่งพาและอาศัย “บารมี” ของเธอเพื่อไต่เต้าไปถึงตำแหน่งในรัฐบาลที่ตนต้องการ วัฒนธรรมกึ่งอำนาจนิยมในพรรค NLD รวมทั้งการควบคุมหรือควบกลืนบรรดานักการเมืองฝั่งตรงข้ามของกองทัพนี้สร้างภาวะชะงักงันให้การพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยของพม่า โรดส์ปิดท้ายว่า “ไม่ว่าออง ซาน ซูจีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ โลกรอบๆ ตัวเธอเปลี่ยนไปหมดแล้ว” ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยในพม่าอาจง่ายกว่านี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะจีนยังไม่ผงาด พรรครัฐบาลในอินเดียไม่ใช่พรรคชาตินิยมฮินดู BJP ของนเรนทรา โมดี และอเมริกายังไม่มีประธานาธิบดีชื่อโดนัลด์ ทรัมป์

Advertisement

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพม่าปัจจุบันยังเป็นปัญหาเรื่องโรฮีนจา หรือหากกล่าวรวมๆ คือปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์-ศาสนาที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปี ในสถานการณ์ที่อินเดียพยายามผนวกจัมมู-แคชเมียร์มาเป็นของตนเพื่อป้องกันการแบ่งแยกดินแดนและการแทรกแซงจากปากีสถาน พม่าก็พยายามทำในสิ่งที่พรรคชาตินิยมฮินดู BJP ของนเรนทรา โมดีกำลังทำอยู่ และพยายามควบรวมชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เข้ามาอยู่ใต้รัฐบาลและกองทัพของพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ ในสถานการณ์นี้ ออง ซาน ซูจี ฮีโร่ประชาธิปไตยและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปอยู่หนใด คำถามที่โรดส์พยายามถามตนเองซ้ำๆ คือแท้จริงแล้วซูจีต้องการอะไรกันแน่? แน่นอนว่าซูจีต้องการเป็นประธานาธิบดีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ด้วยข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ทำให้วาระหลักของ NLD เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แน่นอน ผู้มีสิทธิขาดในการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่สภาสูงและสภาล่างเพียงอย่างเดียว แต่เธอต้องได้รับไฟเขียวจากผู้บริหารระดับสูงในกองทัพด้วย

ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญและชนะใจประชาชนชาวพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งประเทศ แลกมาด้วยการพินอบพิเทากับคนในกองทัพ การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในประเด็นที่ละเอียดอ่อน และการให้สัมภาษณ์เรื่องโรฮีนจาแบบขอไปที อ้อมไปอ้อมมา ไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง การขึ้นเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐนั้นไม่เพียงพอสำหรับบุตรสาวของนายพลออง ซานผู้ยิ่งใหญ่ ดีกรีปริญญาตรีจากออกซ์ฟอร์ดผู้นี้ สำหรับอีลีทและนักการเมืองรุ่นเก่าในพม่า พวกเขาคงคิดว่าบางครั้งการแก้ปัญหาภายในพม่า อาจไม่ต้องพึ่งประชาธิปไตยเต็มใบก็เป็นได้ และพวกเขาคงเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหาใดๆ ในพม่าต้องได้รับฉันทามติและความร่วมมือจากกองทัพ การดื้อดึงหรือการพุ่งชนกองทัพไม่เคยประสบความสำเร็จในพม่าเหมือนในตะวันออกกลาง และรังแต่จะทำให้ประชาชน (ชาวพุทธ) สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น

ปัญหาของพม่ามีความสลับซับซ้อนไม่แพ้ประเทศใดในโลก การแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งจึงไม่ใช่หน้าที่ของออง ซาน ซูจีเพียงผู้เดียว และคงไม่ถูกต้องนักหากจะมองว่าเธอเป็นคนเดียวที่จะสะสางปัญหาเหล่านี้ได้ คุณสมบัติหนึ่งที่ซูจีมี จากประสบการณ์การฝึกสมาธิขั้นสูงมาหลายปีระหว่างที่ถูกควบคุมตัว คือเธอมีความอดทนอดกลั้นชั้นยอด เธอจึงไม่ยอมให้อุปสรรคใดมาขวางการแก้รัฐธรรมนูญ และการสร้างความมั่นใจให้ชาวพุทธในพม่าว่าเธอและ NLD ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะ (ค่อยๆ) แก้ไขปัญหาของประเทศ และนำพาพม่าไปสู่ความสุขและสงบในอนาคต

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image