เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ทำผิดรัฐธรรมนูญ คือทำผิดกฎหมาย

สัปดาห์ก่อน เขียนถึงการท่องคำของ “พลทหาร” ก่อนเข้านอน และหลังตื่นนอนไว้ว่า

“ทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด จะละเลยเสียมิได้เป็นอันขาด” จำผิดตกหล่น ทุกวันนี้ปฏิบัติอีกแบบอย่างหนึ่ง ในส่วนที่ขาดตกบกพร่องไป คือ “คำสั่งผู้บังคับบัญชาคือคำประกาศิต ผู้ใดจะละเลยมิได้เป็นอันขาด” และที่ยังเหมือนกันคือ “ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร”

วันนี้ปรับใหม่หลังจากสอบถาม “พลโท” ท่านหนึ่ง ได้คำตอบที่ท่องขณะนี้คือ

1.ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่ 2.ไม่มีอะไรที่ทหารทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน

Advertisement

วันนี้ ขอย้อนไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีชี้แจงกรณีหนังสือต้อน รับคณะรัฐมนตรีสัญจรว่าเป็นข้อผิดพลาดในขั้นตอนของการพิมพ์ เนื่องจากหนังสือฉบับดังกล่าวปรับแก้มาจากเอกสารก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องการเตรียมความพร้อมรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561

ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม แถลงว่า ขอรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด จากกรณีที่ไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เบื้องต้นได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขหนังสือฉบับดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น นายวิทูรัชได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นับเป็นเรื่องความรับผิดชอบของข้าราชการชั้นสูงสุดในกระทรวงมหาดไทยระดับผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อเกิดความผิดพลาดบกพร่องได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ทราบว่าก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการอย่างไร ข่าวไม่ได้แจ้ง เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ มิใช่เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ

นั้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ในยุคที่การจัดพิมพ์นำหนังสือที่พิมพ์เดิมมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยผู้พิมพ์มิได้ตรวจสอบข้อความก่อน และผ่านสายตาเจ้าหน้าที่ตามลำดับ กระทั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งต้องเป็นผู้ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าวยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน

การออกคำสั่งของจังหวัดมีรูปแบบ (แบบฟอร์ม) มีข้อความว่าใช้กับผู้ใดที่ชัดเจน แต่เนื่องจากผู้พิมพ์ใช้แบบฟอร์มเดิม พิมพ์ใหม่เพียงข้อความที่เพิ่มเติมแก้ไข มิได้สังเกตข้อความทั้งหมด ผลจึงออกมาเป็น “รับเสด็จ” แทนที่จะเป็น “การต้อนรับ” กว่าจะถึงการนำมาใส่ในแฟ้มนำเสนอเซ็นได้ยังผ่านเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

เช่นเดียวกับคำกราบบังคมทูลถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นบ่อย ต้องมีการจัดพิมพ์คัดลอกขึ้นใหม่ตามข้อความที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ และต้องมีผู้ตรวจสอบผ่านสายตาจากเจ้าหน้าที่มาจำนวนหนึ่ง ทั้งต้องอ่านตามข้อความที่พิมพ์มิใช่การเอ่ยคำถวายสัตย์ฯด้วยปากเปล่า ซึ่งอาจมีข้อความตกหล่นได้

ดังนั้น เมื่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเปล่งออกมาจากผู้นำการถวายสัตย์ฯคือนายกรัฐมนตรี คณะ รัฐมนตรีต้องเปล่งวาจาตาม เมื่อปรากฏข้อความและเสียงที่ปรากฏออกมาตามการถ่ายทอดเสียงจึงทราบว่ามีข้อความที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดข้อกังขากันไปทั่วประเทศ

ข้อความทุกถ้อยกระทงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน คือการปฏิบัติตามกฎหมาย หากขาดตกบกพร่องมิได้ในถ้อยคำใดถ้อยความหนึ่ง ย่อมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

เมื่อผู้ใดกระทำผิดกฎหมาย ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย แม้การขาดตกบกพร่องนั้นไม่มีการกำหนดโทษไว้ก็ตาม กระนั้น ผู้กระทำความผิดต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายขึ้น

มิเช่นนั้น การกระทำใดที่ผู้กระทำหลังจากนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น

หรือนักกฎหมายของประเทศนี้ตั้งแต่ทนายความ ตำรวจ คณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการ ศาล จะว่าอย่างไร

คนไทยรอคำตอบอยู่ขอรับเจ้านาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image