คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน SMEs ไทยกับไต้หวัน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ไต้หวันวันนี้ การซื้อขายยังคงคึกคักที่ “ถนนคนเดินซีเหมินติ่ง” (Xi-Men Walkroad) ใจกลางกรุงไทเป

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ไต้หวันกับคณะ “นักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน” (วธอ.รุ่นที่ 6) ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้การกำกับดูแลของ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม” โดยกำหนดไปดูงานที่ กลุ่มบริษัท New Kinpo Group, Cal-comp Electronic ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก

“ซีเหมินติ่ง” นี้เป็นถนนซอยยาวเป็นกิโล สองข้างทางเป็นตึกแถวขนาดต่างๆ (ห้องเดียวบ้าง สองห้องบ้างหรือสองสามห้องตีทะลุถึงกันบ้าง) ทำเป็นร้านขายของทั่วไปต่างๆ นานา

ตึกแถวร้านขายของทั้งหมดใน “ซีเหมินติ่ง” นี้ มากกว่า 70-80% เป็นกิจการประเภท SMEs ที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเสื้อผ้าแฟชั่น ของที่ระลึก ของฝาก ขนมขบเขี้ยว อาหารทานเล่น ร้านขายยา ขายเครื่องสำอาง รวมตลอดถึงร้านนวดตัว นวดเท้า ทำผม แต่งหน้า ทาเล็บ เป็นต้น ในขณะที่ตึกแถวอีก 20-30% เป็นร้านขายสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก เช่น เสื้อผ้าแบรนด์ดัง รองเท้ากีฬา อุปกรณ์การกีฬาราคาแพง เป็นต้น อีกทั้งยังมีร้านฟาสต์ฟู้ดพวกแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด พิซซ่า อยู่ปะปนเป็นหย่อมๆ ในถนนคนเดินนี้ นอกจากนี้ ยังมีแยกซอยเล็กซอยน้อย ขายของจุกจิก และอาหารพื้นบ้านในบูธเล็กๆ ที่อยู่กันอย่างเป็นระเบียบในแยกซอยเล็กต่างๆ

Advertisement

ที่น่าสังเกตก็คือ ร้านขายสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก อยู่ปะปนกับร้านทั่วไปของ SMEs ไต้หวัน ได้อย่างกลมกลืนไม่ขัดเขิน

ระหว่างที่ผมเดินบนถนนคนเดินนี้ จะเห็นเด็กหนุ่มสาวยืนชูป้าย และตะโกนโฆษณาขายสินค้าในป้ายที่เสนอโปรโมชั่นต่างๆ ด้วย ผมเห็นโฆษณา “ไก่ทอด” หลายรายที่อธิบายสรรพคุณ “ไก่ทอด” ของตนเอง และเรื่องที่น่าตกใจจริงๆ ก็คือสินค้าบนแผ่นป้ายนั้น เป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก โดยเฉพาะพวกฟาสต์ฟู้ด ไก่ทอด และร้านกาแฟประเภทคอฟฟี่ช็อป

ผมเห็นคนไต้หวันจำนวนไม่น้อยที่ใจสู้ เพราะรู้ทั้งรู้ว่ามีร้านขาย “ไก่ทอด” ชื่อดังก้องโลกตั้งกระจัดกระจาย เต็มไปหมดทั่วประเทศ แต่ SMEs ที่ขาย “ไก่ทอด” ในไต้หวัน ก็ยังลุกขึ้นสู้ด้วย “ความแตกต่าง” ที่เป็นเอกลักษณ์ด้านรสชาติและคุณภาพ จนหลายรายมีแบรนด์ยี่ห้อของตนเองแล้ว เช่น ร้านราชาไก่ทอด มิสเตอร์ไก่ทอด ไก่ทอดซีเหมิน เป็นต้น

Advertisement

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ “SMEs” ของเกาหลี ที่มีร้านไก่ทอดชื่อดังมาเปิดขายในบ้านเราเพื่อสู้ไก่ทอดระดับโลก และไปได้ดีด้วย

ยิ่งมีคนมาบอกผมว่า ร้านขายไก่ทอด “4 ชิ้น 100 บาท” ที่ตั้งในบูธเล็กๆ (เป็นการเฉพาะกิจ) หน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง ทอดได้กรอบอร่อยมากจนคนซื้อต้องเข้าคิวยาว นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องที่เราไม่มี “เวที” ให้ SMEs ที่มีอนาคตได้โชว์ได้แสดง

วันนี้ที่ไต้หวัน ร้านขายของ “SMEs” จะเป็นตึกแถวถาวร (และอยู่ในระแวกถนนคนเดิน) แต่ของบ้านเรามักเป็นบูธเล็กๆ ขายเฉพาะกิจ (ขายในงานที่จัดชั่วคราว) คือต้องอาศัยงานแสดงสินค้าหรืองานนิทรรศการ จึงจะมีที่ขายแต่ก็ภายในเวลาที่จำกัด

นี่ยังไม่รวมถึงร้านขายของฝากอย่างเช่น ร้านขาย “พายสับปะรด” ในไต้หวันที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแย่งกันซื้อเหมือนกับได้ฟรี ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image