บริบท เปลี่ยนแล้ว บิ๊กตู่ ต้องปรับ ก่อนจะสายเกินไป

ในที่สุดประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณบานปลายไปเรื่อยๆ

ล่าสุด พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับเรื่องที่ร้องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯเอาไว้พิจารณา คาดว่าวันที่ 27 สิงหาคม น่าจะมีคำตอบ

ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านได้เดินหน้าทวงถามความรับผิดชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ใช้อำนาจตามมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญ ยื่นกระทู้ถามนายกฯ แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าติดภารกิจไปตอบกระทู้ไม่ได้

Advertisement

สัปดาห์แรกระบุว่า ติดภารกิจไปตรวจเยี่ยมภาคใต้ สัปดาห์ต่อมาติดภารกิจร่วมกิจกรรมจิตอาสา

พรรคฝ่ายค้านจึงใช้วิธีใหม่ ใช้อำนาจตามมาตรา 152 ยื่นซักฟอกโดยไม่ต้องโหวตลงคะแนน

มาตรา 152 กำหนดให้ ส.ส.จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติได้

Advertisement

เหตุที่พรรคฝ่ายค้านต้องใช้มาตรานี้เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจง

ต้องการดึงให้นายกฯปฏิบัติอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับถวายสัตย์ฯครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างยุค คสช.กับยุคปัจจุบัน

ยุค คสช.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 แต่เมื่อหมดสิ้นอำนาจตามมาตรา 44

พล.อ.ประยุทธ์ต้องกลับมาปฏิบัติตามกฎหมาย และจารีตประเพณี

หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณี กระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ จะปะทุขึ้น

คำถามเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯที่ พล.อ.ประยุทธ์นำกล่าวไม่ครบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่เห็นได้ชัด

พรรคฝ่ายค้านยื่นกระทู้ตามมาตรา 150 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์มาตอบในสภา

ถือเป็นการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร

และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมมาตอบกระทู้ พรรคฝ่ายค้านจึงใช้มาตรา 152 ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถาม

ยังคงเหลือมาตรา 151 ที่เปิดช่องให้ยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

แต่พรรคฝ่ายค้านยังรอเวลา

การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวกับการตอบกระทู้ คล้ายกับการปฏิเสธการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

น่าสังเกตหากเป็น พล.อ.ประยุทธ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว การปฏิเสธดังกล่าวอาจจะมีเสียงเชียร์

แต่การปฏิเสธในปัจจุบัน เสียงที่เคยเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์กลับลดน้อยถอยลง

ย่อมสะท้อนให้เห็น “ต้นทุน” ของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่เหมือนเดิมแล้ว

ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่างให้เครดิต และแสดงความชื่นชม

กระทั่งเกิดการยึดอำนาจ ท่าทีที่มีต่อคณะรัฐประหารก็อ่อนละมุน

แต่ขณะนี้ปฏิกิริยาที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์นั้นแตกต่างไป แม้แต่กลุ่มชนชั้นที่เคยสนับสนุนบิ๊กตู่ก็เริ่มส่งสัญญาณ “ไม่เอา”

เสียงเชียร์ที่เคยสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในยุค คสช.จึงค่อยๆ เงียบหาย

เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับตัว

สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อ คสช.หมดอำนาจไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม

ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และสามารถถ่วงดุลกันตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร แม้จะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม แต่ฝ่ายนิติบัญญัติที่เดิมคือ สนช.นั้น บัดนี้กลายเป็นรัฐสภา ที่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรมีตัวแทนจากประชาชนจำนวน 500 คน

ใน 500 คน มีผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี 253 คน แต่อีก 247 คน ไม่สนับสนุน

ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น

พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญหน้ากับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

กรณีการเสนอชื่อนายกฯ ที่มีคำร้องว่าข้ามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ กรณีการถวายสัตย์ฯของ ครม. กรณีการแถลงนโยบายรัฐบาลโดยไม่ได้แจ้งที่มาของเงินตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

นั่นเป็นตัวอย่างการตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของโลก และเศรษฐกิจไทยนั้นไม่สู้ดีนัก ในสภาวการณ์นี้จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เชี่ยวชาญ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ชำนาญทางการทหาร มุ่งเน้นความมั่นคง แต่ประเทศต้องการผู้รู้ทางเศรษฐกิจ

การที่มี ครม.เศรษฐกิจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน จึงเป็นคำถามว่าจะรับมือสถานการณ์ได้ไหม

นอกจากนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียง “ปริ่มน้ำ” ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงมาจากหลายพรรค

คำถามเรื่องเอกภาพในการนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตจึงกลายเป็นอีกคำถาม

แม้ 5 ปีรัฐบาล คสช.จะได้รับการยกย่องจากกองเชียร์ว่า ทำให้ กปปส.หยุดชุมนุม ยุติการชัตดาวน์ สกัดกั้นการเผชิญหน้าของม็อบกับม็อบ และอื่นๆ

แต่หลังจากรัฐบาล คสช.บริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง ปัญหาต่างๆ กำลังย้อนกลับมา ทั้งการส่งออกทรุดอีก ยอดนักท่องเที่ยวหายไป การลงทุนไม่คืบหน้า กำลังการใช้จ่ายไม่เพียงพอ เป็นต้น

ยิ่งระยะท้ายๆ คล้ายกับว่ารัฐบาลจะหมด “หมัดเด็ด” ทางเศรษฐกิจ

ยิ่งส่งผลกับความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าบริบทรอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ทั้ง “ต้นทุน” ที่มีอยู่ ทั้งโจทย์ปัญหาของประเทศที่ยากขึ้น และการตรวจสอบที่เข้มข้น

จึงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบต่อไปว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่นี้ได้มากน้อยเพียงใด

การฝืนกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีตามครรลองประชาธิปไตยจะยิ่งทำให้รัฐบาลเหนื่อยมากขึ้น

พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำสนับสนุนรัฐบาลได้ปรับตัว ล่าสุดดึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาดูแลยุทธศาสตร์

นั่นเป็นการปรับตัวของฝ่ายรัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติ

เหลือแต่ฝ่ายบริหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า ต้องดูว่าจะปรับตัวเช่นไร

จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

อย่าปล่อยให้สายเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image