การแบ่งขั้ว-เลือกข้าง กับการถอยกลับของประชาธิปไตย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

“ประเทศที่พรรคการเมืองเสือกแบ่งเป็นสองขั้ว

ประเทศที่พลเมืองในเมืองแม่งถูกแบ่งเป็นสองข้าง

ประเทศที่คนแม่งตาย ตาย ตาย ในม็อบทั้งสองขั้ว

ประเทศที่คนแม่งกลัว กลัว กลัว ทหารทั้งสองข้าง”

Advertisement

(ส่วนหนึ่งจากเนื้อร้อง “ประเทศกูมี” Rap against Dictatorship)

ในการศึกษาเรื่องของการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยนั้น ทิศทางหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือเรื่องของการศึกษาการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย และการล่มสลายของประชาธิปไตย เพราะการเสื่อมถอย (backsliding) ด้อยคุณภาพของประชาธิปไตยนั้นกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญร่วมสมัยของโลก

ในอดีต การเสื่อมถอยของประชาธิปไตยมักถูกพิจารณาว่าเป็นเรื่องของการถูกยึดอำนาจโดยทหาร แต่ในวันนี้ งานวิจัยจำนวนมากที่ใช้ฐานข้อมูลเปรียบเทียบในระดับโลกชี้ให้เห็นว่า การถดถอยของประชาธิปไตยมีสองรูปแบบใหญ่ๆ

Advertisement

หนึ่งคือ การยึดอำนาจโดยคณะทหาร (military coup)

สองคือ การที่รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นเผด็จการมากขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือรัฐบาลเผด็จการเหล่านั้นกลับได้รับเลือกตั้งจากประชาชนกลับมาอีกครั้ง (executive takeover)

นอกจากนั้นแล้ว การเลือกตั้งที่กลับมาได้อีกครั้งนั้นแม้ว่าจะมีการกล่าวหามากมายรวมทั้งมีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่เอาเข้าจริงการทุจริตการเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมโหฬารถึงกับ “ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ” ของการตรวจสอบการเลือกตั้งซะทีเดียว จากฐานข้อมูลของ Freedom House เรื่องการถดถอยและล่มสลายของประชาธิปไตย ในช่วง 2516 ถึง 2561 ชี้ให้เห็นว่าจาก 197 กรณีที่เกิดขึ้นนั้น การถดถอยของประชาธิปไตยจากผู้นำที่เคยได้รับเลือกตั้งเข้ามา เดิมนั้นที่เริ่มเปลี่ยนกฎหมายให้ประโยชน์ตัวเอง แทรกแซงสื่อ จัดการฝ่ายค้าน และแทรกแซงกระบวนการตุลาการ กลายเป็นกรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ 88 กรณี ขณะที่การรัฐประหารมีอยู่ 46 กรณี นอกจากนั้นก็จะเป็นกรณีอื่นๆ ที่มักเป็นเรื่องของการเสื่อมสภาพของรัฐและความขัดแย้งระดับสงครามการเมือง

งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Democracy เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 (ปีที่ 30 ฉบับที่ 3) เรื่อง Polarization versus Democracy โดย Milan W. Svolik ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจและข้อถกเถียงที่สำคัญในหมู่นักรัฐศาสตร์ว่าทำไมประชาชนถึงเลือกผู้นำที่มีแนวโน้มไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีแนวคิด ประวัติและการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับเข้ามารัฐบาลอีกครั้ง (และอีกหลายๆ ครั้ง) ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นว่ากันว่าประชาชนมีปากกาเป็นอาวุธ คือสามารถใช้การเลือกตั้งในการไม่เอาผู้นำคนเดิมที่อยู่ในอำนาจได้ ทำไมพวกเขากลับเลือกตั้งเอาเผด็จการ หรือคนที่ไม่ค่อยจะเคารพหลักการประชาธิปไตยกลับเข้ามาอีกครั้ง (กรณีที่สโวลิคสนใจเป็นพิเศษคือ ตุรกี เวเนซุเอลา และอเมริกา)

เราอาจจะเชื่อว่า เผด็จการที่สืบสานอำนาจผ่านระบอบและกระบวนการเป็นประชาธิปไตยนั้น พวกเขาเป็นคนไม่ดี หลอกลวง หรือใช้อำนาจรัฐในการสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง รวมทั้งข่มขู่ บิดเบือนข่าวสารต่างๆ แต่ในงานวิจัยนี้กลับชี้ให้เห็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เผด็จการที่เกิดแต่เนื้อในของประชาธิปไตยนั้นชนะการเลือกตั้ง (หรือเราอาจจะอนุมานว่า หมายรวมไปถึงเผด็จการที่ครองอำนาจต่อได้ด้วยการเลือกตั้ง) ก็คือการที่สังคมนั้นๆ เป็นสังคมที่มีความขัดแย้งแบ่งขั้ว (polarization)

ที่สำคัญต่อมาก็คือ การขัดแย้งแบ่งขั้วมันจะส่งผลให้เผด็จการนั้นครองอำนาจต่อได้ก็ด้วยการที่ประชาชนแต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์กับนโยบายบางอย่าง หรือกับจุดยืนบางอย่างด้วย

ความขัดแย้งแบ่งขั้วท่ามกลางความขัดแย้งในแง่ของนโยบายที่แต่ละฝ่ายได้ประโยชน์ที่ต่างกันนี้เองที่ส่งผลทำให้การตัดสินใจของประชาชนในสังคมมีลักษณะที่เขาจะต้องเผชิญทางเลือกที่ไม่ง่ายนัก นั่นก็คือ เมื่อจำต้องเลือกระหว่างหลักการประชาธิปไตย กับผลประโยชน์ที่เขาจะได้จากผู้นำเหล่านั้น เขาจะเลือกเอาผลประโยชน์เป็นหลัก

อ่านดีๆ นะครับ ความซับซ้อนมันอยู่ที่ว่า กรณีที่เกิดปัญหาของการเลือกที่ไม่ง่ายนักนี้ มักเกิดขึ้นมากกับฝ่ายที่มีความเข้าใจต่อหลักการประชาธิปไตยซะด้วย หมายถึงว่า ประชาชนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตย รวมทั้งมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รวมทั้งมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน เมื่อถึงสถานการณ์ที่จะต้องลงคะแนน พวกเขาอาจจะเลือกเอาผู้นำที่ผลักดันนโยบายหรือการ
กระทำบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับเขา มากกว่าที่จะคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยเป็นข้อแรก

ในขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นต่อว่า พวกคนที่ไม่ได้ฝักฝ่ายกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอย่างจริงจังต่างหากที่เมื่อถึงสถานการณ์ที่ต้องเลือก พวกเขากลับเลือกที่จะลงคะแนนในแบบของการลงโทษผู้นำที่ไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญมากกว่าการแค่อธิบายว่าคนเลือกนโยบายหรือเลือกตามผลประโยชน์มากกว่าเลือกตามหลักการประชาธิปไตย แต่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ลงคะแนนอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าใจทั้งสองเงื่อนไข แต่เขาจะต้องประนีประนอม หรือเลือกโดยอิงกับพวกของเขา และผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ (หรือถ้าจะตีความต่อไปก็คือ เลือกไม่ให้อีกฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่า)

นอกจากนั้นผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ประชาชนไม่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตย หรือไม่เข้าใจคุณค่าของประชาธิปไตย แต่เขาตัดสินใจไปตามพวกหรือผลประโยชน์ของเขาในสังคมที่มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน

หรือจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ เวลาที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง คนที่เข้าคูหาจะเผชิญปัญหาว่าจะเลือกหลักการ (ประชาธิปไตย) หรือจะเลือกข้างกันแน่? ซึ่งนี่คือปัญหาที่ฝังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งเปิดให้มีการใช้เสรีภาพในการเลือกนั่นแหละครับ

ดังนั้นในสังคมประชาธิปไตยที่ความขัดแย้งอยู่ในระดับแบ่งขั้วเลือกข้าง เมื่อเวลาการเลือกตั้งมาถึง ประชาชนจะอยู่ในบรรยากาศของการต้องเลือกว่า จะเอาหรือไม่เอาผู้นำคนที่ปกครองประเทศอยู่ มากกว่ามานั่งคิดว่าเลือกประชาธิปไตยหรือไม่เลือกประชาธิปไตย

และส่วนหนึ่งของคำตอบของคนกลุ่มใหญ่ก็คือ ราคาที่ต้องจ่ายในการท้าทายผู้นำ หรือการรักษาหลักการประชาธิปไตยมันแพงกว่า

เรื่องที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดในวงการรัฐศาสตร์ เพราะนักรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องการจรรโลงประชาธิปไตย (democratization) ก็ล้วนแล้วแต่ตั้งข้อสังเกตว่าความหลากหลายทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อประชาธิปไตย แต่ถ้าความหลากหลายมันไปถึงขั้นของการแบ่งแยกสังคมเป็นขั้วข้างที่ยากจะประสานกันแล้ว ประชาธิปไตยก็จะเดินหน้าลำบาก งานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอประเด็นให้คิดต่อว่า ยิ่งมีการแบ่งขั้วเลือกข้างมากเท่าไหร่ เผด็จการที่อยู่ในอำนาจก็จะได้เปรียบในระดับโครงสร้างที่ใช้ทำลายประชาธิปไตยและสามารถรอดพ้นจากการลงโทษได้ด้วย แถมยังได้รับเลือกตั้งกลับมาได้อีก

ดังนั้นในสังคมแบ่งขั้วเลือกข้างนั้น การที่ได้เลือกว่าชอบพรรคไหน และชอบนโยบายไหนไปแล้ว เมื่อต้องเจอกับปัญหาว่าพรรคนั้นหรือผู้นำคนนั้นอาจจะทำลายประชาธิปไตย คนที่เลือกข้างไปแล้วเหล่านั้นก็พร้อมจะประนีประนอมกับหลักการประชาธิปไตยในท้ายที่สุดเพื่อให้ฝ่ายตัวเองและนโยบายที่ชื่นชอบนั้นได้กลับมาอีกครั้ง

เรื่่องที่นำมาเล่านี้ทำให้เราต้องย้อนพิจารณาสิ่งที่เกิดในบ้านเราอยู่ไม่ใช่น้อย ในประการแรก การเลือกลุงอาจจะมีส่วนสำคัญมาจากการที่สังคมยังแบ่งขั้วเลือกข้างอย่างชัดเจน และหาเสียงกันในลักษณะเลือกเพื่อไม่เลือก (อีกฝ่าย) หรือเลือกฝ่ายหนึ่งเพื่อสกัดกั้นอีกฝ่ายหนึ่ง

ประการที่สองในมุมของประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความแตกแยกอาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งหลักว่าทำไมในช่วงที่เราศึกษาและสังเกตเห็นความแตกแยกในสังคมในช่วงที่ผ่านมานั้น เราสนใจศึกษาการพยายามลดความแตกแยกของทั้งสองฝ่ายมากน้อยแค่ไหน หรือว่าทุกฝ่ายต่างใช้ประโยชน์กับความแตกแยก และหาคนที่ยืนอยู่ตรงกลางๆ (ไม่ได้หมายถึงคนกลาง) ได้ยากขึ้นทุกวัน

ประการที่สาม กติกาบางข้อในรัฐธรรมนูญอาจจะสวนทางกับเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคม อาทิ การกำหนดให้พรรคนั้นเสนอชื่อนายกฯก่อนที่จะเลือกตั้ง ซึ่งโดยหลักการอาจจะดีและชัดเจนในฐานะตัวเลือก แต่ในสังคมที่ขัดแย้ง-แบ่งขั้วชัดเจน การเสนอชื่อนายกฯก่อนเลือกตั้งในรอบที่ผ่านมาสร้างเงื่อนไขการเลือกตั้งและความขัดแย้งในหลายประเด็น เช่น การเลือกผู้นำที่อาจทำลายหลักประชาธิปไตย การตัดสิทธิผู้ถูกเสนอชื่อ และการยุบพรรคที่เสนอชื่อ ผู้ถูกเสนอชื่อดังกล่าว

ประการที่สี่ กติกาในรัฐธรรมนูญไม่ได้นำเอาปัญหาเรื่องความแตกแยกในสังคมมาเป็นประเด็นหลักในการวางรากฐานกติกาของประเทศ หรือมุ่งเน้นไปที่การสร้างสังคมการเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ และจรรโลงประชาธิปไตย แต่กลับมุ่งเน้นใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการจัดการอีกฝ่ายหนึ่งอย่างราบคาบ หรือกำกับ/สะกดอำนาจฝ่ายหนึ่งเอาไว้ให้ได้แต่ฝ่ายเดียว

ดังนั้นหากคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่การตั้งหลักง่ายๆ แค่ว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย หรือจัดการกับขั้วตรงข้าม แต่อาจจะต้องพิจารณาด้วยว่าความขัดแย้งแบ่งขั้ว-เลือกข้างในสังคมในช่วงที่ผ่านมานั้นมีลักษณะอย่างไร และจะสร้างกลไกและความเข้าใจในการลดความขัดแย้งเหล่านี้ลงได้อย่างไรในรัฐธรรมนูญ และในนโยบายหรือข้อบังคับอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image