เมื่อวานของ 50 ปีที่แล้ว โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

วันที่ 15-16-17 สิงหาคม เมื่อ 50 ปีมาแล้ว

มีการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติอุบัติขึ้น

วูดสต๊อก มิวสิก แอนด์ อาร์ต แฟร์

เป็นปรากฏการณ์ขีดสุดของ บุปผาชน กับวัฒนธรรมแสวงหาร่วมสมัย ในท่ามกลางความสับสนและสุดโต่งของสังคมอเมริกันช่วงนั้น

Advertisement

(อ่าน คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส ของ ปิยมิตร ปัญญา ในมติชนรายวัน 11 สิงหาคม 2562)

ภายใต้สโลแกน สันติภาพ, ความรัก และ ดนตรี

ที่ นิวยอร์ก ไทมส์ ตีตราว่าคือ มหกรรมแห่งความสกปรกและยุ่งเหยิง

Advertisement

ด้วยมันสุดขั้ว ทั้งเซ็กซ์ ยาเสพติด และการใช้ชีวิต

สะท้อน ภาวะการปะทะกันของคนต่างรุ่น (Clash of Generations) ชัดเจนครั้งหนึ่ง

“ผู้ใหญ่” หรือ คนรุ่นก่อนหน้า มองด้วยสายตา รังเกียจ เหยียดหยาม

พร้อมๆ ความห่วงใย ว่าสังคมที่คนรุ่นใหม่ล่องลอยในความฝันเช่นนี้ จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร

กลุ่มขวาจัดบางกลุ่ม และคนในกองทัพบางส่วน มองว่าคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ถูกล้างสมองโดยคอมมิวนิสต์

ให้ใช้ชีวิตแหลกเหลว นำไปสู่ความอ่อนแอทุกด้าน

ในร่างทรง ฮิปปี้

ฮิปปี้ที่วิกิพีเดียไทยระบุว่า เริ่มต้นในสหรัฐช่วงต้นทศวรรษ 1960 และได้แพร่วัฒนธรรมนี้ไปทั่วโลก

ฮิปปี้เป็น Generation ที่แทรกเข้ามาในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นยุคของเบบี้บูม

ผู้คนอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง มีความสุข กับการแต่งงาน มีลูก มีรถ มีบ้าน มีหน้าที่การงานที่ดี

ภายใต้ค่านิยมทางสังคม American dream

จนเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

และสถาบันของรัฐสั่นคลอนด้วยวิกฤตศรัทธาต่างๆ อย่างคดีวอเตอร์เกต

คนอเมริกาสับสน สิ้นหวัง

ผู้ใหญ่-ชนชั้นปกครอง บางส่วนหวังจะดึงความยิ่งใหญ่กลับคืน

จึงหันเหเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามที่ตัวเองเคยชนะและภูมิใจ

สงครามเวียดนาม คือทางเลือก

แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ภาคภูมิเช่นเดิม

คนหนุ่มสาวหลายพันคนถูกส่งไปรบเวียดนามหวังเพื่อไปเอาชนะคอมมิวนิสต์

แต่ยิ่งรบ ยิ่งมีแต่เพิ่มความเสียหาย และการสูญเสีย

จนอเมริกันหนุ่มสาว ทั้งนักศึกษา หรือทหารผ่านศึก ทนไม่ไหว รวมตัวประท้วงผู้ใหญ่และเรียกร้องให้ยุติสงคราม

เกิดเป็นขบวนการฮิปปี้ หรือบุปผาชน มุ่งฟื้นฟูค่านิยมความรัก และสันติภาพ

ธง Make love not War ถูกโบกสะบัด

ท้าทายรัฐบาล และกองทัพ

วูดสต๊อก มิวสิก แอนด์ อาร์ต แฟร์ ที่มีฮิปปี้เข้าร่วมกว่า 5 แสนคน

แม้จะถูกตราหน้าอย่างรังเกียจว่าคือความเสื่อมโทรมแห่งยุคสมัย

แต่ วูดสต๊อก เต็มไปด้วยวิญญาณขบถ วิญญาณเสรี แสวงหา ก่อแรงกระแทกเข้าใส่ ศูนย์กลางมหาอำนาจโลกระลอกแล้วระลอกเล่า

ที่สุดก็ต้องยอม ถอนตัวออกจากสงคราม และกลับมาบูรณะสังคมของตนใหม่ ที่ไม่ให้ กระบอกปืนนำอีกต่อไป

แนวทางใหม่นี้ คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่เกี่ยวกับ ฮิปปี้ หรือ บุปผาชน

แต่กระนั้น สังคม ก็ผ่านการเรียนรู้ที่จะไม่หวนคืนไปใช้ชีวิตสุดขั้วในนิยามของฮิปปี้แบบเดิม

เก็บไว้เฉพาะ “สิ่งร่วม” ที่ผู้คนรับได้

นั่นคือ สันติภาพ เสรีภาพ และจิตวิญญาณขบถของหนุ่มสาว

ขณะเดียวกัน คำว่า “สันติภาพ” ก็ได้หยั่งรากฝังลึก ทำให้โลกนี้ มีภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดสงครามหรือการสู้รบอย่างไร้เหตุผล

สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะคนหนุ่มสาว-คนรุ่นใหม่ ได้ผ่านการแสวงหา เรียนรู้

ผ่านการลองผิด-ลองถูก มาอย่างหนัก เข้มข้นและต่อเนื่อง

จึงไม่ถูกต้องนัก ที่จะมีใคร จำกัด ขัดขวางขบวนการเรียนรู้นี้

โดยใช้ความเป็นผู้ใหญ่ หรือ ผู้มีอำนาจ ชี้นิ้ว สรุป

ดังใน “50 ปี ปัจจุบัน” ที่มีผู้ใหญ่ชิงรวบรัดว่าว่าคนหนุ่มสาวกำลังถูกล้างสมอง

ทั้งที่พวกเขามีสิทธิคิด แสวงหา และขบถ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image