ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : อนาคตการศึกษาอยู่ในมือใคร โดย : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

หนึ่งในเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของการก้าวย่างเข้าสู่ Thailand 4.0 หรือการเป็นประเทศพัฒนาแล้วย่อมเกิดเงื่อนไขขึ้นกับระดับการศึกษาของประชาชน ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนด้านการศึกษาอย่างมหาศาล ในปี พ.ศ.2561 การลงทุนด้านการศึกษาของไทยสูงขึ้นเป็นลำดับ 1 ในบรรดา กระทรวง ทบวง กรมทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของงบประมาณแผ่นดิน อัตราการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาของไทยเคยต่ำกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่หลัง พ.ศ.2550 อัตรานี้ของไทยกลับเลยหน้าทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ผลสัมฤทธิ์ดังที่กล่าวมานี้เป็นแค่ผลสัมฤทธิ์ปริมาณไม่ใช่คุณภาพ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (IMD World Competitiveness) ประจำปี พ.ศ.2561 ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ตัวชี้วัด 340 ตัวชี้ววัด ใน 4 ดัชนีหลัก ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีที่มาของข้อมูลจากสถิติและข้อมูลจากการสำรวจบุคคลภาคธุรกิจกว่า 6,000 คนทั่วโลก

ผลประเทศไทยอยู่อันดับที่ 56 จาก 63 ประเทศ หนามยอกอกคืออยู่ในกลุ่มที่มีตัวชี้วัดที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 เพียง 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) งบประมาณด้านการศึกษาต่อประชากร 2) อัตราส่วนครูต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 3) ความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน 4) ความคิดเห็นต่อทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้ง 4 ตัวชี้วัดนี้มีลำดับตำแหน่งดีขึ้นเพียงลำดับเดียวเท่านั้น และ 5) ความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจซึ่งตัวชี้วัดที่ดีขึ้น 3 ใน 5 ตัวนี้เป็นตัวชี้วัดที่เป็นความเห็น ไม่ใช่ผลการปฏิบัติ ส่วนอัตราส่วนครูต่อนักเรียนอาจจะมีแนวโน้มลดลง เพราะประชากรวัยเด็กลดลงเรื่อยๆ เพราะอัตราการเกิดลดลง ส่วนตัวชี้วัดที่มีลำดับลดลงหรือไม่ดีขึ้นที่น่าสนใจแสดงไว้ในตารางต่อไปนี้

Advertisement

จากตารางจะเห็นได้ว่าอัตราส่วนครูต่อนักเรียนในระดับประถมศึกษาลดลงถึง 13 ตำแหน่ง ทั้งๆ ที่แนวโน้มจำนวนเด็กลดลง อัตราการเข้าเรียนต่อมัธยมก็ลดลง ทั้งๆ ที่เราต้องการทักษะแรงงานมากขึ้น

ความสัมฤทธิผลด้านอุดมศึกษาลดลง 4 อันดับ ผลการสอบ PISA ไม่ดีขึ้น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษลดลง และอัตราไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงถึง 12 ลำดับ!! อย่างไรก็ดี การที่ลำดับตัวชี้วัดลดลงไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ของเราเลวลงเสมอไป แต่อาจเกิดจากประเทศอื่นพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าเรา จะเห็นได้ว่าการที่เราเพิ่มงบประมาณการศึกษาอย่างมหาศาลไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น

เราจะปล่อยให้อนาคตของการศึกษาอยู่ในมือกระทรวงศึกษาธิการแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้

Advertisement

ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2562 มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตการศึกษาอยู่ในมือใคร?” โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หากสนใจเข้าร่วมสามารถติดตามข่าวสาร และลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์คนไทย 4.0 (http://www.khonthai4-0.net/) หรือรับชมผ่าน Facebook live ที่เพจคนไทย 4.0 (https://www.facebook.com/Khonthai4.0/)

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image