เขตคลองภาษีเจริญ : โดย บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช

จุดเริ่มต้นคลองภาษีเจริญ จากบริเวณวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

เขตภาษีเจริญ อาจไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคย ด้วยที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะเป็นเขตใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 17 ตารางกิโลเมตรก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ขยายเส้นทางไปฝั่งธนบุรี ก็ทำให้ผู้โดยสารเริ่มรู้จัก บางหว้า สถานีหนึ่งที่อยู่ในเขตภาษีเจริญมากขึ้น

ที่มาของนามเขต
นามเขตภาษีเจริญ มีที่มาจากนามคลองภาษีเจริญ คลองโบราณที่มีมาแต่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพบในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ดังนี้

…เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2410 โปรดฯให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) เจ้าภาษีฝิ่น เปนแม่กลองขุดคลอง กว้าง 7 วา ลึก 5 ศอก แต่คลองบางกอกใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ริมวัดปากน้ำออกไปเมืองนครไชยศรี ที่ตำบลดอนไก่ดี

เปนระยะทาง 620 เส้น หักเงินภาษีฝิ่นพระราชทานเปนค่าจ้างขุดคลอง 112,000 บาท พระราชทานนามว่า คลองภาษีเจริญ …แต่ขุดแล้วเสร็จใน พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดคลองนี้เมื่อเดือน 6 ปีมะเมีย …

Advertisement

การขุดคลองภาษีเจริญในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งเป็นหลัก สืบเนื่องมาจาก ข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ทำให้การค้าขายส่งออกกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรของไทย ที่เป็นที่ต้องการในต่างประเทศ คือน้ำตาล โดยมีแหล่งรับซื้อรายใหญ่อยู่ที่ สิงคโปร์ บอมเบย์ และอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ ทำให้พื้นที่ทางด้านตะวันตกของพระนคร โดยเฉพาะ ริมแม่น้ำนครชัยศรี กลายเป็นแหล่งปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาล ดังมีสถิติ แสดงว่า ในช่วง พ.ศ.2393-2410 มีจำนวนโรงงานน้ำตาล มากถึง 23 แห่ง

ในยุคสมัยที่ยังอาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลักนั้น เพื่อให้การลำเลียงน้ำตาลจากแหล่งผลิต มายังท่าเรือในกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วขึ้น จึงมีการขุดคลองต่างๆ เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ และคลองดำเนินสะดวก ฯลฯ

คลองภาษีเจริญ
การขุดคลองภาษีเจริญนั้น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) ผู้เป็นเจ้าของกิจการ โรงจักรหีบอ้อยที่บ้านดอนไก่ดี (ดอนกะฎี) ริมแม่น้ำนครชัยศรี แขวงเมืองสมุทรสาคร และยังเป็นเจ้าภาษีฝิ่นอีกด้วย ได้กราบบังคมทูล ขอให้มีการขุดคลอง จากบ้านดอนไก่ดี มาออกคลองบางกอกใหญ่ ริมวัดปากน้ำเพื่อให้การขนส่งน้ำตาลมายังกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็วขึ้น

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว มีพระราชดำริเห็นด้วย แต่เนื่องจากในปีนั้น มีการยกเลิก อากรสวนใหญ่ และเก็บภาษีข้าวไม่ได้มาก ทำให้พระราชทรัพย์หลวงมีไม่พอจ่าย พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ จึงได้กราบบังคมทูลว่า ในเมืองอื่นๆ การขุดคลอง ไม่ต้องใช้เงินแผ่นดิน หากแต่ใช้วิธีเรี่ยไรกัน ถ้ายังไม่พอเขา จึงขออำนาจแผ่นดินช่วย โดยได้ถวายความเห็นเป็น 2 อย่าง คือ 1.เก็บเงินจากเรือแพที่เดินเข้าออก 2.ตั้งโรงหวยที่เมืองนครไชยศรี และเมืองสมุทรสาคร 3 ปี เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าจ้างขุด

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานบรมราชานุญาตให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ดำเนินการขุดได้ โดยให้หักเงินภาษี ในส่วนที่จะต้องส่งเข้าคลัง เป็นค่าจ้างขุดคลอง ทั้งนี้ ยังพบประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ปี พ.ศ.2429 เรื่อง คลองภาษีเจริญตื้นเขิน มีข้อความดังนี้

…ด้วยคลองภาษีเจริญเปนคลองที่ได้ต่อติดกับลำน้ำเมืองนครไชยศรี เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเปิดให้ราษฎรเดินไปมาค้าขายในทางนั้น ราษฎรก็ได้บรรทุกสินค้าตามหัวเมืองในลำน้ำเมืองนครไชยศรีไปมาค้าขาย ตลอดถึงลำน้ำเจ้าพระยาง่ายสะดวกขึ้น เปนการเจริญยิ่งกว่าแต่ก่อน แต่คลองภาษีเจริญนี้ เปนคลองน้ำชน มักจะเกิดมูลดินขึ้นตื้นเร็ว … บัดนี้ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าราษฎรได้ความลำบากเพราะคลองตื้นเสียไปอีกเปนที่ขัดขวาง ในที่จะไปมาค้าขายต้องจ้างกระบือชักลากจึ่งไปมาได้ เปนเหตุให้พ่อค้าท้อถอยในการที่จะทำมาหากินเพราะได้ถูกความยากลำบาก มีพระราชประสงค์จะให้การค้าขายในพระราชอาณาเขตรมีความเจริญขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตรวจตำบลคลองที่ตื้นแลเบิกพระราชทรัพย์ จัดจ้างจีนขุดลอกคลองในตำบลที่ตื้นเสียไป…

อีกทั้ง มีพระราชดำริว่า เมื่อได้จัดการซ่อมเสร็จแล้ว ถ้าทิ้งไว้ ไม่มีการรักษา ก็จะกลับตื้นเขินไปเหมือนครั้งก่อนๆ อีก จึงโปรดเกล้าฯให้กระทรวงเกษตราธิการออกข้อบังคับในการดูแลรักษาคลองภาษีเจริญ ซึ่งมีหลายข้อที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

…ให้ยกเว้นที่ริมคลองภาษีเจริญไว้เปนถนนหลวง สำหรับเปนทางโยง ฝั่งละ 6 ศอก ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดปลูกสร้างสิ่งใดลงในเขตร์ถนนหลวง เว้นไว้แต่จะทำสะพานท่าน้ำที่ไม่มีหลังคาแลไม่ยื่นพ้นตลิ่งออกมาเกิน 3 ศอก…ให้มาขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานรักษาคลองก่อน

…บรรดาเรือที่จะเดินในคลองภาษีเจริญนี้ ให้เดินทางฝั่งขวามือของตนทุกเมื่อ…ห้ามมิให้จอดเรือกลางคลองแลจอดขวางลำ แลห้ามมิให้เรือใหญ่ที่มีขนาดปากกว้างตั้งแต่ ๕ ศอกขึ้นไปจอดซ้อนลำกัน ถ้าผู้ใดทำผิดต่อข้อนี้ ให้ปรับผู้นั้นเปนเงินเกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับแลจำด้วย…

ดังนั้น การเดินเรือในคลองภาษีเจริญ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับเรือกลไฟขนาดใหญ่ วาละ 32 อัฐ (เท่ากับ 1 บาท) เรือใช้สอยหรือเรือบรรทุกขนาดตั้งแต่ 3 วาขึ้นไป (6 เมตร) วาละ 12 อัฐ เรือขนาดย่อม ยาวต่ำกว่า 3 วา ลำละ 8 อัฐ ต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติรักษาคลอง ยังเริ่มทดลองใช้ที่คลองภาษีเจริญ เป็นแห่งแรก

ประตูน้ำคลองภาษีเจริญ

พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม)
พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) ต้นตระกูล พิศลยบุตร เป็นบุตรของ หลวงบรรจงวานิช (เหล่าบุ่นโข่ย) พ่อค้าที่มาจากประเทศจีน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้คนในสมัยนั้นมักจะเรียกขานว่า เจ้าสัวยิ้ม เพราะนอกจากจะร่ำรวยแล้ว ยังริเริ่มสร้างสาธารณประโยชน์ ให้แก่แผ่นดินไทยหลายประการ และยังเป็นเจ้าของเรือเจ้าพระยา เรือกลไฟลำแรกของคนไทย ที่ให้บริการรับ-ส่ง ผู้โดยสารและสินค้า ระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ในปี พ.ศ.2401 เป็นต้น

พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เข้ารับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตำแหน่ง ขุนปักษาไสยวานิช เป็นนายอากรรังนก ต่อมารับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงภาษีวิเศษ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ และ พระยาพิสณฑสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุด เจ้าสัวยิ้มและคุณปรางผู้เป็นภรรยา มีบุตรหลายคน ได้แก่ หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม) เจ้าจอมมารดาอ่วม เจ้าจอมเอม เจ้าจอมช่วง ในรัชกาลที่ 5 หม่อมลมุน หม่อมหุ่นและหม่อมศรี ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์

แผนที่แสดงแนวคลองภาษีเจริญจากคลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มาถึงแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ที่มา แผนที่มณฑลนครชัยศรีในสมัยรัชกาลที่ ๖

เจ้าจอมมารดาอ่วม มีพระเจ้าลูกยาเธอเพียงพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าชายกิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือนเจ็ด ปีจอ (ปี พ.ศ.2417) ชาววังในสมัยนั้น ที่เจ้าบทเจ้ากลอน มักจะล้อว่า ปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก พระองค์เจ้าชายกิติยากรวรลักษณ์ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรก หนึ่งในสี่พระองค์ ที่เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เมื่อเสด็จกลับ ทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ และกรมศึกษาธิการ ได้รับการเฉลิมพระนามเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ในรัชสมัย สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงการคลังคลังมหาสมบัติ และได้รับการเฉลิมพระพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ และเลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง และกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ใน พ.ศ.2459 ต่อมาในปี 2477 ทรงรับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ อภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน พระธิดาพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรประการ มีพระโอรสธิดารวม 12 พระองค์ พระโอรสองค์ที่ 3 คือ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2495 สมรสกับหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ มีโอรสธิดา รวม 4 ท่าน

โดยพระธิดาลำดับที่สาม คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ต่อมาอภิเษกสมรสกับ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ จึงมีศักดิ์เป็นพระอัยกา (ปู่) ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปัยกา (ทวด) ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

แผนที่แสดงแนวคลองภาษีเจริญ และคลองอื่นๆ (หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมฯ จุฬาฯ)

หลวงสาทรราชายุกต์
หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) หรือเจ้าสัวยม บุตรชายคนหนึ่งของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เคยไปศึกษาในประเทศสิงคโปร์ จึงมีความรู้กว้างขวางและพูดได้หลายภาษา นอกจากจะเข้ารับราชการ เป็นนายภาษีแล้ว ยังเป็นทายาทผู้สืบทอดกิจการต่างๆ ต่อจากเจ้าสัวยิ้ม รวมทั้งเป็นผู้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกบริเวณถนนเจริญกรุง ไปบรรจบกับคลองถนนตรง ที่ชาวบ้านเรียกขานว่า คลองพ่อยม คลองเจ้าสัวยม ดินที่ขุดขึ้นมาก็ใช้ถมเป็นถนนทั้งสองฝั่ง ปัจจุบันคือ ถนนสาทรเหนือ และถนนสาทรใต้ รวมทั้ง ตัดแบ่งพื้นที่สองข้างถนนเป็นแปลงใหญ่ ขายให้พ่อค้า คหบดี และชาวต่างประเทศ จนกลายเป็นถิ่นพำนักของชาวต่างประเทศ ในเวลาต่อมา และกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

อำเภอภาษีเจริญ
เมื่อมีการขุดคลองภาษีเจริญ ทำให้ผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอาศัยมากขึ้น เกิดเป็นชุมชน และเป็นอำเภอภาษีเจริญขึ้นเมื่อ พ.ศ.2442 ต่อมาในปี พ.ศ.2458 มีการจัดตั้งจังหวัดธนบุรี อำเภอภาษีเจริญ จึงเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดอำเภอของจังหวัดธนบุรี รวมทั้งเมื่อมีการรวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนคร เข้าด้วยกันเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2515 ที่ยุบการปกครองท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลและเทศบาล เปลี่ยนการเรียกตำบลและอำเภอ ใหม่

เขตภาษีเจริญ
นับแต่นั้นมา อำเภอภาษีเจริญ จึงเปลี่ยนฐานะเป็น เขตภาษีเจริญ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 มีหน่วยการปกครองย่อย 10 แขวง แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการแบ่งแยกเขตเพิ่ม จึงเหลือเพียง 7 แขวง คือ บางหว้า บางด้วน บางจาก บางแวก คลองขวาง ปากคลองภาษีเจริญ และคูหาสวรรค์ โดยมีอาณาบริเวณดังนี้

ทิศเหนือ ติดเขตตลิ่งชัน มีคลองบางเชือกหนังเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศตะวันออก ติดกับเขตบางกอกใหญ่และเขตธนบุรี มีคลองบางกอกใหญ่และคลองด่านเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศใต้ ติดกับเขตจอมทองและเขตบางบอน มีคลองวัดนางชี (คลองวัดเพลง) คลองตาม่วง คลอดวัดโคนอน (คลองวัดอ่างแก้ว) คลองบางหว้า คลองสวนหลวงใต้ คลองรางบัว คลองตาฉ่ำ คลองบางประทุน คลองวัดสิงห์ และคลองบางโคลัด เป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศตะวันตก ติดกับเขตบางแค มีคลองพระยาราชมนตรี คลองบางแวก คลองบางไผ่ คลองลัดตากลั่น เป็นเส้นแบ่งเขต

โดยทั่วไปนั้น จะมีการตกลงกันระหว่างสองพื้นที่ หรือชุมชน ที่มีความสัมพันธ์กันว่าบ้านพี่เมืองน้อง แต่สำหรับ เขตภาษีเจริญ และเขตสาทร ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกัน แต่ในฐานะ บ้านพ่อเมืองลูก ด้วยคลองภาษีเจริญนั้นเกิดจากเจ้าสัวยิ้มผู้พ่อ และคลองสาทรนั้นเกิดจากเจ้าสัวยมผู้ลูก

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image