จริยธรรมกับความตาย… โดย เฉลิมพล พลมุข

ความเป็นมนุษย์หรือคนเมื่อมีวิถีชีวิตอยู่ในบ้านเมืองหรือสังคมใดสังคมหนึ่งพฤติกรรมที่พึงประสงค์หนึ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกถือเป็นแบบอย่างสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่บริบทต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความยั่งยืนตลอดถึงความมีชื่อเสียงของประเทศนั้นๆ ก็คือพฤติกรรมของคนในชาติที่มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ทั้งหลักการของศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อและกฎหมายของบ้านเมือง

ข้อมูลหรือข่าวหนึ่งที่อยู่ในหน้าของสื่อเกือบทุกประเภททั้งในสังคมไทยเราและสื่อต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง กรณีนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 56 ปี เสี่ยเจ้าของธุรกิจผลิตและประกอบอะไหล่รถยนต์ ได้เป็นจำเลยในฐานความผิดขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหายรวมสามข้อหา

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 23.30 น. เมื่อรถเบนซ์ หมายเลขทะเบียน บฮ 789 ได้ขับรถดังกล่าวในถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ได้มีอุบัติชนกับรถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ ทะเบียน 2กก 3653 เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ป. เสียชีวิตอยู่ในรถยนต์ และพบนางนุชนาฏ งามสุวิชชากุล ภรรยา และบุตรสาวอายุ 12 ปี ที่นั่งมาด้วยได้รับบาดเจ็บ ต่อมานางนุชนาฏก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

เราท่านที่ได้ติดตามถึงกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นๆ ที่ผ่านวันเวลาในอดีตของสังคมไทยเราที่ผ่านมา มีคนขับรถประมาทเมาแล้วขับขี่รถด้วยมิสามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์และมีความผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้ผู้อื่นที่เป็นผู้บริสุทธิ์ถึงแก่ความตายตามท้องถนนหนทางในสังคมไทยเรามีอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวมีทั้งคำถามและคำตอบที่รัฐจักต้องให้ความกระจ่างแก่สาธารณชน ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านมักจะได้ยินได้ฟังมาก็คือ ผู้ที่ขับรถชนให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วหนีทั้งความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินที่เสียหายและชีวิตที่ถึงความ
พิการที่ต้องรับการฟื้นฟูตลอดชีวิตรวมถึงความตายที่มิสามารถประเมินทั้งมูลค่าของชีวิตทั้งของผู้ที่ตายไปและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในครอบครัว เราท่านจักมีท่าทีอย่างไรกับกรณีดังกล่าว…

Advertisement

คดีความของจำเลยนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ ที่ได้ขับรถชนคนตายและบาดเจ็บตั้งแต่ในวันแรกของคดีดังกล่าว ภาพหรือข้อมูลหนึ่งที่สื่อได้นำเสนอต่อสังคมมาโดยตลอดก็คือ เขาแสดงความจำนงถึงความรับผิดของกฎหมายและรับผิดชอบต่อการกระทำต่อครอบครัว พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล ทั้งการไปกราบขอโทษครอบครัวของเขา อยู่ร่วมในงานศพรวมถึงการบวชตามประเพณีหน้าไฟในวันฌาปนกิจดังกล่าว หลังจากนั้นเขายอมจะจ่ายเงินชดเชยเยียวยาต่อครอบครัวในจำนวนเงิน 45 ล้านบาท และเยียวยาครอบครัวพี่สาวของนางนุชนาฏ ก็คือนางขนิษฐา เลิศวรจักรพงษ์ และรับผิดชอบต่อภาระเลี้ยงดูบุตรทั้งสองรวมเป็นเจ็ดชีวิต โดยมอบเงินให้กับบุตรสาวทั้งสองของผู้เสียชีวิตคนละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกเดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นสี่หมื่นบาทตลอดระยะเวลา 8 ปี

คำพิพากษาของศาลประกอบการรับสารภาพของจำเลยในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 2284/2562 จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.291, 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.43 (2) (4) 67 วรรคหนึ่ง, 152, 157, 160 ตรี วรรคสี่ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุรา มาตรา 43 (2) ซึ่งเป็นบทหนักสุดให้จำคุก 6 ปี และปรับ 200,000 บาท โดยจำเลยให้การสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 ปี พร้อมปรับ 100,000 บาท และมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
รวมถึงสั่งห้ามจำเลยดื่มสุรา-เบียร์ เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด และให้จำเลยต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี รวมถึงต้องทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 48 ชั่วโมง… (มติชนรายวัน 2 สิงหาคม 2562 หน้า 12)

สิ่งหนึ่งในกรณีดังกล่าวที่เราท่านสามารถสัมผัสได้ก็คือ ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองโดยประมาทของจำเลยทั้งต่อกฎหมายคดีความ และรับผิดชอบทั้งการชดใช้เป็นจำนวนเงิน ความรู้สึกด้านจิตใจที่ครอบครัวเขาโดยเฉพาะบุตรสาวทั้งสองที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองไปอย่างไม่มีวันกลับมา จำนวนเงินที่ได้มาคงจะมิอาจจะทดแทนชีวิตของเขาที่ได้ขาดทั้งความรักความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ผู้ปกครองบังเกิดเกล้า ภาพหนึ่งที่เราท่านบางคนอาจจะได้พบเห็นหลังการตัดสินพิพากษาคดีของศาลก็คือ บุตรสาวของผู้เสียชีวิตได้โอบกอดต่อจำเลยที่ได้ขับขี่ขณะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้พ่อแม่ของตนเองเสียชีวิตไป ภาพดังกล่าวมิได้ปรากฏในสังคมไทยเรามากนัก มโนธรรมและความรับผิดชอบต่อการกระทำเป็นคุณธรรมจริยธรรมในหลักการพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ ยังคงมีอยู่ในความเป็นคนไทยเราที่ดียังปรากฏให้เห็นในสังคมไทยเรา

Advertisement

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีตัวเลขของจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนหนทางในเมืองไทยเราเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศลิเบีย หรือเท่ากับ 36.2 ต่อประชากร 1 แสนคน และอยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย หรือทุกๆ 25 วินาที พบคนไทยตาย 1 คน หรือมีการตายที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุดังกล่าวถึง 1.25 ล้านคน:ปี และตัวเลขหนึ่งของ Workpoint News ที่ได้รายงานถึงเจ็ดวันอันตรายช่วงสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2562 เฉพาะระหว่างวันที่ 27-31 ธันวาคม 2561 พบว่ามีอุบัติเหตุ 2,761 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,848 คน และ
มีผู้ที่เสียชีวิต 314 คน โดยพบสาเหตุดังกล่าวมาจากดื่มแล้วขับร้อยละ 44.82 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.88 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเส้นทางตรงร้อยละ 59.58 และการเสียชีวิตช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2562 (11-17 เมษายน) ที่ผ่านมาพบว่ามีอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,442 คน มีผู้เสียชีวิต 386 คน (tcijthai.com)

จากตัวเลขข้อมูลดังกล่าวทั้งระดับโลกและในระดับของเอเชีย เมืองไทยเรายังไม่มีความปลอดภัยทางถนนหนทางที่สูงสุด การบาดเจ็บพิการต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญของร่างกายทำให้สูญเสียโอกาสการทำงาน ความตายทั้งของผู้ที่เมาประมาทในการขับขี่หรือผู้ที่บริสุทธิ์ที่เป็นเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าว ประเมินมูลค่าทั้งคุณค่าความเป็นชีวิตมนุษย์หรือมูลค่าด้วยจำนวนเงินคงไม่มีตัวเลขใดมาประเมินในความเป็นจริงได้ พลังแรงงานรายได้ในมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้มีการสูญหายไปอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มารับภาระของการเป็นรัฐบาลภาค 2 จะให้ความสนใจหรือใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในกรณีดังกล่าวหรือไม่…

กรณีเสี่ยรถเบนซ์ที่ชนคนจากการเมาแล้วขับเขาได้แสดงความจำนงทั้งต่อศาล ญาติครอบครัวของผู้เสียหายและสื่อที่ได้นำเสนอถึงเรื่องราวดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่อาจจะถูกมองได้จากสังคมก็คือตัวของเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีความสามารถรับผิดชอบในการชดใช้หรือชดเชยจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมิได้เดือดร้อนจากครอบครัวของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เยียวยาทั้งความรู้สึกของผู้เสียหายและผู้คนทั่วไปทั้งสังคมไทยเราก็คือคุณธรรม จริยธรรมที่มีหลักการที่ว่า สิ่งใดควร-มิควร ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในพฤติกรรมส่วนหนึ่งทั้งของคนไทยเราและคนทั่วโลก และบริบทหนึ่งสำคัญยิ่งของรัฐนาวารัฐบาลปัจจุบันจักก้าวข้ามสิ่งที่ยังคงสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยได้หรือไม่

ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านที่คาดหวังการทำงานหนึ่งของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เข้ามารับผิดชอบรัฐนาวาที่มีประชากรเจ็ดสิบล้านคนทั่วประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของความเป็นผู้นำประเทศในภาพรวม สภาพปัญหาหนึ่งที่คนไทยได้พบอุบัติเหตุทางถนนหนทางที่เกี่ยวเนื่องกับรถประเภทต่างๆ ในสังคมไทยเราก็คือ การขับขี่โดยประมาท เมาแล้วขับ การดัดแปลงเครื่องรถประเภทต่างๆ ทั้งมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะเด็กแว้นที่ได้สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่อง การตรวจจับยึดของกลางที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกระบวนการด้านความยุติธรรมยังคงมีคดีความที่ล้นโรงพัก ล้นศาล และจำนวนเด็กเยาวชนวัยรุ่นวัยเรียนต่างก็ไปใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถานเป็นจำนวนมาก รัฐจักแก้ไขในปัญหาดังกล่าวในรัฐบาลนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปได้หรือไม่

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านจะปฏิเสธมิได้ก็คือ เมืองไทยเราถูกจัดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรกมาจนกระทั่งถึงฉบับที่ 12 ปัจจุบัน (พ.ศ.2560-2564) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน
การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ การพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในวาระสำคัญหนึ่งที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมว่าจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ความตายและการตาย อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีผู้คนพิการ บาดเจ็บจำนวนมากในสังคมไทยเราจะอยู่ในวาระสำคัญของชาติเป็นวาระแรกๆ ด้วยหรือไม่

ราคาหรือต้นทุนชีวิตของคนไทยเราจากความปลอดภัยการเดินทางสัญจรไปบนถนนหนทางทั่วประเทศทั้งในยามปกติต้องปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือในยามที่ต้องไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนในช่วงเทศกาลสำคัญที่มีวันหยุดยาวหลายวัน

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านได้รับรู้ในข้อมูลเชิงประจักษ์ก็คือการรายงานตัวเลขของอุบัติเหตุ การเจ็บการตายในรายชั่วโมง รายวันและรายสัปดาห์ ข้อมูลในตัวเลขที่มีผู้คนต้องล้มตายไปจำนวนที่มากกว่าอุบัติเหตุทางเครื่องบินตกทั่วโลก การเกิดประท้วงที่มีการยิงกันด้วยอาวุธสงครามที่ขัดแย้งกับรัฐบาล และโรคระบาดบางชนิด จักได้รับความสนใจทั้งตัวเลขข้อมูลและหลักวิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืนของรัฐบาลหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลนี้ได้กล่าวอ้างถึงผลงานและความสำเร็จต่างๆ ของรัฐบาลที่แล้วมา สิ่งหนึ่งที่เราท่านพบเห็นเชิงประจักษ์ก็คือการแก้ไขปัญหาด้วยมาตรา 44 ที่ดูเสมือนว่าจะเป็นดาบที่จะมีความแหลมคมอยู่สองด้าน ทั้งความสงบเรียบร้อยของประเทศที่คนไทยส่วนหนึ่งมิต้องประหัตประหารกันทางความคิด ความเชื่อ ความรู้ ขั้ว สี ฝ่ายทางการเมืองให้ยุติไปชั่วคราว ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ปัญหาปากท้องของประชาชนที่รัฐได้จัดให้มี “บัตรคนจน” จำนวนมากกว่าสิบล้านคน หนี้สินนอกระบบที่ยังคงพบการทวงหนี้ที่ทำร้ายร่างกายลูกหนี้ทั้งบาดเจ็บบางคนถึงแก่ชีวิต ยังคงมีให้พบเห็นอยู่ในสังคมไทย

กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงมหาดไทย ที่นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้าไปบริหารจัดการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงการปฏิรูปตำรวจในภาพรวม กระทรวงต่างๆ ที่ต้องทำงานกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งความปลอดภัยในถนนหนทางทั้งกลางวันและกลางคืน ระเบียบวินัย ความสำนึกรับผิดชอบของบุตรหลานในการขับขี่รถประเภทต่างๆ บนท้องถนน ระบบกฎหมายของบ้านเมืองที่มีผลต่อการปฏิบัติในผู้กระทำความผิดในมาตรฐานเดียวกัน สิ่งสำคัญยิ่งสำหรับพฤติกรรมหรืออุปนิสัยของคนไทยเราบางคนก็คือ การกระทำผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม ศีลธรรมแล้วก็หลบลี้หนีคดีความ ยังคงอยู่ในพฤติกรรมดังกล่าวอีกนานแค่ไหน อย่างไร

ความตายและการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉพาะจากการขับขี่ที่ประมาทเลินเล่อ เมาแล้วขับ สภาพของรถที่ไม่ได้มาตรฐาน สภาพถนนที่มีปัญหา แรงงานต่างชาติที่ขับขี่อยู่บนท้องถนนมิอาจจักรวมถึงพระสงฆ์ไทยบางรูปที่ขับขี่รถยนต์แล้วไปชนคนตายที่มิได้ถูกนำเสนอในสังคม รวมถึงคำถามที่ว่า พระภิกษุหรือพระสงฆ์ควรทำหน้าที่ขับขี่รถยนต์ได้ด้วยตนเองหรือไม่ สติสัมปชัญญะความไม่ประมาทที่ระลึกอยู่ทุกขณะมีความสำคัญยิ่งแล…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image